xs
xsm
sm
md
lg

มติบอร์ดข้าวไฟเขียวนำข้าวในสต๊อก 2 หมื่นตัน จัดทำข้าวขนาดถุง 2 กก.

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

นายกรัฐมนตรีเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการนโยบายและบริหารจัดการข้าว (นบข.) ครั้งที่ 4/2558 ณ ตึกสันติไมตรี (หลังใน) ทำเนียบรัฐบาล
มติ นบข.ขยายระยะเวลาตามนโยบายรัฐถึง ก.ย. 2559 เหตุยังมีข้าวเหลืออยู่ในคลังที่ระบายไม่หมด ไฟเขียวนำข้าวในสต็อกทำข้าวถุง “บิ๊กตู่” ยันต้องแก้ปัญหาโครงสร้างผลิตข้าว/บริหารจัดการทั้งระบบ เผยรัฐบาลเตรียมมาตรการช่วยเหลือเกษตรกรและรักษาเสถียรภาพราคาข้าวปีการผลิต 2558/59

วันนี้ (1 ก.ค.) พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานประชุมคณะกรรมการนโยบายและบริหารจัดการข้าว (นบข.) ครั้งที่ 4/2558 ภายหลังเสร็จสิ้นการประชุม นางดวงพร รอดพยาธิ์ อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ นางสาวชุติมา บุณยประภัศร ปลัดกระทรวงพาณิชย์ และนายลักษณ์ วจนานวัช ผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ได้ร่วมกันแถลงผลการประชุมฯ ว่าที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายและบริหารจัดการข้าว (นบข.) ครั้งที่ 4/2558 ได้เห็นชอบให้ขยายระยะเวลาโครงการข้าวตามนโยบายของรัฐบาลจำนวน 7 โครงการ จากเดิมสิ้นสุดระยะเวลาโครงการเดือนกันยายน 2558 เลื่อนเป็นเดือนกันยายน 2559 ตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์เสนอ

ที่ประชุมได้อนุมัติให้นำข้าวสารในสต็อกของรัฐบาลจำนวน 20,000 ตัน มาดำเนินการจัดทำข้าวสารบรรจุถุงตามข้อสั่งการของนายกรัฐมนตรี และเห็นชอบแนวทางการจัดทำข้าวสารบรรจุถุงที่ได้มาตรฐาน เพื่อจำหน่ายให้แก่ผู้มีรายได้น้อยในราคาที่ไม่ส่งผลกระทบต่อราคาในประเทศ โดยที่กรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์จะทำสัญญากับสมาคมผู้ประกอบการข้าวถุงไทยดำเนินการคัดเลือกสมาชิกที่ได้มาตรฐานและมีศักยภาพในการกระจายสินค้า ในส่วนของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เป็นผู้คัดเลือกรายชื่อและแจ้งแก่สหกรณ์ชุมชน วิสาหกิจชุมชนที่มีความเข้มแข็งและมีศักยภาพในการนำข้าวถุงไปจำหน่ายให้กลุ่มเป้าหมาย เบื้องต้นมีสหกรณ์เข้าร่วมโครงการแล้ว 149 ราย ซึ่งการจัดทำข้าวถุงที่ได้มาตรฐานขนาด 2 กิโลกรัม ประมาณ 5,000 ตัน ดำเนินการภายใน 3 เดือน ระหว่างเดือนกรกฎาคม-กันยายน 2558 โดยมีข้อความระบุด้านข้างถุงว่า “โครงการเพื่อชุมชน” เพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งให้แก่สหกรณ์ชุมชน วิสาหกิจชุมชน และเพื่อช่วยลดภาระค่าครองชีพของประชาชนผู้มีรายได้น้อยตลอดจนลดภาระค่าใช้จ่ายของรัฐและในการเก็บสต๊อกข้าว

สำหรับมาตรการช่วยเหลือเกษตรกรและรักษาเสถียรภาพราคาข้าวปีการผลิต 2558/59 กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้เสนอแนวทางการสนับสนุนปัจจัยการผลิตทางการเกษตร ซึ่งมี 2 มาตรการ ได้แก่ มาตรการที่ 1 การลดราคาจำหน่ายปัจจัยการผลิตค่าบริหารและค่าเช่านา ประกอบด้วย ลดราคาจำหน่ายปลีกปุ๋ยเคมี ยาปราบศัตรูพืช เมล็ดพันธุ์ข้าว ลดราคาค่าบริการรถเกี่ยวนวดข้าว ควบคุมค่าเช่าที่นา และมาตรการที่ 2 ส่งเสริมกิจกรรมลดต้นทุนการผลิต ประกอบด้วย ส่งเสริมการทำปุ๋ยอินทรีย์ ส่งเสริมการผลิตเมล็ดพันธุ์ถ่ายทอดเทคโนโลยี ลดต้นทุนการผลิตและเพิ่มผลผลิตต่อไร่ และส่งเสริมสนับสนุนการใช้พลังงานทดแทนในการสูบน้ำ พร้อมกันนี้ทางกระทรวงพาณิชย์ได้เสนอแนวทางการช่วยเหลือเกษตรกร 6 โครงการ ได้แก่

