ศูนย์ข่าวนครราชสีมา - อธิบดีข้าว ลุยโคราชเร่งขับเคลื่อนโยบายรัฐลดต้นทุนการผลิต ชี้แล้งส่งผลกระทบผลผลิตข้าวลด คาดปีนี้ทำนาปรังไม่ได้ เตรียมเมล็ดพันธุ์พืชไว้แจกช่วยเหลือชาวนาแทน ยอมรับน้ำน้อยทำผลผลิตข้าวรวมไทยลดลง แต่ไม่กระทบต่อการบริโภคภายในประเทศ เตรียมขยายเทคโนโลยีทำนาเปียกสลับแห้งมาใช้ในอีสาน-เหนือ เร่งสานโซนนิ่งข้าวให้เกิดเป็นรูปธรรม
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่ศูนย์เมล็ดพันธุ์ข้าวถนนราชสีมา-โชคชัย อ.เมือง จ.นครราชสีมา นายอนันต์ สุวรรณรัตน์ อธิบดีกรมการข้าว เดินทางลงพื้นที่จังหวัดนครราชสีมาในช่วงสุดสัปดาห์นี้ เพื่อตรวจเยี่ยมการดำเนินงานตามนโยบายของรัฐบาลในการปรับโครงการสร้างการผลิต โดยการจัดส่งเสริมการผลิตในพื้นที่แปลงใหญ่ ยึดหลักให้มีผู้รับผิดชอบที่ชัดเจน มีการประสานงานแต่ละส่วนเข้ามาร่วมบูรณาการ มีองค์ความรู้ที่เหมาะสมเฉพาะพื้นที่ และมีเป้าหมายในการพัฒนาที่ชัดเจน
โดยมี นายธีระพงษ์ พุทธรักษา ผู้อำนวยการศูนย์เมล็ดพันธุ์ข้าว นครราชสีมา และข้าราชการให้การต้อนรับ และกล่าวบรรยายสรุป ก่อนเดินทางลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมแปลงนาในพื้นที่ ต.กระเบื้องใหญ่ อ.พิมายจ.นครราชสีมา
นายอนันต์ สุวรรณรัตน์ อธิบดีกรมการข้าว เปิดเผยว่า การลงพื้นที่ จ.นครราชสีมา เพื่อมาให้กำลังใจทีมงานที่ทำงานตามโครงการลดต้นทุนการผลิตตามนโยบายของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ซึ่งกรมการข้าวได้ดำเนินนโยบายดังกล่าวมานานแล้ว ในปีที่ผ่านมา ได้ทุ่มงบประมาณเรื่องนี้ไปมาก ฉะนั้นปีนี้พยายามปรับกระบวนการให้เป็นไปตามนโยบายของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรฯ โดยจังหวัดนครราชสีมา เป็นอีกหนึ่งพื้นที่ซึ่งได้ลงไปเยี่ยมชมโครงการส่งเสริมทำนาเชิงอุตสาหกรรมในพื้นที่แปลงใหญ่ อ.พิมาย จ.นครราชสีมา
สำหรับนโยบายการดำเนินการในปีงบประมาณ 2559 นั้น จะเป็นไปตามที่ รมว.เกษตรฯ ให้นโยบายไว้คือ จะเป็นปีแห่งการลดต้นทุนทางการเกษตร และเพิ่มโอกาสทางการแข่งขันของเกษตรกร ซึ่งกรมการข้าว จะนำนโยบายมาขับเคลื่อน
