xs
xsm
sm
md
lg

4 เขื่อนใหญ่บุรีรัมย์ และ “อ่างฯ ห้วยสวาย” แห้ง หยุดส่งน้ำเพื่อการเกษตร

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

อ่างเก็บน้ำห้วยสวาย  ต.สองชั้น อ.กระสัง จ.บุรีรัมย์ แห้งปริมาณน้ำเหลือน้อย ล่าสุดหยุดส่งน้ำเพื่อการเกษตรแล้วเพื่อเก็บไว้ผลิตประปาบริการประชาชน วันนี้ ( 29 มิ.ย.)
บุรีรัมย์ - สถานการณ์ภัยแล้งบุรีรัมย์ยังขยายวงกว้าง ชลประทานจังหวัดฯ ระบุเขื่อนใหญ่ 4 แห่งหยุดส่งน้ำเพื่อการเกษตรเหตุน้ำเหลือน้อย ล่าสุดอ่างเก็บน้ำห้วยสวาย อ.กระสัง ปริมาณน้ำลดต่ำเหลือเพียง 5 ล้าน ลบ.ม. ต้องหยุดส่งน้ำเพื่อการเกษตรเพื่อเก็บน้ำไว้ผลิตประปาบริการประชาชน

วันนี้ (29 มิ.ย.) สถานการณ์ภัยแล้งที่จังหวัดบุรีรัมย์ยังคงขยายวงกว้างอย่างต่อเนื่อง ล่าสุดปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำห้วยสวาย ต.สองชั้น อ.กระสัง ซึ่งเป็นแหล่งน้ำดิบที่ใช้ทั้งเพื่อการเกษตรและผลิตประปาบริการประชาชนในตัวอำเภอกระสัง มีปริมาณลดต่ำเหลือเพียง 5.415 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือคิดเป็น 39.96% ของปริมาณความจุอ่างทั้งสิ้น 13.55 ล้านลูกบาศก์เมตร ซึ่งถือเป็นปริมาณที่ต่ำแต่ยังไม่ถึงขั้นวิกฤต

ทางโครงการชลประทานจังหวัดจึงได้ประชุมร่วมกับคณะกรรมการบริหารจัดการน้ำอ่าง และกลุ่มผู้ใช้น้ำในพื้นที่ โดยเบื้องต้นมีมติให้ชะลอการส่งน้ำเพื่อการเกษตรไปก่อน จากที่ก่อนหน้านี้เมื่อช่วงต้นเดือนมิถุนายนได้ส่งน้ำให้เกษตรกรในเขตบริการเพาะปลูกข้าวไปแล้ว ซึ่งต้องรอประเมินสถานการณ์น้ำอีกครั้ง เพราะน้ำที่เหลือในอ่างเก็บน้ำห้วยสวายดังกล่าวจะต้องใช้ในการผลิตประปาเฉลี่ยเดือนละ 60,000 ลูกบาศก์เมตร แต่หากมีฝนตกและมีน้ำเข้าอ่างเพิ่มขึ้นจะส่งน้ำให้ทำการเกษตรตามปกติต่อไป

ด้าน นายกิติกุล เสภาศีราภรณ์ ผู้อำนวยการโครงการชลประทาน จ.บุรีรัมย์ กล่าวว่า ขณะนี้มีอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ 4 แห่งของ จ.บุรีรัมย์ ประกอบด้วย อ่างเก็บน้ำลำนางรอง, อ่างเก็บน้ำคลองมะนาว, อ่างเก็บน้ำลำปะเทีย และอ่างเก็บน้ำลำจังหัน ที่ต้องชะลอการส่งน้ำเพื่อการเกษตรเนื่องจากปริมาณน้ำต่ำ ส่วนอ่างเก็บน้ำขนาดกลาง 16แห่ง ให้ขึ้นอยู่กับมติของคณะกรรมการบริหารจัดการน้ำแต่ละอ่างจะเป็นผู้พิจารณาประเมินสถานการณ์น้ำ

อย่างไรก็ตาม ก็ขอฝากเตือนเกษตรกรนอกเขตชลประทานควรจะชะลอการทำนาออกไปก่อนเพื่อลดความเสี่ยงต้นข้าวขาดน้ำเสียหาย เพราะขณะนี้ในพื้นที่ยังมีฝนตกน้อยและทิ้งช่วง พร้อมกันนี้ยังได้ขอความร่วมมือประชาชนได้ใช้น้ำอย่างประหยัดและมีคุณค่า เพื่อลดความเสี่ยงจากการขาดแคลนน้ำอุปโภคบริโภคจากภาวะฝนทิ้งช่วงในช่วงหน้าแล้งนี้ด้วย




นายกิติกุล เสภาศีราภรณ์  ผู้อำนวยการโครงการชลประทาน จ.บุรีรัมย์
กำลังโหลดความคิดเห็น