กาญจนบุรี - กำนันตำบลท่ากระดาน อำเภอศรีสวัสดิ์ พร้อมผู้ใหญ่บ้าน และลูกบ้านรวมตัวคัดค้านนำงบโครงการมาตรการส่งเสริมความเป็นอยู่ระดับตำบลๆ ละ 5 ล้านบาท ซื้อรถตัดข้าวโพด วอนให้แต่ละหมู่บ้านบริหารจัดการกันเอง
เมื่อเวลา 09.00 น.วันนี้ (23 ก.ย.) ที่ศาลาประชาคมหมู่ 2 ต.ท่ากระดาน อ.ศรีสวัสดิ์ จ.กาญจนบุรี นางสุนันท์ สุวรรณ์ กำนันตำบลท่ากระดาน พร้อมด้วย นายดำรัส อาคมเวช ผู้ใหญ่บ้านหมู่ 1 นายสำราญ สุนทราลัย ผู้ใหญ่บ้าน หมู่ 3 นายดำรงค์ สุวรรณอัมพร ผู้ใหญ่บ้าน หมู่ 4 และนางอุรอน อ่อนหวาน ผู้ใหญ่บ้าน หมู่ 5 พร้อมชาวบ้านหมู่ 1 หมู่ 2 หมู่ 3 หมู่ 4 และหมู่ 5 จำนวนหนึ่ง รวมตัวคัดค้านนำงบโครงการมาตรการส่งเสริมความเป็นอยู่ระดับตำบลๆ ละ 5,000,000 บาท ซื้อรถตัดข้าวโพด โดยมี นางกัลยา ทองดี ผู้จัดการสหกรณ์การเกษตร จำกัด บ้านเจ้าเณร ผู้สำรวจ กลุ่มสหกรณ์ หรือกลุ่มเกษตรกรที่ขอรับการสนับสนุนเครื่องจักรกลการเกษตรเข้าชี้แจง เผยไม่รู้ว่าเป็นงบเดียวกัน
นางสุนันท์ สุวรรณ์ กำนันตำบลท่ากระดาน เปิดเผยว่า ตามที่กระทรวงมหาดไทย แจ้งมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 1 ก.ย.58 และมีมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 8 ก.ย.58 เห็นชอบมาตรการส่งเสริมความเป็นอยู่ของประชาชนผู้มีรายได้น้อย และมาตรการกระตุ้นการลงทุนขนาดเล็กของรัฐบาลทั่วประเทศ ตามที่กระทรวงการคลัง เสนอขออนุมัติให้ดำเนินงานส่งเสริมความเป็นอยู่ระดับตำบลตามที่กระทรวงมหาดไทยเสนอ
กระทรวงมหาดไทย พิจารณาแล้วเพื่อให้การดำเนินมาตรการส่งเสริมความเป็นอยู่ระดับตำบล โดยการช่วยเหลือประชาชนใช้งบประมาณซื้อรถเกี่ยวข้าวโพดให้แก่ชุมชนนั้น เราชาวตำบลท่ากระดาน มีอยู่ 5 หมู่บ้าน ประมาณ 2,000 ครัวเรือน ประชากรประมาณ 4,000 คน ไม่ต้องการรถเกี่ยวข้าวโพด เพราะชาวบ้านทุกครัวเรือนไม่ได้ประกอบอาชีพทางการเกษตรปลูกข้าวโพดอย่างเดียว และบางหมู่บ้านไม่ได้ปลูกข้าวโพด จึงไม่มีความจำเป็นในการใช้งบประมาณโครงการมาตรการส่งเสริมความเป็นอยู่ระดับตำบล ตำบลละ 5,000,000 บาท จึงอยากให้สำนักนโยบายและแผนงานกระทรวงมหาดไทย ได้พิจารณาโครงการมาตรการส่งเสริมความอยู่ระดับตำบลครั้งนี้ใหม่อีกครั้งหนึ่ง เราชาวบ้านจึงได้มายื่นหนังสือร้องทุกข์ให้แก่ทางอำเภอศรีสวัสดิ์ ส่งไปยังจังหวัดกาญจนบุรี
งบประมาณโครงการมาตรการส่งเสริมความเป็นอยู่ระดับตำบล ตำบลละ 5,000,000 บาท ที่ชาวตำบลท่ากระดานจะได้รับพวกเราต้องการให้จัดสรรเงินให้แต่ละหมู่บ้านให้เท่ากัน เพื่อที่แต่ละหมู่บ้านจะได้นำเงินไปใช้ประโยชน์ตามความต้องการของแต่ละหมู่บ้าน เพราะแต่ละหมู่บ้านมีความต้องการไม่เหมือนกัน
ด้าน นางอุรอน อ่อนหวาน ผู้ใหญ่บ้าน หมู่ 5 กล่าวว่า ชาวบ้านหมู่ 5 บ้านหม่องกระแทะ มีอาชีพทำการเกษตร แต่ทั้งหมู่บ้านไม่มีครอบครัวใดปลูกข้าวโพดแม้แต่ครอบครัวเดียว หากนำเงินจำนวน 1,000,000 บาท ที่เราจะได้รับนำไปซื้อรถเกี่ยวข้าวโพด เราถือว่าเป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้องสิ่งที่ชาวบ้านหมู่ 5 ต้องการคือ การนำเงินมาปรับปรุงระบบน้ำประปาของหมู่บ้าน ที่เริ่มมีสภาพเสื่อมโทรมใช้การไม่ได้ เพราะใช้งานมาแล้วนานกว่า 10 ปี เช่นเดียวกับชาวบ้านหมู่ 3 ต.ท่ากระดาน ที่ต้องการนำเงินไปทำน้ำประปาภูเขา ซึ่ง นายสำราญ สุนทราลัย ผู้ใหญ่บ้านก็ได้ทำแผนงานส่งไปที่อำเภอศรีสวัสดิ์ไปแล้ว
