xs
xsm
sm
md
lg

ภัยแล้งร้อยเอ็ดวิกฤต อ่างเก็บน้ำ 11 แห่งเหลือน้ำต้นทุนน้อย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

นายสมศักด์ จังตระกุล ผู้ว่าราชการจังหวัดร้อยเอ็ด พร้อมหน่วยงานที่เกี่ยวข้องตรวจอ่างเก็บน้ำในพื้นที่ อ.ปทุมรัตน์ จ.ร้อยเอ็ด
ร้อยเอ็ด - สถานการณ์ภัยแล้ง จ.ร้อยเอ็ด ปีนี้เข้าขั้นวิกฤต อ่างเก็บน้ำ 11 แห่งของจังหวัดเหลือน้ำน้อย โดยเฉพาะพื้นที่ใกล้กับทุ่งกุลาร้องไห้ ด้านพ่อเมืองร้อยเอ็ดกำชับเกษตรกรเข้าร่วมโครงการประกันราคากับ ธ.ก.ส. ทั้งประสานทำฝนเทียม หาแหล่งน้ำสำรอง ช่วยเกษตรกรช่วงรอฝน

วันนี้ (28 มิ.ย. 58) นายสมศักดิ์ จังตระกุล ผู้ว่าราชการจังหวัดร้อยเอ็ด พร้อมด้วยนายอเนก ไชยคำภา หัวหน้าสำนักงานชลประทานร้อยเอ็ด, นายพิทยา กุดหอม ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดร้อยเอ็ด ลงพื้นที่ อ.ปทุมรัตต์ จ.ร้อยเอ็ด รับฟังปัญหาตรวจสอบสภาพน้ำ ที่อ่างเก็บน้ำห้วยจานใต้ ตำบลบัวแดง อำเภอปทุมรัตต์ ซึ่งเป็นแหล่งน้ำเพื่อการเกษตรในพื้นที่ 3 ตำบล 14 หมู่บ้าน และผลิตประปาอำเภอ ปัจจุบันน้ำลดลงเหลือเพียง 12% จนกรรมการบริหารจัดการน้ำสั่งงดใช้น้ำเพื่อผลิตประปาโดยเด็ดขาด เหลือไว้ใช้อุปโภคบริโภคเท่านั้น

นายอเนก ไชยคำภา ชลประทานจังหวัดร้อยเอ็ด กล่าวว่า สถานการณ์ภัยแล้งปีนี้วิกฤตสุด เพราะอ่างเก็บน้ำทั้ง 11 แห่งของจังหวัดร้อยเอ็ด โดยเฉพาะส่วนของพื้นที่ทุ่งกุลาร้องไห้ทั้ง 4 แห่งตกอยู่ในภาวะวิกฤต เริ่มขาดน้ำ มีน้ำต้นทุนรวมเฉลี่ยเพียง 4 ล้านลูกบาศก์เมตรเท่านั้น มีเพียงตอนเหนือของเมืองร้อยเอ็ดในลุ่มน้ำชีที่ยังพอมีน้ำต้นทุนจากลำน้ำปาว และลำน้ำพอง เพียงพอรอรับน้ำฝนใหม่ บรรเทาความเดือดร้อนจากปัญหาภัยแล้งได้

นายสมศักดิ์ จังตระกุล ผู้ว่าราชการจังหวัดร้อยเอ็ด กล่าวว่า การแก้ปัญหาภัยแล้ง ได้กำชับให้เกษตรกรสมัครเข้าร่วมโครงการประกันราคา ธ.ก.ส.เพื่อช่วยเหลือเกษตรกร และกำชับหาทางบริหารจัดการน้ำ ช่วยกันประหยัดน้ำเพื่อการอุปโภค-บริโภค บรรเทาความเดือดร้อนในสภาวะที่ฝนทิ้งช่วง ทั้งนี้ ชาวนาได้ปรับลดพื้นที่ทำนาปรังลงจาก 2 แสน 5 หมื่นไร่ ลงกว่า 50% เพื่อประหยัดน้ำต้นทุน โดยจังหวัดได้เตรียม 3 แผนรองรับสถานการณ์ภัยแล้ง

ประกอบด้วย เร่งประสานกับหน่วยฝนเทียม ทำฝนเทียมในพื้นที่ ส่วนที่ 2 จัดระบบน้ำสำรอง ด้วยการเตรียมจัดแหล่งขุดเจาะน้ำบาดาลที่จะเข้าไปสนับสนุนการใช้น้ำให้มากยิ่งขึ้น และส่วนที่ 3 หาแหล่งน้ำใกล้เคียงมาทดแทนกัน เช่น พื้นที่ในส่วนของลุ่มลำน้ำชีที่น้ำยังมีเหลืออยู่บ้าง ส่วนพื้นที่อื่นจะพยายามหาแหล่งน้ำชดเชยช่วงรอฝน และเน้นย้ำการบริหารจัดการน้ำให้มีประสิทธิภาพสูงสุด



กำลังโหลดความคิดเห็น