ศูนย์ข่าวนครราชสีมา- ผู้ว่าฯ โคราชมั่นใจแผนบริหารจัดการน้ำฝ่าพ้นวิกฤตแล้งปีนี้ไปได้ ระบุน้ำเพื่ออุปโภคบริโภคและเพื่ออุตสาหกรรมไม่ขาดแน่ เผยน้ำเขื่อนลำตะคองส่งเลี้ยงประปาท้องถิ่นเท่านั้นและให้ประปาเมืองโคราชไปใช้น้ำเขื่อนลำแชะแทน สั่ง อบต.ดูแลประชาชนแจกจ่ายน้ำดื่มน้ำใช้ไม่ให้ขาด ห่วงน้ำเพื่อการเกษตรพื้นที่กว่า 8 ล้านไร่เสียหาย ชี้ต้องรอฟ้าฝนอย่างเดียว
วันนี้ (6 ก.ค.) นายธงชัย ลืออดุลย์ ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา กล่าวถึงสถานการณ์ภัยแล้งล่าสุดในพื้นที่ จ.นครราชสีมาว่า ขณะนี้ภัยแล้งยังคงขยายวงกว้างอย่างต่อเนื่อง แต่ละหน่วยงานเร่งให้ความช่วยเหลือประชาชนโดยเน้นน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภค ซึ่งทางจังหวัดได้ใช้ตัวชี้วัดในการบริหารจัดการน้ำอยู่ 4 ตัวหลัก คือ 1. น้ำเพื่อการอุปโภคบริโภค 2. น้ำเพื่อการเกษตร 3. น้ำเพื่อการอุตสาหกรรม และ 4. น้ำเพื่อหล่อเลี้ยงระบบนิเวศ
เมื่อนำตัวชี้วัดทั้ง 4 ตัวมาประเมินสถานการณ์ขณะนี้ น้ำเพื่อการอุปโภคบริโภคคือน้ำประปา ได้มีการบริหารจัดการโดยในเขตตัวเมืองนครราชสีมาที่ใช้น้ำจากเขื่อนลำตะคอง ซึ่งขณะนี้เหลือน้ำแค่ 70 ล้าน ลบ.ม. ไม่สามารถส่งน้ำไปตามลำน้ำลำตะคองถึงตัวเมืองโคราชได้ จึงจำเป็นต้องให้ทางเทศบาลนครนครราชสีมาไปใช้น้ำจากเขื่อนลำแชะมาทดแทน ซึ่งมีปริมาณน้ำเหลือมากกว่าเขื่อนลำตะคอง คือกว่า 102 ล้าน ลบ.ม. ซึ่งทางเขื่อนลำแชะให้ใช้น้ำได้วันละ 6 หมื่น ลบ.ม. สำหรับนำมาผลิตประปาของเทศบาลนครนครราชสีมา ซึ่งสามารถผ่อนคล้ายความเดือดร้อนไปได้ ส่วนเขื่อนลำตะคองจะส่งให้ท้องถิ่นผลิตประปาหมู่บ้าน และตำบล ในเขต อ.สีคิ้ว อ.สูงเนิน และ อ.ขามทะเลสอเท่านั้น
สำหรับหมู่บ้าน ตำบล ที่ขาดแคลนน้ำอุปโภคบริโภค ขณะนี้ได้สั่งการให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นนำรถบรรทุกน้ำเข้าไปแจกจ่ายน้ำให้แก่ประชาชนและทำการเป่าล้างบ่อบาดาลเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนเบื้องต้น โดยเฉพาะในพื้นที่ อ.ห้วยแถลง อ.ชุมพวง และ อ.พิมาย ที่ประสบปัญหาแล้งรุนแรงและซ้ำซาก
“ยังมั่นใจว่าจะเป็นไปตามที่กรมอุตุนิยมวิทยาคาดการณ์ว่าจะมีฝนตกลงมาในพื้นที่ จ.นครราชสีมาในเดือน ส.ค.นี้ จะทำให้เราสามารถผ่านพ้นวิกฤตแล้งนี้ไปได้โดยเฉพาะน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภค” นายธงชัยกล่าว
นายธงชัยกล่าวต่อว่า อย่างไรก็ตาม ในช่วงนี้สถานการณ์ภัยแล้งยังคุกคามอย่างหนักได้มีการประสานหน่วยฝนหลวงเข้าปฏิบัติการทำฝนหลวงในพื้นที่ จ.นครราชสีมา โดยเฉพาะ อ.บัวใหญ่ อ.บัวลาย อ.ประทาย อ.โนนแดง ซึ่งประสบภัยแล้งอย่างหนัก ขณะนี้ขอให้มีฝนตกลงมาไม่จำเป็นต้องเหนือเขื่อน แต่ขอให้ตกเพื่อเกษตรกรจะได้ประโยชน์และผ่อนคลายความเดือดร้อนได้ เพราะ จ.นครราชสีมามีพื้นที่เกษตรอยู่ถึง 8 ล้านไร่ โดยอยู่ในเขตชลประทาน 8 แสนไร่ที่ใช้น้ำจากเขื่อน ที่เหลือเป็นพื้นที่การเกษตรนอกเขตชลประทาน ต้องรอน้ำฝนอย่างเดียว
ส่วนน้ำเพื่อการอุตสาหกรรมนั้น จ.นครราชสีมามีเขตอุตสาหกรรม 2 แห่ง คือ เขตอุตสาหกรรมนวนคร อ.สูงเนิน ซึ่งใช้น้ำผิวดิน ขณะนี้ยืนยันชัดเจนว่าแหล่งน้ำที่กักเก็บไว้มีน้ำเพียงพอผ่านฤดูแล้งน้ำ ส่วนเขตอุตสาหกรรมสุรนารี อ.เมืองนครราชสีมา ใช้น้ำจากบ่อบาดาลจึงไม่มีปัญหาแน่นอน ส่วนโรงงานอุตสาหกรรมที่กระจายอยู่ก็มีน้ำใช้เพียงพอเช่นกัน
“ขณะนี้เป็นห่วงเพียงแค่น้ำเพื่อการเกษตรเท่านั้นที่จะต้องรอฟ้าฝนถึงจะทำนาได้ จึงขอฝากไปยังเกษตรกรว่าอย่าเสี่ยงปลูกข้าวก่อนจะทำให้เกิดความเสียหาย เพราะเรายังมีความหวังว่าในช่วงเดือน ส.ค.นี้จะมีฝนตกลงมาจึงค่อยลงมือหว่านไถ” นายธงชัยกล่าวในตอนท้าย