นายอนันต์ กล่าวถึงปัญหาภัยแล้งส่งผลให้น้ำในเขื่อนต่างๆ เหลือน้อยไม่เพียงพอในการทำนาปรังปีนี้ว่า จากข้อมูลพบว่าน้ำในเขื่อนปีนี้มีน้อยมาก คาดว่าน่าจะไม่เพียงพอในการทำนาปรังปีนี้แน่นอน ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อชาวนาอย่างมาก ในเรื่องนี้ กรมการข้าว ได้เตรียมแผนในการรับมือไว้แล้ว โดยจะนำเทคโนโลยีเปียกสลับแห้งไปให้ชาวนาทำ เพื่อลดปริมาณการใช้น้ำ และเพิ่มประสิทธิภาพผลผลิตของข้าวได้ด้วย โดยปีนี้จะนำมาขยายผลในพื้นที่ภาคอีสาน และภาคเหนือ
นอกจากนี้ ทางกรมการข้าวจะเข้ามาดูแลเรื่องการให้ความรู้ทางวิชาการในการปรับเปลี่ยนพื้นที่ ในช่วงที่ไม่ได้ทำนาปรัง ทางกรมการข้าว จะสนับสนุนเมล็ดพันธุ์พืชชนิดอื่นๆ เป็นจังหวะที่ชาวนาได้พัก ซึ่งถ้าได้ปลูกพืชคลุมดิน หรือบำรุงดินจะทำให้ดินในนาข้าวดีขึ้น แต่สิ่งที่จะต้องขับเคลื่อนในฤดูนาปีที่ชาวนาจะได้ทำต่อไปจะต้องเข้าไปช่วยเหลือชาวนา และทำให้ประสิทธิภาพการทำนา และผลผลิตสูงขึ้น
นายอนันต์ กล่าวอีกว่า ผลผลิตข้าวของประเทศไทยในปีนี้คาดว่าจะลดลงกว่าปีที่ผ่านมา เนื่องจากสภาวะฝนทิ้งช่วง และน้ำน้อย ซึ่งปีที่ผ่านมา ผลผลิตข้าวของไทยก็ลดลงประมาณร้อยละ 30 เพราะนาปรังทำไม่ได้ พื้นที่ทำนาลดลง การผลิตลดลง แต่ไม่ได้ส่งผลต่อการบริโภคภายในประเทศแต่อย่างใด ซึ่งที่ผ่านมา เราพยายามจะควบคุมการผลิตให้สอดคล้องต่อความต้องการ ขณะนี้น่าจะมีความสมดุลกัน
ทั้งนี้ กรมการข้าวกำลังขับเคลื่อนคือ การทำแผนผลิตข้าวเป็นรายชนิด เดิมเรามองข้าวในภาพรวม ตอนนี้พยายามทำข้าวแยกเป็น 5 ชนิด คือ ข้าวหอมมะลิ ซึ่งเป็นข้าวที่มีคุณภาพสูง เป็นที่รู้จัก และต้องการของตลาด เฉพาะตลาดในประเทศแทบจะไม่พอ ขณะตลาดต่างประเทศมีความต้องการสูง และไทยเราไม่มีคู่แข่งเรื่องข้าวหอมมะลิ เพราะเราแซงหน้าทุกประเทศ
ข้าวชนิดที่ 2 คือ ข้าวหอมไทย ไม่ว่าจะเป็นข้าวหอมประทุม ข้าวหอมสุพรรณ ตลาดข้าวหอม ตอนนี้มีคู่แข่งพอสมควร ไม่ว่าจะเป็นกัมพูชา หรือเวียดนาม มีการพัฒนาขึ้นมากันมา
ชนิดที่ 3 คือ ข้าวขาว ชนิดที่ 4 ข้าวเหนียว และชนิดที่ 5 ข้าวเฉพาะถิ่น หรือข้าวพิเศษที่มีคุณสมบัติพิเศษเหมือนกับข้าวอินทรีย์ หรือข้าวจีไอ ซึ่งกรมการข้าวได้จดจีไอไป 9 ชนิดแล้ว ตรงนั้นพยายามจะแยกข้าวเป็นรายชนิดเพื่อวางยุทธศาสตร์การพัฒนา แม้กระทั่งการทำโซนนิ่งให้สอดคล้องต่อข้าวทั้ง 5 ชนิด ปีนี้จะขับเคลื่อนในเรื่องดังกล่าวนี้