xs
xsm
sm
md
lg

ชลประทานเชียงใหม่เตือนงดเลี้ยงปลาลำน้ำปิงหลังฝนตกขาดน้ำน้อยเสี่ยงวิกฤต

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

แฟ้มภาพ
ศูนย์ข่าวเชียงใหม่ - ชลประทานเชียงใหม่ ขอความร่วมมืองดเลี้ยงปลากระชังและสัตว์น้ำในแม่น้ำปิง หลังพบฝนตกน้อยส่งผลปริมาณน้ำธรรมชาติในลำน้ำ และเขื่อนแม่งัดเหลือน้อย เสี่ยงวิกฤตขาดแคลนน้ำช่วงแล้งตั้งแต่ พ.ย. 58 - มิ.ย. 59

นายเจนศักดิ์ ลิมปิติ ผู้อำนวยการโครงการชลประทานเชียงใหม่ เปิดเผยว่า จากสถานการณ์น้ำในลำน้ำธรรมชาติสายหลัก แม่น้ำปิง แม่น้ำแตง แม่น้ำฝาง และแม่น้ำแจ่ม มีปริมาณน้ำที่ไหลตามธรรมชาติเริ่มลดลงอย่างต่อเนื่อง จากปริมาณฝนที่ตกน้อยลงในพื้นที่ลุ่มน้ำตอนบนโดยเฉพาะแม่น้ำปิง ทั้งนี้ จากการตรวจวัดที่สะพานนวรัฐ (สถานี P.1) ปริมาณน้ำไหลผ่านสะสมตั้งแต่เดือนเมษายนถึงต้นเดือนกันยายน 2558 พบว่ามีอัตราการไหลผ่านสะสม 160 ล้านลูกบาศก์เมตร น้อยกว่าค่าเฉลี่ยที่ 673.1 ล้านลูกบาศก์เมตร คิดเป็นร้อยละ 75
แฟ้มภาพ
ขณะเดียวกัน เขื่อนแม่งัดสมบูรณ์ชลมีปริมาณน้ำเก็บกักไว้เพียงประมาณ 61.54 ล้านลูกบาศก์เมตร คิดเป็นร้อยละ 23.22 ของความจุดอ่าง ผลจากการวิเคราะห์น้ำต้นทุนในเขื่อนแม่งัดสมบูรณ์ชล ปริมาณน้ำท่าที่ไหลในลำน้ำปิงและลำดับความสำคัญในการจัดสรรน้ำให้แก่ภาคส่วนต่างๆ ตามลำดับได้แก่เพื่อการอุปโภคบริโภค การประปา เพื่อการรักษาระบบนิเวศทางน้ำเพื่อการเกษตร พบว่ามีความเสี่ยงที่จะเกิดวิกฤตด้านปริมาณน้ำและคุณภาพน้ำในลำน้ำปิงในช่วงฤดูแล้งปี ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2558 ถึงเดือนมิถุนายน 2559

โดยเริ่มตั้งแต่ท้ายเมืองเชียงใหม่ อำเภอเมือง อำเภอสารภี อำเภอหางดง อำเภอสันป่าตอง อำเภอดอยหล่อ อำเภอจอมทอง อำเภอฮอด อำเภอดอยเต่า ตลอดความยาวลำน้ำปิง ซึ่งเมื่อเกิดกรณีวิกฤตเรื่องคุณภาพน้ำในลำน้ำปิง การเปิดน้ำจากเขื่อนแม่งัดสมบูรณ์ชลนอกเหนือจากแผนบริหารจัดการน้ำที่วางไว้ เพื่อการฟื้นฟูรักษาระบบนิเวศให้คุณภาพน้ำอยู่ในเกณฑ์ดีนั้น จะไม่สามารถทำได้ เนื่องจากปริมาณของเขื่อนแม่งัดสมบูรณ์ชลมีไม่เพียงพอที่จะดำเนินการ
แฟ้มภาพ
ทั้งนี้ ทางโครงการชลประทานเชียงใหม่ได้เล็งเห็นความสำคัญของการบริหารจัดการน้ำให้กับภาคส่วนต่างๆ ตลอดจนการคาดการณ์สถานการณ์แนวโน้มความเสี่ยงของสถานการณ์น้ำที่จะเกิดขึ้นในช่วงฤดูแล้ง ปี 2558/59 อันอาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อการเพาะเลี้ยงปลาและสัตว์น้ำในลำน้ำปิง ดังนั้นจึงขอความร่วมมือเกษตรกรผู้เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำให้เข้าใจสถานการณ์และยอมรับความเสี่ยงที่อาจจะเกิดขึ้น โดยหากเกิดความเสียหายจากการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำในช่วงเวลาดังกล่าว ผู้เพาะเลี้ยงต้องยอมรับความเสี่ยงและความเสียหายที่เกิดขึ้นด้วย
กำลังโหลดความคิดเห็น