ศูนย์ข่าวนครราชสีมา - แล้งทวีรุนแรง “เขื่อนลำตะคอง” อ่างใหญ่โคราชน้ำแห้งต่อเนื่อง ล่าสุดเหลือน้ำใช้การได้แค่ 56 ล้าน ลบ.ม.หรือ 17% ของความจุ ขณะ กฟผ.สูบน้ำขึ้นไปผลิตไฟฟ้าพลังงานแบบสูบกลับได้แค่ 10% หากเหลือน้ำ 30 ล้าน ลบ.ม.ต้องหยุดสูบผลิตไฟฟ้าทันที ด้าน ผอ.โครงการฯ ยังประเมินสถานการณ์ไม่ได้ รอความหวังฝนตกเติมน้ำในเขื่อน วอนประชาชนประหยัด
วันนี้ (2 ก.ค.) นายสุทธิโรจน์ กองแก้ว ผู้อำนวยการโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาลำตะคอง เปิดเผยถึงสถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำลำตะคอง อ.สีคิ้ว จ.นครราชสีมา ว่า ล่าสุดมีปริมาณน้ำใช้การได้ 56.24 ล้านลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) คิดเป็นร้อยละ 17.8 จากขนาดระดับกักเก็บ 314 ล้าน ลบ.ม. และมีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง โดยทางเขื่อนได้ลดการปล่อยน้ำลงจากเดิม 700,000 ลบ.ม./วัน เหลือ 430,000 ลบ.ม./วัน เพื่อหล่อเลี้ยงลำน้ำลำตะคอง
ขณะนี้การประปาเทศบาลนครนครราชสีมาได้ลดการสูบน้ำดิบจากคลองสาธารณะลำตะคองมาผลิตประปาแล้ววันละ 20,000 ลบ.ม. เหลือเพียงการสูบน้ำจากตัวเขื่อนลำตะคองส่งผ่านท่อโดยตรงวันละ 77,000 ลบ.ม. โดยปรับเปลี่ยนไปสูบน้ำดิบจากเขื่อนลำแชะ อ.ครบุรี วันละ 35,000 ลบ.ม./วัน มาผลิตประปาเพิ่มเติมแทน
ส่วนการผลิตไฟฟ้าพลังน้ำลำตะคองแบบสูบกลับของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) บนเขายายเที่ยงนั้น มีข้อตกลงว่าหากปริมาณน้ำในเขื่อนลำตะคองเหลือน้อยกว่า 100 ล้าน ลบ.ม.จะสูบได้แค่ร้อยละ 10 ของน้ำที่มีอยู่ ณ ปัจจุบันเท่านั้น แต่หากน้ำเหลือ 30 ล้าน ลบ.ม. การไฟฟ้าฝ่ายผลิตฯ จะต้องหยุดการสูบน้ำจากเขื่อนทันที
“ในปี 2548 ที่ จ.นครราชสีมาประสบภัยแล้งรุนแรงมากที่สุดนั้นเขื่อนลำตะคองมีปริมาณน้ำเหลือน้อยสุดที่ระดับ 35 ล้าน ลบ.ม. ส่วนปีนี้ยังประเมินสถานการณ์ไม่ได้ ต้องรอดูอีก 3-4 เดือน เนื่องจากส่วนใหญ่แล้ว จ.นครราชสีมาจะมีฝนตกชุกในช่วงเดือน ส.ค.- ต.ค.” นายสุทธิโรจน์กล่าว
ทั้งนี้ ต้องขอความร่วมมือเกษตรกรในพื้นที่แนวเขตลุ่มน้ำลำตะคองทั้ง 5 อำเภอได้แก่ อ.เมืองนครราชสีมา อ.สีคิ้ว อ.สูงเนิน อ.ขามทะเลสอ และ อ.เฉลิมพระเกียรติ ให้เลื่อนการปลูกข้าวนาปีไปเป็นเดือนสิงหาคม 2558 และขอให้ประชาชนใช้น้ำอย่างประหยัด ไม่เปิดน้ำไหลทิ้งโดยเปล่าประโยชน์ในการประกอบกิจกรรมที่ต้องใช้น้ำ เช่น แปรงฟัน ล้างจาน ล้างผัก ล้างรถ รถน้ำต้นไม้ เป็นต้น
พร้อมให้จัดหา ทำความสะอาด ซ่อมแซมภาชนะกักเก็บน้ำ ให้สามารถกักเก็บน้ำสำรองไว้ใช้เพื่อการอุปโภคบริโภคและปรับเปลี่ยนอุปกรณ์ที่ทำให้สิ้นเปลืองน้ำ และหมั่นตรวจสอบท่อส่งน้ำ ก็อกน้ำให้อยู่ในสภาพใช้งานได้ดีอยู่เสมอเพื่อลดการรั่วไหลของน้ำโดยเปล่าประโยชน์ หากประชาชนช่วยกันประหยัดการใช้น้ำอย่างจริงจังเราจะรอดพ้นจากวิกฤตแล้งครั้งนี้ไปได้