xs
xsm
sm
md
lg

ชาวนาเมืองอุบลฯ ปลูกข้าวออร์แกนิกสู้ราคาข้าวทรุด-นร.เกี่ยวข้าวอินทรีย์เฉลิมพระเกียรติวันพ่อ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

แปลงข้าวออร์แกนิค ที่ขายได้ราคาสูงกว่าราคาข้าวทั่วไป
อุบลราชธานี - ชาวนาเมืองดอกบัวพลิกวิกฤตราคาข้าวตกต่ำ ทำนาออร์แกนิกขายได้ราคาดี เน้นสายพันธุ์ข้าวหายาก และพันธุ์ข้าวเหนียวน้ำตาลต่ำ ให้ผู้เป็นโรคเบาหวานหรือยังไม่เป็นกินได้เพื่อรักษาสุขภาพ พร้อมสร้างตลาดขายตรงด้วยตนเอง ด้านนักเรียนใน อ.สำโรงร่วมใจเกี่ยวข้าวเกษตรอินทรีย์ในแปลงสาธิต โดยผลผลิตทั้งหมดจะถูกนำเข้าโครงการอาหารกลางวันปรุงเลี้ยงนักเรียนทั้งโรงเรียน

ผู้สื่อข่าวจังหวัดอุบลราชธานีรายงานว่า ชาวนาเมืองดอกบัวพลิกวิกฤตเป็นโอกาส หลังราคาข้าวเปลือกปีนี้ตกต่ำลงอย่างมาก โดยข้าวเปลือกหอมมะลิใช้รถเกี่ยวสดแล้วขายทันที ราคากิโลกรัมละ 8-9 บาทตามระดับความชื้นของข้าว สวนทางกับต้นทุนใช้ปลูกข้าวที่สูงขึ้นเรื่อยๆ ทั้งค่าจ้างแรงงานคน แรงงานรถเกี่ยวข้าว ปุ๋ยเคมี ยาฆ่าหญ้า ฮอร์โมนเร่งการเจริญเติบโตข้าวประเภทต่างๆ

น.ส.คนึงนุช วงศ์เย็น พนักงานออฟฟิศในตัวจังหวัด ซึ่งครอบครัวมีที่นากว่า 25 ไร่ จึงนำความรู้ที่สั่งสมจากการเรียนรู้จากคนรู้จักพลิกวิกฤตราคาข้าว โดยช่วงวันหยุดจะพาครอบครัวไปช่วยพ่อแม่ทำนาที่อำเภอตาลสุม และเน้นปลูกข้าวสายพันธุ์พื้นเมือง เช่น ข้าวหอมนิล ข้าวก่ำดอ ข้าวเหนียวหอมสามกอ ข้าวเหนียวพันธุ์ทวี ข้าวไรซ์เบอร์รี ข้าวเหนียวแดง ข้าวเหนียวนางบุญมา ข้าวหอมมะลิแดง และข้าวหอมมะลิ ซึ่งเป็นข้าวเหนียวที่มีน้ำตาลต่ำกว่าพันธุ์ข้าวทั่วไปกว่า 30% เพื่อช่วยรักษาสุขภาพคนอีสานให้ปลอดจากโรคเบาหวานจากการรับประทานข้าวเหนียวที่มีน้ำตาลมาก พร้อมทำนาอินทรีย์ (Organic) ชนิดเต็มรูปแบบ มีการยื่นขอรับรองมาตรฐานจากสำนักงานมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ (มกท.) และกรมการข้าว (Organic Thailand)

ในปี 2557 ได้รับการรับรองจาก IFOAM ในระยะปรับเปลี่ยน และปี 2558 ได้รับการรับรองอย่างเต็มรูปแบบ เพื่อการผลิตเพื่อการค้า โดยเน้นแนวคิด “กินข้าวเป็นยา ไม่ใช่กินยาแทนข้าว” การทำนาอินทรีย์ของ น.ส.คนึงนุช ได้เริ่มอย่างจริงจังเมื่อฤดูกาลเพาะปลูกปี 2556 และได้ซื้อโรงสีขนาดครัวเรือนมาสีข้าวเอง แบบขายตรงส่งถึงผู้บริโภคในเมือง ปรากฏมีลูกค้าให้ความสนใจสั่งซื้อข้าวอย่างต่อเนื่อง เพราะราคาขายไม่แพง เฉลี่ยเพียงกิโลกรัมละ 60-70 บาท