1. โครงการสินเชื่อเพื่อรวบรวมข้าวและสร้างมูลค่าเพิ่มโดยสถาบันเกษตรกร (ธ.ก.ส./กรมส่งเสริมสหกรณ์เป็นผู้รับผิดชอบ) 2. โครงการลดดอกเบี้ยเงินกู้ให้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว (ธ.ก.ส. เป็นผู้รับผิดชอบ) 3. โครงการชดเชยดอกเบี้ยให้ผู้ประกอบการค้าข้าวในการเก็บสต็อก (กรมการค้าภายใน เป็นผู้รับผิดชอบ) 4. โครงการสินเชื่อเกษตรกรเพื่อชะลอการขายข้าวเปลือก (ธ.ก.ส. เป็นผู้รับผิดชอบ) 5. โครงการจัดตลาดนัดข้าวเปลือก (กรมการค้าภายใน เป็นผู้รับผิดชอบ) และ 6. โครงการประกันภัยข้าวนาปี ปีการผลิต 2558/59

ที่ประชุมรับทราบผลความคืบหน้าที่ตำรวจเข้าตรวจสอบข้าวในสต็อกของรัฐบาลที่ไม่ผ่านมาตรฐาน ณ วันที่ 28 มิ.ย. 58 โดยองค์การคลังสินค้า (อคส.) มีจำนวนคลังที่แจ้งความ 792 คลัง ตรวจสอบแล้วมีกลุ่มผิดชนิดข้าว กลุ่มข้าวเสีย และกลุ่มข้าวไม่ตรงตามมาตรฐาน รวมทั้งสิ้นจำนวน 344 คลัง ส่วน อ.ต.ก. มีจำนวนคลังที่แจ้งความ 271 คลัง ตรวจสอบแล้วมีกลุ่มผิดชนิดข้าว กลุ่มข้าวเสีย และกลุ่มข้าวไม่ตรงตามมาตรฐาน รวมทั้งสิ้นจำนวน 70 คลัง

ด้าน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กล่าวภายหลังประชุมว่า ที่ประชุมได้หารือถึงมาตรการแก้ไขปัญหาการบริหารจัดการข้าวทั้งระบบ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการระบายข้าว การตรวจสอบคุณภาพข้าว ที่มีผลกระทบโดยตรง และเป็นปัญหาที่รัฐบาลต้องแบกรับภาระเอาไว้ทั้งหมด จึงต้องหาวิธีที่จะไม่ทำให้ระบบโครงสร้างข้าวเกิดความเสียหาย เพราะเป็นเรื่องที่ผูกพันมา โดยหากนโยบายแบบนี้ยังอยู่ จะทำให้ประเทศชาติล้มเหลวเรื่องข้าวอย่างมหาศาล ส่งผลกระทบกับประชาชน ขณะที่ สถานการณ์ข้าวในตลาดโลกก็กำลังขึ้นลงตามสภาพอากาศ จึงต้องหารือถึงการลดต้นทุนการผลิต โดยให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ร่วมกับกระทรวงมหาดไทยเป็นผู้ดำเนินการ ส่วนปัญหาข้าวในคลังที่ยังติดข้อกฎหมายนั้น ต้องใช้มติของที่ประชุม นบข.ถึงจะสามารถดำเนินการขายข้าวได้

“วันนี้ไม่มีอะไรที่งอกเงยได้เลย มีแต่ราคาที่ลดลง สุดท้ายข้าวก็จะป่น เพราะไม่มีคนซื้อ คุณภาพมันต่ำตั้งแต่ต้น ส่วนข้าวดีก็ขายได้ แต่ไม่สามารถชดเชยความเสียหายทั้งระบบได้ จึงขอฝากเกษตรกรว่า หากมีนโยบายแบบนี้ไม่ได้ทำให้อะไรดีขึ้นเลย ในอนาคตยังยากจนเหมือนเดิม” นายกรัฐมนตรีกล่าว

พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า ขอให้เกษตรกรร่วมมือกับรัฐบาลในการแก้โครงสร้างการผลิตข้าวทั้งระบบซึ่งต้องใช้เงินและเวลามหาศาล แต่ต้องค่อยเป็นค่อยไป เพราะต้องใช้งบประมาณทุกเรื่องที่เป็นความล้มเหลวที่ผ่านมา และว่าปัจจุบันรัฐบาลต้องจ่ายค่าเก็บรักษาข้าว 46 ล้านบาทต่อวัน

“ผมจำเป็นต้องพูด แต่ไม่อยากให้กระทบกับชื่อเสียงของประเทศไทยในทุกวงการ กำลังแก้ปัญหาทุกอย่าง” นายกรัฐมนตรียังขอความร่วมมือเกษตรกรและประชาชน อย่าออกมาประท้วง และต้องเข้าใจว่ารัฐบาลเดินหน้าแก้ปัญหาทุกเรื่อง ไม่เฉพาะเรื่องข้าว แต่ยังมีปัญหาเรื่องประมง และเศรษฐกิจภาพรวมอีก ขณะนี้ประเทศเสียหายมามากแล้ว ใครจะมาแก้ปัญหาให้ หากแก้ไม่ได้จะทำอย่างไร




กำลังโหลดความคิดเห็น