ศูนย์ข่าวเชียงใหม่ - ชลประทานยอมรับภัยแล้งเชียงใหม่เข้าขั้นวิกฤต รุนแรงที่สุดในรอบ 20 ปี น้ำในอ่างขนาดใหญ่ทั้งสองแห่งแทบจะติดก้นอ่าง มีพอหล่อเลี้ยงทั้งเมืองสิ้น ส.ค. ห่วงปีหน้าหนักกว่านี้
วันนี้ (7 ก.ค.) นายเกื้อกูล มานะสัมพันธ์สกุล หัวหน้าฝ่ายจัดสรรน้ำและปรับปรุงระบบชลประทาน โครงการชลประทานเชียงใหม่ เปิดเผยสถานการณ์น้ำในเขื่อนขนาดใหญ่สองแห่งของเชียงใหม่ว่า เขื่อนแม่งัดสมบูรณ์ชล ขณะนี้มีปริมาณน้ำในอ่าง 57.47 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือคิดเป็นร้อยละ 21.69 ของความจุอ่าง ใช้งานได้ประมาณ 47 ล้านลูกบาศก์เมตรเท่านั้น ขณะที่จังหวัดเชียงใหม่ใช้น้ำเดือนละประมาณ 15 ล้านลูกบาศก์เมตร ซึ่งในกรณีที่ไม่มีฝนตกลงมาเลยปริมาณน้ำที่มีจะพอใช้ได้จนถึงสิ้นเดือน ส.ค.
ด้านเขื่อนแม่กวงอุดมธารา มีปริมาณน้ำ 31.901 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือคิดเป็นร้อยละ 12.13 ของความจุอ่าง โดยน้ำส่วนใหญ่เป็นการกักเก็บไว้ใช้เพื่อการผลิตน้ำประปาของเชียงใหม่ ที่ส่งน้ำให้วันละประมาณ 38,000 ลูกบาศก์เมตร
ปริมาณน้ำฝนในปีนี้ของเชียงใหม่ลดลงไปกว่าร้อยละ 50 ขณะที่ปริมาณน้ำในแม่น้ำปิงลดน้อยลงไปกว่าร้อยละ 75 ของภาวะปกติ ส่งผลกระทบต่อกลุ่มผู้ใช้น้ำฝายในแม่น้ำปิงทั้ง 11 แห่ง ซึ่งปีนี้มีน้ำให้ใช้น้อย ถือเป็นสถานการณ์ขาดแคลนน้ำรุนแรงมากที่สุดในรอบ 20 ปี โดยหากไม่มีเขื่อนขนาดใหญ่ทั้งสองแห่งเชื่อว่าจะเลวร้ายรุนแรงยิ่งกว่านี้
ทั้งนี้ การบริหารจัดการน้ำจากนี้ในช่วงเดือน ก.ค.-ส.ค. 58 ทางเขื่อนแม่งัดสมบูรณ์ชลจะมีการระบายน้ำลงสู่แม่น้ำปิงเดือนละ 6.5 ล้านลูกบาศก์เมตร เพื่อใช้ในการผลิตน้ำประปา, รักษาระบบนิเวศ และใช้เพื่อการเกษตร ซึ่งเพียงพอใช้ได้ตลอดช่วงที่แม่น้ำปิงไหลผ่านไปจนถึงอำเภอสันป่าตอง จังหวัดเชียงใหม่
สำหรับการปฏิบัติการฝนหลวงเพื่อเพิ่มปริมาณน้ำในเขื่อนนั้น นายเกื้อกูลกล่าวว่า การทำฝนหลวงในช่วงที่ผ่านมาส่งผลให้มีฝนตก อย่างไรก็ตาม พบว่าส่วนใหญ่ยังเป็นไปในลักษณะของการช่วยเพิ่มความชุ่มชื้นให้แก่พื้นที่มากกว่าที่จะเพิ่มปริมาณน้ำในแหล่งกักเก็บ โดยที่ผ่านมาแม้ว่าจะมีฝนตกแต่ยังไม่มีวันใดเลยที่มีน้ำไหลลงสู่อ่างเก็บน้ำของเขื่อนขนาดใหญ่มากถึงวันละ 10,000 ลูกบาศก์เมตร ซึ่งพบมากที่สุดเพียงประมาณ 3,000 ลูกบาศก์เมตรเท่านั้น
ในขณะที่แต่ละวันเขื่อนมีการปล่อยน้ำเพื่อหล่อเลี้ยงเชียงใหม่ไม่ต่ำกว่าวันละ 500,000 ลูกบาศก์เมตร โดยเฉพาะเพื่อรักษาระบบนิเวศในแม่น้ำปิง ซึ่งหากเสียหายจำเป็นจะต้องใช้น้ำถึง 4 ล้านลูกบาศก์เมตรเพื่อทำการฟื้นฟูสภาพ ดังนั้นจึงอยากขอความร่วมมือประชาชนให้ทำการบำบัดน้ำเสียก่อนที่จะปล่อยลงสู่แหล่งน้ำเพื่อป้องกันปัญหา
ส่วนการขอความร่วมมือเกษตรกรวางแผนและชะลอการเพาะปลูกนั้น ได้ขอความร่วมมือจากเกษตรกรในพื้นที่ทางตอนใต้ของจังหวัดเชียงใหม่ที่อยู่ใต้อำเภอสันป่าตองลงไปให้ชะลอการเพาะปลูกออกไปก่อน เนื่องจากปริมาณฝนท่าตกยังมีไม่มากเพียงพอ อย่างไรก็ตาม ในส่วนของพื้นที่ที่อยู่ตอนเหนือตั้งแต่อำเภอเมืองเชียงใหม่ขึ้นไปยังคงทำการเพาะปลูกได้ตามปกติ
ทั้งนี้ ยอมรับว่าปีนี้สถานการณ์ภัยแล้งและขาดแคลนน้ำของจังหวัดเชียงใหม่รุนแรงเข้าขั้นวิกฤต แต่ยังไม่ถึงขั้นเลวร้ายจนถึงกับต้องแย่งชิงน้ำกันเหมือนในหลายพื้นที่ของประเทศ แต่ทั้งนี้มีความเป็นห่วงกังวลว่าสถานการณ์ในปีหน้าอาจจะรุนแรงกว่าปีนี้ หากปีนี้ฝนตกน้อย