ทำให้มีรายได้แตกต่างจากการปลูกข้าวขายปกติ ซึ่งมีราคาซื้อขายที่กิโลกรัมละ 30 บาท พร้อมยังได้รำอ่อน และแกลบไว้ใช้เลี้ยงสัตว์หรือทำประโยชน์อื่นอีกด้วย

น.ส.คนึงนุชกล่าวว่า อยากให้ชาวนาผู้ปลูกข้าวหยุดคิด แล้วหันมาทบทวนวิถีการทำนาแบบเดิม ซึ่งต้นทุนมีแต่เพิ่มขึ้น สวนทางกับราคาข้าวที่ตกต่ำลงทุกปี ถ้านำประสบการณ์บวกกับความรู้ที่ได้รับจากที่ต่างๆ จะนำไปสู่ความสำเร็จในการเป็นกระดูกสันหลังของประเทศเหมือนคนในอดีต เมื่อถึงเวลานั้นลูกหลานที่เคยหันหลังให้กับการทำนาปลูกข้าว ก็จะกลับมาร่วมกับพ่อแม่ช่วยกันทำนาอีก เพราะสามารถสร้างรายได้เลี้ยงตนเองเป็นรายได้เสริมจากงานปกติ

นอกจากไม่จำเป็นต้องทิ้งไร่ทิ้งนาไปขายแรงงานในเมือง ซึ่งต้องเป็นลูกจ้างไปตลอดชีวิต ตรงข้ามกับการทำนาปลูกข้าว หากมีความรู้สามารถเป็นเจ้าของกิจการของตนเองได้ โดยไม่ต้องผ่านพ่อค้าข้าวคนกลางที่คอยเก็บเกี่ยวกำไรจากชาวนามาช้านานด้วย

นักเรียนเกี่ยวข้าวอินทรีย์เลี้ยงกันเองทั้งโรงเรียน

นอกจากนี้ มีรายงานข่าวเพิ่มเติมว่า ที่แปลงนาสาธิตโรงเรียนบ้านสำโรงคุรุประชาสามัคคี อ.สำโรง จ.อุบลราชธานี นายถาวร คูณิรัตน์ ผู้อำนวยการสำนักงานเขตการศึกษาประถมศึกษาอุบลราชธานี เขต 4 ร่วมกับเด็กนักเรียนลงเก็บเกี่ยวข้าวหอมมะลิอินทรีย์เนื้อที่กว่า 5 ไร่ ตามโครงการ “ปลูกวันแม่เกี่ยววันพ่อ” เพื่อเป็นการเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ

สำหรับโครงการปลูกข้าวนี้เพื่อเป็นการสอนให้เยาวชนคนรุ่นใหม่ตระหนักถึงวิถีชีวิตของชาวชนบทที่ปลูกข้าวกินเองมาแต่บรรพบุรุษ โดยนักเรียนที่เข้าร่วมโครงการจะทราบวิธีการปลูกข้าวตามแบบวิถีชีวิตดั้งเดิมเกษตรอินทรีย์ ไม่ใช้ปุ๋ยเคมีตามแนวพระราชดำริเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว

พร้อมเรียนรู้การลงแขกเกี่ยวข้าว การนวดข้าว ฝัดข้าว และตำข้าว พร้อมทั้งมีข้าวที่ปลูกด้วยมือของตนเองไว้กินในโครงการอาหารกลางวันตลอดปีการศึกษา 2558 ด้วย


นักเรียนร่วมกันเกี่ยวข้าวอินทรีย์ที่ปลูกในแปลงนาของโรงเรียนเพื่อใช้เป็นเสบียงอาหารกลางวัน



กำลังโหลดความคิดเห็น