เชียงราย - ผู้ว่าฯ เชียงราย เตรียมยกคณะข้ามฝั่งโขงเจรจาทางการลาวแก้ปัญหาค่าธรรมเนียมขนส่งผ่าน R3a ใหม่ ขณะที่เถ้าแก่ขนส่งไทย ชง 4 แนวทางยกระดับการขนส่งไทย-ลาว-จีน หลังโดนลาวกักรถ 62 คัน รีดค่าผ่านทางเพิ่มกะทันหัน จนต้องรวมตัวประท้วงปิดด่านฯ กดดันจนคลี่คลายชั่วคราวมาแล้ว
รายงานข่าวจากจังหวัดเชียงราย แจ้งว่า หลังกลุ่มผู้ประกอบการขนส่งสินค้าชายแดนไทย-สปป.ลาว-จีนตอนใต้ นำรถบรรทุกปิดด่านพรมแดน อ.เชียงของ จ.เชียงราย ตรงสะพานข้ามแม่น้ำโขงไทย-สปป.ลาว แห่งที่ 4 เมื่อ 7 พ.ค.เพื่อเรียกร้องให้ทางการแขวงบ่อแก้ว สปป.ลาว ปล่อยรถบรรทุกสินค้าไทยที่กักไว้ที่ชายแดน สปป.ลาว-จีน 62 คัน ตั้งแต่วันที่ 6 พ.ค.ที่ผ่านมา
พร้อมกับให้จ่ายค่าธรรมเนียมต่างๆ ในอัตราที่สูงกว่าเดิมอีกเกือบเท่าตัว เช่น ค่าจอดรถที่จุดเปลี่ยนถ่ายสินค้าเมืองห้วยทรายติดกับสะพาน ซึ่งเดิมเก็บคันละ 1,630 บาท ก็เพิ่มอีก 1,513 บาท หรือเพิ่มเป็นทั้งหมด 3,133 บาทต่อคัน เมื่อรวมกับค่าใช้จ่ายอื่นๆ ตลอดเส้นทาง R3a จากแขวงบ่อแก้ว-แขวงหลวงน้ำทา เมืองบ่อเต็น ติดกับเมืองโมฮาน มณฑลยูนนาน ประเทศจีน ก็จะต้องเสียค่าใช้จ่ายคันละกว่า 10,820 บาทนั้น
ต่อมา นายบุญส่ง เตชะมณีสถิตย์ ผู้ว่าราชการ จ.เชียงราย นายวัชรินทร์ นิ่มประทุม นายอำเภอเชียงของ พร้อมหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้เข้าเจรจากับผู้ประกอบการ ณ ด่านพรมแดน อ.เชียงของ จนทำให้ผู้ประกอบการยอมเปิดเส้นทางให้มีการสัญจรตรงด่านพรมแดนไทย-สปป.ลาว ดังกล่าวตามปกติแล้ว รวมทั้งแจ้งปัญหาไปยังท้องถิ่นแขวงบ่อแก้ว สปป.ลาว ให้ได้รับทราบ
ซึ่งทางการลาวแจ้งว่า มีรถบรรทุกสินค้าของไทยอยู่จำนวน 62 คัน และเพื่อให้การขนส่งสะดวกก็ปล่อยให้ทำการขนส่งตามปกติ แต่ต้องจ่ายค่าธรรมเนียมที่ฉาง หรือลานจอดรถก่อนคันละ 530 บาท สำหรับค่าอากรอื่นๆ ที่ต้องเสียอีกประมาณ 1,100 กว่าบาทนั้น ทางการลาวได้อนุโลมไม่จัดเก็บ ทำให้รถบรรทุกสินค้าของไทยทยอยจ่ายเงินก่อนนำสินค้าส่งเข้าจีนผ่านเส้นทาง R3a ตามปกติตั้งแต่บ่ายวานนี้ (7 พ.ค.)
