xs
xsm
sm
md
lg

นักศึกษา ป.โท จัดสัมมนา “SMEs ไทยเปลี่ยนแนวรับปรับแนวรุกในยุค AEC”

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


ศูนย์ข่าวศรีราชา - นิสิตปริญญาโท สาขาวิชาการบริหารและพัฒนาอุตสาหกรรม คณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตศรีราชา จัดสัมมนาเชิงวิชาการในหัวข้อ “SMEs ไทย เปลี่ยนแนวรับ ปรับแนวรุกในยุค AEC” หวังกระตุ้นความตื่นตัวในการสร้างความแข็งแกร่งทางธุรกิจให้ผู้ประกอบการ ตอ.

วันนี้ (31 ต.ค.) นิสิตปริญญาโท สาขาวิชาการบริหารและพัฒนาอุตสาหกรรม คณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตศรีราชา ได้จัดการสัมมนาเชิงวิชาการในหัวข้อ “SMEs ไทย เปลี่ยนแนวรับ ปรับแนวรุกในยุค AEC” ณ โรงแรมแปซิฟิค พาร์ค โฮเทล แอนด์ เรสซิเดนท์ จังหวัดชลบุรี

โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเตรียมความพร้อม และนำเสนอกระแสแนวโน้มในการดำเนินธุรกิจให้แก่ผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม และผู้สนใจที่จะดำเนินธุรกิจต่อไปในอนาคต โดยมี ผศ.ดร.จุฑามาศ ทวีไพบูลย์วงษ์ รองคณบดีฝ่ายวิชาการ คณะวิทยาการจัดการฯ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตศรีราชา เป็นประธานเปิดงาน

และยังมีการปาฐกถาพิเศษในหัวข้อ “SMEs ไทยเปลี่ยนแนวรับ ปรับแนวรุกในยุค AEC” โดยนางวันเพ็ญ รัตนกังวาน ผู้อำนวยการศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมภาคที่ 9 การเสวนาเรื่อง “ประสบการณ์ของ SMEs ที่ประสบความสำเร็จ” โดยวิทยาการผู้ทรงคุณวุฒิ และประสบความสำเร็จทางธุรกิจ

นางวันเพ็ญ รัตนกังวาน ผู้อำนวยการศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมภาคที่ 9 กล่าวว่า หน้าที่หลักของศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมฯ คือ การส่งเสริม SMEs ตั้งแต่การผลักดันให้เกิดผู้ประกอบการใหม่ ไปจนถึงการพัฒนาให้การประกอบการมีความเข้มแข็ง สามารถดำเนินธุรกิจให้อยู่รอดได้ โดยปัจจุบัน ยังได้ส่งเสริมการขยายตลาดในกลุ่มประเทศ AEC เพื่อเพิ่มช่องทางการจำหน่ายสินค้า และสร้างรายได้ รวมถึงการจัดโครงการเตรียมความพร้อมของผู้ประกอบการที่หลากหลายเพื่อเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการได้พัฒนาความรู้ ความสามารถทางธุรกิจ

ขณะที่ นายชัยรัตน์ โสธรนพบุตร กรรมการผู้จัดการบริษัท ผลไม้แปรรูป จำกัด ผู้ผลิตมะม่วงดองและมะม่วงกวนส่งขายทั้งใน และต่างประเทศ กล่าวว่า ในเบื้องต้น ผู้ประกอบการด้านอาหารจำเป็นต้องต้องได้รับเครื่องหมาย อย.เพื่อยืนยันว่าผลิตภัณฑ์มีมาตร และคุณภาพที่ได้รับการรับรองจากหน่วยงานที่ดูแลด้านอาหาร ที่สำคัญการเปิดตลาดในประเทศเพื่อนบ้านจำเป็นต้องศึกษาถึงกฎหมาย และพฤติกรรมการบริโภคของคนในประเทศนั้นๆ เพื่อให้ง่ายต่อการวางแผนการตลาด ซึ่งอาหารของไทยค่อนข้างได้รับการยอมรับทั้งด้านคุณภาพ และรสชาติจากผู้บริโภคทั้งในตลาดอาเซียน และทั่วโลก

สอดคล้องต่อ น.ส.กัญญา ดิลกเรืองชัย กรรมการผู้จัดการ บริษัท เวิลด์ฟูดส์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด ที่กล่าวว่า บริษัทฯ ดำเนินธุรกิจผลิตขนมขบเคี้ยว และน้ำผลไม้มานานกว่า 20 ปี และขณะนี้ได้เปิดตลาดในหลายประเทศของกลุ่ม AEC ซึ่งเมื่อมองในแง่ของการทำธุรกิจแล้วประเทศไทยค่อนข้างได้เปรียบ ทั้งในเรื่องของที่ตั้งและคุณภาพสินค้า โดยเฉพาะในเรื่องของอาหารซึ่งอนาคตในอีก 5 ปีข้างหน้าผู้ประกอบการไทยยังผลิตสินค้าจากไทยส่งไปขายได้อย่างสบาย แต่หากถึง 10 ปี จำเป็นจะต้องหาคู่ค้าในประเทศนั้นๆ เพื่อให้ง่ายต่อการลงทุน

ด้าน นางกฤษญาณี สังข์ทอง ผู้ประกอบธุรกิจ SMEs ในจังหวัดระยอง เผยถึงการเข้าร่วมสัมมนาในครั้งนี้ว่า เพราะต้องการศึกษาหาความรู้ในการผลักดันธุรกิจสมุนไพรไทยเปิดตลาดใน AEC หลังขณะนี้สินค้าเริ่มเป็นที่ยอมรับของตลาด เช่น เม็ดหอมปรับอากาศในรูปผลไม้ ซึ่งทิศทางตลาดได้รับการตอบรับมากยิ่งขึ้น

ส่วน ผศ.ดร.ภูวาเดช โหราเรือง รองคณบดีฝ่ายประชาสัมพันธ์ คณะวิทยาการจัดการ กล่าวว่า ที่ผ่านมาคณะฯ มีการพัฒนาความรู้ และศักยภาพของผู้ประกอบการ SMEs ในภาคตะวันออก ซึ่งถือเป็นภูมิเศรษฐศาสตร์สำคัญของประเทศในช่วง 10 ปีอย่างต่อเนื่อง ซึ่งการเข้าสู่ AEC จะไม่มีใครได้โอกาสเพียงฝ่ายเดียว แต่ผู้ประกอบการในทุกประเทศจะมีโอกาสได้ประโยชน์และเสียประโยชน์เท่ากัน ดังนั้น ผู้ประกอบการไทยจะต้องมีความแข็งแกร่ง ไม่ใช่เพียงแต่มีสินค้าที่ดี แต่จะต้องมีกลยุทธ์ทางการตลาด การจัดการ รวมทั้งได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐด้วย

“ผมเชื่อว่าการเป็น AEC ในอีก 10 ปีข้างหน้าจะทำให้มีสินค้าทั้งของไทยที่ออกสู่ตลาดอาเซียน และสินค้าจากอาเซียนเข้าสู่ไทย ซึ่งการแข่งขันย่อมสูงขึ้น เพราะเราต้องทำตลาดแข่งขันทั้งในและต่างประเทศ ท้ายที่สุดจึงอยากฝากว่าผู้ประกอบการต้องมีความกระตือรือร้น และตื่นตัวตลอดเวลาจึงจะอยู่ใน AEC ได้” ผศ.ดร.ภูวาเดช กล่าว


กำลังโหลดความคิดเห็น