xs
xsm
sm
md
lg

ปลัด กษ.เผย สำนักพระราชวัง แจ้งให้ทำฝนหลวงด่วน! เหตุน้ำ “เขื่อนภูมิพล-เขื่อนสิริกิติ์” วิกฤตหนักแล้ว

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

ตารางเปรียบเทียบ ปริมาณน้ำในเขื่อนภูมิพล และเขื่อนสิริกิติ์ ที่กฟผ.เผยแพร่ ปริมาณน้ำใช้งาน  และปริมาณน้ำไหลเข้าพบว่า ปี 2558  นำไหลเข้าเพียง 3 ล้าน ลบ.เมตร
ปลัดเกษตรฯ เผย สำนักพระราชวัง แจ้งสถานการณ์น้ำใน “เขื่อนภูมิพล” และ “เขื่อนสิริกิติ์” วิกฤตหนักแล้ว ให้ ”กรมฝนหลวง - การบินเกษตร” น้อมนำแนวทาง “เทคนิคฝนหลวงพิเศษ” ของ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มาใช้เป็นการด่วน เผยให้ขึ้นระดมทำฝนหลวงให้ตกในพื้นที่เขื่อนทั้ง 2 แห่ง อย่างเร่งด่วน และให้ตกในพื้นที่จำเป็นที่สุดก่อน เผย รายงาน กฟผ. “เขื่อนภูมิพล” วิกฤตหนักในรอบ 57 ปี ส่วน “เขื่อนสิริกิติ์” ขั้นวิกฤตสุดในรอบ 40 ปี

วันนี้ (23 มิ.ย.) นายชวลิต ชูขจร ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า สำนักพระราชวัง ได้แจ้งมายังกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ว่า สถานการณ์น้ำในเขื่อนภูมิพล และ เขื่อนสิริกิติ์ ในขณะนี้อยู่ในขั้นวิกฤตหนักแล้ว โดยให้กรมฝนหลวงและการบินเกษตร น้อมนำแนวทางการทำฝนหลวงพระราชทาน ของ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่ทรงพระราชทานเทคนิคฝนหลวงพิเศษ ในช่วงเกิดภัยแล้งที่ผ่านมานำมาใช้อย่างเร่งด่วน โดยเฉพาะให้ตกในพื้นที่จำเป็นที่สุดก่อน ที่ต้องอาศัยจังหวะสภาพอากาศเหมาะสม ขึ้นระดมทำฝนหลวงให้ตกในพื้นที่เขื่อนทั้ง 2 แห่ง อย่างเร่งด่วน

“ทางสำนักพระราชวัง ยังได้กำชับถึงสถานการณ์น้ำเขื่อนวิกฤตแล้ว ซึ่ง พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงเป็นห่วงประชาชนมาโดยตลอด จึงให้ยึดแนวทางที่พระองค์ทรงพระราชทานในการแก้ไขวิกฤตการณ์ทุกครั้ง และสามารถบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชน และเกษตรกร ให้ผ่านพ้นไปได้ทุกครั้ง”

ปลัดกระทรวงเกษตร เผยต่อว่า สำนักพระราชวัง ระบุว่า ในครั้งนี้ กรมฝนหลวงฯ ควรปรับแก้การทำฝนหลวง โดยน้อมนำไปใช้อย่างจริงจัง ให้ย้ายฐานที่กระจัดกระจายไปถึง 13 หน่วย มาปฏิบัติการฝนหลวง ระดมทำในพื้นที่จำเป็นเร่งด่วนก่อน เพราะขณะนี้มีร่องมรสุมเข้ามา และมีความกดอากาศต่ำ ทำให้สภาพอากาศมีความชื้นเพียงพอสามารถทำฝนหลวงได้ผล โดยใช้เทคนิคพระราชทาน เช่น “ซูเปอร์แซนด์วิช” ที่จะทำจุดให้ฝนตกได้ในจุดหลักก่อน การนำฐานฝนหลวงไปกระจัดกระจายตามที่ต่างๆ อาจไม่ได้ผลเท่าที่ควร เพราะไม่มีความขื้นเพียงพอก็ไม่สามารถขึ้นปฏิบัติการได้ ต้องนำกลับมาวางเฉพาะพื้นที่จำเป็น เพื่อช่วงชิงสภาพอากาศที่มีร่องมรสุมเข้ามา และทำให้พื้นที่วิกฤตจริงๆ ก่อน” นายชวลิต กล่าว