ขณะที่ทางผู้ว่าราชการ จ.เชียงราย แจ้งว่า จะข้ามไปพบเจ้าแขวงบ่อแก้ว เพื่อเจริญสัมพันธไมตรี และหารือเกี่ยวกับเรื่องนี้เพิ่มเติมในเร็วๆ นี้อีกครั้ง
อย่างไรก็ตาม ในการประชุมระหว่างผู้ว่าราชการ จ.เชียงราย และผู้ประกอบการขนส่งสินค้าของไทยนั้น ผู้ประกอบการขนส่งฯ ได้เสนอแนวทางยกระดับการขนส่งสินค้าผ่านเส้นทาง R3a ไทย-ลาว-จีน 4 ข้อคือ
1.ขอให้มีการเจราจาให้ทาง สปป.ลาว จัดเก็บภาษี ค่าธรรมเนียมเพียงจุดเดียว จากเดิมมีการจัดเก็บซ้ำซ้อนทั้งจากหน่วยงานส่วนกลาง แขวงบ่อแก้ว และแขวงหลวงน้ำทา
2.กำหนดมาตรฐานการใช้ถนน R3a ร่วมกันให้มีความเป็นสากล เนื่องจากปัจจุบันเมื่อเกิดอุบัติเหตุฝ่ายไทยจะเป็นฝ่ายเสียเปรียบตลอด ทั้งที่บางครั้งไม่ได้กระทำผิดกฎจราจร
3.เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงการจัดเก็บภาษี สปป.ลาว ควรมีหนังสือแจ้งมายังฝ่ายไทยเป็นลายลักษณ์อักษร อย่างเช่นเหตุที่เกิดครั้งนี้ หนังสือแขวงบ่อแก้ว ออกมาตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 59 แต่ไม่ถึงผู้ประกอบการ ทราบกันเพียงในกลุ่มชิปปิ้งลาวเท่านั้น
4.ขอให้ทางการไทยเพิ่มความเข้มข้นในการตรวจสอบหนังสือเดินทางทั้งบุคคล และยานพาหนะของไทยที่ข้ามไปส่งสินค้าฝั่ง สปป.ลาว เพื่อป้องกันการถูกดำเนินคดีฝั่ง สปป.ลาว
ด้าน นายโสภณ สังขกร ผู้ประกอบการค้าบริษัทเกวรี จำกัด กล่าวว่า แท้ที่จริงแล้วตามบันทึกข้อตกลงการใช้ประโยชน์จากถนน R3a จะไม่มีการเก็บค่าใช้จ่ายใดๆ แต่เมื่อทางการลาวจัดเก็บค่าธรรมเนียม ทางผู้ประกอบการก็ไม่ได้ขัดข้อง และยินดีที่จะชำระให้ แต่ก็ไม่เห็นด้วยต่อการขึ้นค่าธรรมเนียมบ่อยครั้งเกินไป และไม่มีการแจ้งล่วงหน้าด้วย
“อย่างกรณีนี้ ลาวจัดเก็บในราคาใหม่ทันที ทำให้ผู้ประกอบการคำนวณต้นทุนไม่ทัน และมีผลต่อการทำธุรกิจ จึงอยากให้ทางการไทยคุยกับแขวงบ่อแก้วของ สปป.ลาว ให้มีความชัดเจนในเรื่องนี้ด้วย”
นายโชค หวงธรรมชาติ ผู้จัดการบริษัทดอยตุง ขนส่ง จำกัด สาขาเชียงของ กล่าวว่า ที่ผ่านมา ผู้ประกอบการไทยต้องประสบต่อปัญหาในเรื่องนี้มาก เพราะไม่มีความชัดเจนเรื่องค่าธรรมเนียมต่างๆ ที่สำคัญคือ ไม่มีการแจ้งล่วงหน้า และขึ้นบ่อยครั้งเฉลี่ย 3-4 เดือนต่อครั้ง จึงอยากให้ทุกฝ่ายร่วมกันแก้ไขเพื่อให้เข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หรือเออีซีร่วมกันอย่างมีมาตรฐานต่อไป
รายงานข่าวแจ้งด้วยว่า ขณะนี้แขวงบ่อแก้ว มีการเปลี่ยนแปลงผู้บริหารใหม่ จากเดิมมีท่านคำมั่น สุนวิเลิด เป็นเจ้าแขวงบ่อแก้ว มายาวนาน กระทั่งมีการเลือกตั้งใหญ่ในรัฐบาลกลาง สปป.ลาว เมื่อเดือน ม.ค.59 ที่ผ่านมา ทำให้มีการโยกย้ายท่านคำมั่น ไปรับหน้าที่อื่น ส่วนผู้ที่มาเป็นเจ้าแขวงบ่อแก้วแทนคือ ท่านคำพัน เผยยะวง
และเกือบจะทันทีที่มีการเปลี่ยนแปลง ก็มีหนังสือเรื่องการจัดเก็บค่าธรรมเนียมการขนส่งผ่านเส้นทาง R3a ออกมาใหม่ โดยอ้างว่า ได้แจ้งให้ผู้ประกอบการชายแดนทราบล่วงหน้าแล้ว 2 เดือน แต่ผู้ประกอบการต่างระบุว่า เพิ่งทราบในวันที่มีการจัดเก็บอัตราใหม่นี้เอง ขณะที่ทั้ง 2 ฝ่ายต่างมีตัวแทนผู้ประกอบการ หรือชิปปิ้งเป็นผู้คอยประสานงานระหว่างผู้ประกอบการกับเจ้าหน้าที่รัฐที่ทำหน้าที่จัดเก็บค่าธรรม โดยฝ่ายลาวมีกลุ่มบัวแสง หรือแสงอรุณ คอยทำหน้าที่นี้