ส่วน นายดำรงค์ สุวรรณอำพร ผู้ใหญ่บ้าน หมู่ 4 บ้านแก่งแคบ กล่าวว่า สำหรับบ้านแก่งแคบมีแหล่งท่องเที่ยว รวมทั้งรีสอร์ตอยู่เป็นจำนวนมาก ในแต่ละวันมีนักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามาในพื้นที่เป็นจำนวนมาก ดังนั้น สิ่งที่ชาวบ้านแก่งแคบต้องการก็คือ หากได้เงิน จำนวน 1,000,000 บาท มาบริหารจัดการกันเอง เราจะนำเงินจำนวนดังกล่าวไปทำจุดสำหรับให้นักท่องเที่ยวได้หยุดพักรถ โดยให้ชาวบ้านนำสินค้าทางการเกษตรที่มีอยู่มาจำหน่ายให้แก่นักท่องเที่ยว
นอกจากนี้ จะจัดทำห้องน้ำสำหรับบริการนักท่องเที่ยวด้วย เพราะที่ผ่านมา เมื่อนักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามาในพื้นที่ส่วนใหญ่จะมุ่งหน้าไปยังจุดหมายที่ต้องการไป และขากลับก็จะมุ่งหน้ากลับทันที เพราะในพื้นที่ไม่มีจุดพักรถ หรือแม่แต่ห้องน้ำคอยให้บริการ เชื่อว่าจะสร้างรายได้ให้แก่ชุมชนได้เป็นอย่างดี ดังนั้น การที่จะนำเงินไปซื้อรถตัดข้าวโพดพวกเราจึงไม่เห็นด้วยเป็นอย่างยิ่ง
นางกัลยา ทองดี ผู้จัดการสหกรณ์การเกษตร จำกัด บ้านเจ้าเณร กล่าวว่า ด้วยสหกรณ์จังหวัดกาญจนบุรี ได้รับแจ้งจากจังหวัดกาญจนบุรี เมื่อวันที่ 29 เม.ย.2558 ที่ผ่านมาว่า กระทรวงมหาดไทย มีมาตรการเร่งด่วนเพื่อช่วยเหลือเกษตรกร และคนยากจนในการเสริมความเข้มแข็งอย่างยั่งยืน ในการลดต้นทุนการผลิตตามนโยบายของรัฐบาล โดยมอบให้จังหวัดสำรวจสหกรณ์หรือกลุ่มเกษตรกรที่มีการจดทะเบียนตามกฎหมาย และมีการดำเนินงานอย่างต่อเนื่อง มีความประสงค์ขอรับการสนับสนุนเครื่องจักรกลการเกษตร เช่น รถไถ รถเกี่ยวข้าว รถนวดข้าว เป็นต้น ซึ่งการดำเนินการตามมาตรการดังกล่าวสามารถนำไปลดต้นทุนการผลิตของกลุ่ม และมีการบริหารจัดการร่วมกันภายในกลุ่มได้
สำนักงานสหกรณ์จังหวัดกาญจนบุรี พิจารณาเห็นว่า มาตรการดังกล่าวเป็นประโยชน์ต่อสหกรณ์และกลุ่มเกษตรกร จึงขอให้สหกรณ์และกลุ่มเกษตรกรที่ประสงค์ขอรับการสนับสนุนเครื่องจักรกลการเกษตรได้จัดทำแบบสำรวจข้อมูลความต้องการส่งไปให้จังหวัดกาญจนบุรี ผ่านสหกรณ์จังหวัดกาญจนบุรี เมื่อวันที่ 6 พ.ค.2558 คือ การขอรับการสนับสนุนจัดซื้อรถเกี่ยวข้าวโพด ในราคา 3,000,000 บาท ซึ่งงบประมาณจำนวนดังกล่าวทางสหกรณ์ไม่ทราบเลยว่าเป็นเงินที่รัฐบาลช่วยเหลือประชาชนตำบลละ 5,000,000 บาทหรือไม่
ด้านนายเสรี คงอยู่ นายอำเภอศรีสวัสดิ์ จ.กาญจนบุรี กล่าวว่า การสำรวจความต้องการในการจัดซื้อเครื่องจักรกลได้เกิดขึ้นมาก่อนที่รัฐบาลจะมีโครงการมาตรการส่งเสริมความเป็นอยู่ระดับตำบล ตำบลละ 5,000,000 บาท ซึ่งเมื่องบประมาณตำบลละ 5,000,000 บาทมาถึง กระทรวงมหาดไทยจึงหักจากค่าใช้จ่ายที่นำไปซื้อรถตัดข้าวโพด ส่วนเงินที่เหลือจะจัดสรรให้กับทุกหมู่บ้าน