อย่างไรก็ตาม ในวันที่ 24 มิ.ย. นี้ ตนพร้อมกรมฝนหลวงฯ และทีมนักวิทยาศาสตร์ของกรมที่มีทั้งหมด ไปตรวจสอบสภาพปัญหาน้ำในเขื่อน 2 แห่ง และประชุมทันที เพื่อวางแผนการทำฝนหลวง ตามแนวทางพระราชของ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เพื่อระดมทีมทำฝนหลวงทั้งหมดที่มีอยู่ ทำฝนหลวงเติมน้ำในเขื่อนทั้ง 2 ที่วิกฤต เพื่อกู้สถานการณ์ภัยแล้งที่เกิดขึ้นให้อย่างเร่งด่วน รวมทั้งการทำฝนหลวงในพื้นที่ทั้ง 2 เขื่อน จะสามารถช่วยเกษตรกรได้โดยเร็วด้วย

ทั้งนี้ จากการรายงานของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประทศไทย (กฟผ.) ที่ดูแล 2 เขื่อน พบว่า น้ำในเขื่อนภูมิพล อยู่ในระดับวิกฤตหนักในรอบ 57 ปีที่ผ่านมา โดยน้ำที่ใช้ในการเกษตรมีค่าเท่ากับศูนย์ ไม่สามารถจะปล่อยน้ำกับเกษตรกรได้อีกแล้ว ในขณะที่สถานการณ์น้ำในเขื่อนสิริกิติ์ อยู่ในขั้นวิกฤตสุดในรอบ 40 ปี โดยมีน้ำในขณะนี้เพียง 500 ล้าน ลบ.ม. เท่านั้น ซึ่งจะให้น้ำเพื่อการเกษตรเหลืออีก 200 ล้าน ลบ.ม.

ในส่วนแผนการช่วยเหลือเกษตรกรในพื้นที่ชะลอปลูกข้าวนาปี 4 ล้านไร่ ในขณะนี้ ได้ระดมเจ้าหน้าที่ในพื้นที่ไปสำรวจพื้นที่เพื่อวางแผนและประเมินสถานการณ์ สรุปตัวเลขการใช้งบประมาณ เสนอต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณา โดยให้พื้นที่เร่งสรุปข้อมูลที่ไปสำรวจความต้องการจากชาวนามายังกระทรวง ภายในวันที่ 26 มิ.ย. เป็นวันสุดท้าย พร้อมกับได้ขอกำลังจากมหาดไทย และฝ่ายทหาร กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) ช่วยชี้แจงทำความเจ้าใจไม่ให้เกิดศึกแย่งชิงน้ำ

อย่างไรก็ตาม เบื้องต้นได้ร่วมพิจารณากับกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เพื่อขุดเจาะบ่อบาดาล สรุปว่า มีพื้นเหมาะสมขุดเจาะได้ทันที 269 จุด โดยขณะนี้ทางหน่วยงานในพื้นที่พร้อมลงมือปฏิบัติเพื่อให้ชาวนาใช้น้ำได้ในช่วง เพื่อแก้ปัญหาความเดือนร้อนในพื้นที่เกษตร ซึ่ง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นห่วงเกษตรกรมาก ให้เร่งสรุปความต้องการของเกษตรกรอยากให้ช่วยเหลือ เบื้องต้นพบว่าอยากได้น้ำเป็นสิ่งแรก เพราะต้องการทำนา และถ้าไม่มีน้ำจะมีมาตรการช่วยเหลือเขาอย่างไร ก็ยืนยันว่า จะระดมทำฝนหลวงทันที และเร่งสรุปแนวทางช่วยเหลือหลังจากประเมินตัวเลขชัดเจนทั้งหมดภายในสัปดาห์หน้า


กราฟเปรียบเทียบ ปริมาณน้ำในเขื่อนภูมิพล และเขื่อนสิริกิติ์ ที่กฟผ.เผยแพร่ ในเดือน มิถุนายน 2558

ภาพเขื่อนภูมิพล (ภาพจาก เวปไซด์ กฟผ.)
ภาพเขื่อนสิริกิติ์ (ภาพจาก เวปไซด์ กฟผ.)
กำลังโหลดความคิดเห็น