นครพนม - คนนับหมื่นแห่ร่วมงานมหกรรมเทศกาลปลาลุ่มน้ำสงคราม เผยมุ่งอนุรักษ์พันธุ์ปลา 142 ชนิดไม่ให้สูญพันธุ์ หลังปลาหายากหลายสายพันธุ์ถูกจับจนแทบไม่เหลือทำพันธุ์ จ่อขึ้นทะเบียนพื้นที่ชุ่มน้ำโลก
วันนี้ (20 ธ.ค.) ผู้สื่อข่าวรายงานจากจังหวัดนครพนมว่า ที่บริเวณสนามหน้าที่ว่าการอำเภอศรีสงครามได้มีนักท่องเที่ยวจากหลายจังหวัดและละแวกใกล้เคียง รวมทั้งชาวต่างชาติร่วม 1 หมื่นคน เดินทางมาร่วมชมขบวนแห่ปลา ในงาน “มหกรรมเทศกาลปลาลุ่มน้ำสงคราม” บรรยากาศเป็นไปอย่างคึกคัก การจัดงานดังกล่าวเพื่ออนุรักษ์พันธุ์ปลาน้ำจืดที่หายากกว่า 100 ชนิดให้คงอยู่ และรักษาระบบนิเวศในลุ่มแม่น้ำสงครามตอนล่างให้ยั่งยืน
โดยขบวนแห่มีพันธุ์ปลาตัวโตที่หายาก เช่น ปลาเสือตอ ปลาบึก แต่ละตัวยาว 5-6 เมตร สูง 2 เมตร สร้างด้วยโครงเหล็กเคลื่อนไหวดุ๊กดิ๊กๆ เสมือนปลาที่แหวกว่ายในน้ำได้จริง ก่อนจะเคลื่อนขบวนวิถีชีวิตจาก 10 ชุมชนที่ยาวกว่า 2 กิโลเมตรเข้ามาสู่หน้าสนามหน้าที่ว่าการ อ.ศรีสงคราม โดยมีนายสมชาย วิทย์ดำรงค์ ผู้ว่าราชการจังหวัดนครพนม เป็นประธานเปิดงาน
นายกนก ศรีวิชัยนันท์ นายอำเภอศรีสงคราม กล่าวว่า เพื่อกระตุ้นให้ประชาชนที่อาศัยอยู่ตามลุ่มแม่น้ำสงครามที่ไหลผ่าน 5 จังหวัดอีสานตอนบนได้มีจิตสำนึกหวงแหนทรัพยากรธรรมชาติในแหล่งน้ำจืด โดยเฉพาะลำแม่น้ำสงครามที่หล่อเลี้ยง และเป็นน้ำสาขาที่มีความสำคัญในภาคอีสาน เสมือนมดลูกใหญ่แม่น้ำโขงที่หล่อเลี้ยงผู้คน 60 ล้านคน ทุกปีฤดูน้ำหลากจะพบว่ามีปลากว่า 150 สายพันธุ์ว่ายทวนน้ำมาวางไข่ ในบริเวณพื้นที่ ต.ท่าบ่อสงคราม ต.สามผง
โดยเฉพาะปลาบึก ปลาที่ใกล้จะสูญพันธุ์เคยว่ายทวนน้ำมาวางไข่ที่วังปลาบริเวณปากห้วยซิง ต.ท่าบ่อสงคราม เมื่อปี 2555 มีชาวประมงเคยจับปลาบึกได้น้ำหนักถึง 230 กิโลกรัมมาแล้ว
ด้านนายยรรยง ศรีเจริญ ผู้จัดการโครงการฟื้นฟูพื้นที่ชุ่มน้ำแม่น้ำสงครามตอนล่าง กล่าวว่า องค์กร WWF สำนักงานประเทศไทย ได้ให้ความสำคัญต่อลุ่มแม่น้ำสงครามตอนล่าง เพื่อศึกษาความหลายหลายของระบบนิเวศแห่งเดียวของประเทศไทยที่ยังมีความอุดมสมบูรณ์ที่สุด
โดยเฉพาะที่บริเวณ บ.ท่าโข่ง หมู่ 8 เรื่อยมาจนถึง บ.ท่าบ่อสงคราม จากข้อมูลภาพถ่ายดาวเทียวพบว่ามีป่ากะซะ ป่าไผ่พื้นบ้านผืนใหญ่สุดในภาคอีสานถึง 1.6 แสนไร่ ปัจจุบันกำลังถูกคุกคามจากนโยบายของภาครัฐบาล เช่น โครงการจำนำข้าว และปลูกปาล์มทดแทนนาข้าว
นายยรรยงระบุว่า แม่น้ำสายนี้มีความยาว 420 กิโลเมตร ไหลผ่าน 5 จังหวัด 33 อำเภอ สภาพระบบนิเวศมีพันธุ์ปลาอาศัยอยู่ชุกชุม มีป่าบุ่งปลาทามเสมือนป่าชายเลนเป็นแหล่งอาหารแหล่งใหญ่ที่สำคัญที่สุดในประเทศไทยในขณะนี้ กุ้ง หอย ปู ปลา จะอพยพทวนน้ำมาวางไข่ มีพันธุ์นกที่อพยพมาอาศัย 128 ชนิด โดยเฉพาะนกยางเปียหนีหนาวจากไซบีเรีย นกกระสาแดง นกกระแตหัวเทา เป็นต้น พร้อมอนุรักษ์พันธุ์ปลา 142 ชนิดที่พบ
จากเดิมที่สำรวจพบ 192 ชนิด และพันธุ์ปลาหายากโดยเฉพาะปลาบึกให้คงอยู่ ซึ่งสายน้ำแห่งนี้อยู่ระหว่างเสนอขึ้นทะเบียนเป็นพื้นที่ชุ่มน้ำโลก ก่อนที่พื้นที่ชุ่มน้ำมหาศาลแห่งนี้จะถูกทำลาย