ศูนย์ข่าวนครราชสีมา - เร่งสนองพระราชกระแสรับสั่ง “ในหลวง” กรมฝนหลวงตั้งหน่วยเฉพาะกิจเสริมทีมลูกทั่วประเทศเร่งทำฝนหลวงแก้ปัญหาแล้ง เริ่มปฏิบัติการ 1 ก.ค.นี้ เผยอีสานยังน่าห่วงจัดตั้งหน่วยปฏิบัติการฝนหลวง 4 จังหวัด มุ่งช่วยเหลือพื้นที่เกษตรและเติมน้ำอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ ระบุขึ้นบินปฏิบัติการแล้ว 498 เที่ยวบรรเทาความเดือดร้อนเกษตรกร ทำฝนตกเพิ่ม 16%
วันนี้ (29 มิ.ย.) ที่หอบังคับการบิน กองบิน 1 กองพลบินที่ 2 กองบัญชาการยุทธทางอากาศ อ.เมือง จ.นครราชสีมา นายสมปอง อินทร์ทอง รองปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พร้อมด้วยนายวราวุธ ขันติยานันท์ อธิบดีกรมฝนหลวงและการบินเกษตร และคณะได้เดินทางมาตรวจเยี่ยมให้กำลังใจเจ้าหน้าที่หน่วยปฏิบัติการฝนหลวงจังหวัดนครราชสีมา ในการแก้ไขสถานการณ์ภัยแล้งที่ทวีความรุนแรงขึ้น
รวมถึงเร่งปฏิบัติการเติมน้ำในเขื่อนต่างๆ ของภาคตะวันออกเฉียงเหนือตามนโยบายของนายกรัฐมนตรี พร้อมพบปะเกษตรกรและอาสาสมัครฝนหลวงในจังหวัดนครราชสีมาก่อนขึ้นบินสำรวจสถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำลำพระเพลิงและอ่างเก็บน้ำลำตะคอง
นายสมปอง อินทร์ทอง รองปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า การเดินทางมาครั้งนี้เพื่อมาตรวจสภาพปัญหาภัยแล้งในพื้นที่ภาคอีสาน โดยได้บินขึ้นตรวจเขื่อนเก็บน้ำขนาดใหญ่ 2 เขื่อน คือ เขื่อนลำตะคอง อ.สีคิ้ว และเขื่อนลำพระเพลิง อ.ปักธงชัย พร้อมรับฟังบรรยายสรุปสถานการณ์น้ำในแหล่งน้ำและวางมาตรการในการให้ความช่วยเหลือโดยเฉพาะการเติมน้ำในเขื่อน ซึ่งขณะนี้ชุดปฏิบัติการฝนหลวงได้เข้าปฏิบัติการทำฝนเทียมในทุกพื้นที่ของประเทศไทย เริ่มตั้งแต่เดือน เม.ย.ที่ผ่านมา ผลการปฏิบัติงานมีฝนตกทั้งเหนือเขื่อนและใต้เขื่อน สามารถบรรเทาปัญหาภัยแล้งและเยียวยาพื้นที่ประสบภัยแล้งไม่ให้เสียหายไปมากกว่านี้
ทั้งนี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมีรับสั่งในการเร่งทำฝนหลวงช่วยภัยแล้ง ซึ่งขณะนี้กรมฝนหลวงกำลังเร่งดำเนินการตามพระราชกระแสรับสั่งด้วยการตั้งทีมเฉพาะขึ้นมาเพื่อจะไปเร่งแก้ไขปัญหา โดยจะมีการตั้งหน่วยเฉพาะกิจในพื้นที่ จ.นครสวรรค์ และ จ.เชียงใหม่ ซึ่งหน่วยเฉพาะกิจนี้จะมีเครื่องบิน 4 ลำ ซึ่งหน่วยนี้จะไปเสริมทีมที่มีอยู่โดยเพิ่มความถี่และความเข้มข้นของทีมปฏิบัติการ ซึ่งเป็นหน่วยลูกที่กระจายอยู่ทั่วประเทศ และจะทำในพื้นที่ที่วิกฤตมากๆ เพื่อเติมน้ำบรรเทาปัญหาความเดือดร้อนของประชาชน คาดว่าจะเริ่มปฏิบัติการได้ในวันที่ 1 ก.ค.นี้ โดยพื้นที่ที่น่าห่วงคือลุ่มน้ำเจ้าพระยา เพราะขณะนี้เกษตรกรอยู่ระหว่างการเพาะปลูก ต้องปล่อยน้ำให้นาข้าว และกลุ่มที่ยังไม่ได้ปลูกข้าว ซึ่งขอให้ชะลอเพื่อรอน้ำฝนในเดือน ก.ค.
สำหรับปัญหาที่เกิดขึ้นคือสภาพอากาศไม่เอื้ออำนวยต่อการทำฝนหลวงในบางพื้นที่ เรื่องความชื้นและลม ทำให้เมฆกระจายไม่รวมเป็นก้อน ไม่เอื้อที่จะทำให้เกิดฝน ในส่วนของภาคอีสานเร่งทำฝนหลวงทุกพื้นที่ทั้งเหนือเขื่อนและใต้เขื่อน โดยเฉพาะ จ.นครราชสีมา และ จ.ขอนแก่น วันนี้ได้เน้นย้ำกับเจ้าหน้าที่ให้เร่งดำเนินการในการเติมน้ำให้เขื่อนและทำให้เกิดฝนตกเพื่อบรรเทาปัญหาแล้งให้ประชาชนในพื้นที่
ด้าน นายสินชัย พึ่งตำบล นักวิทยาศาสตร์ชำนาญการพิเศษ เปิดเผยว่า ศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงภาคตะวันออกเฉียงเหนือได้มีแผนการปฏิบัติการช่วยเหลือประจำปีตั้งแต่เดือน เม.ย.เป็นต้นมา โดยจัดตั้งหน่วยปฏิบัติการฝนหลวงขึ้นที่ จ.ขอนแก่น, นครราชสีมา และ จ.อุบลราชธานี และหน่วยเติมสารฝนหลวงขึ้นที่ จ.บุรีรัมย์ มุ่งช่วยเหลือพื้นที่การเกษตรที่ประสบภัยแล้งและปฏิบัติการฝนหลวงเติมน้ำให้อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ที่สำคัญ เช่น อ่างเก็บน้ำลำตะคอง, ลำพระเพลิง, เขื่อนอุบลรัตน์, เขื่อนจุฬาภรณ์ และเขื่อนสิรินธร
โดยได้รับการสนับสนุนเครื่องบินร่วมปฏิบัติการจำนวน 6 ลำ เป็นเครื่องบินเกษตร จำนวน 2 ลำ และสนับสนุนจากกองทัพอากาศจำนวน 4 ลำ ตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย.จนถึงขณะนี้บินปฏิบัติการจำนวน 498 เที่ยว สารฝนหลวงที่ใช้ 528.70 ตัน สามารถบรรเทาความเดือดร้อนให้แก่พื้นที่การเกษตรที่ร้องขอเป็นการด่วนในเขต อ.ปากช่อง, อ.สีคิ้ว จ.นครราชสีมา ทำฝนตกเพิ่ม 16% และกำลังเร่งปฏิบัติการทำฝนหลวงเพิ่มน้ำให้เขื่อนสำคัญต่อไป