“บิ๊กตู่” นั่งหัวโต๊ะคณะกรรมการนโยบายและบริหารจัดการข้าว เผยโครงการจำนำข้าวสร้างความเสียหาย 4 แสนล้านบาท สั่งตั้งทีมงานสอบคุณภาพข้าวนอกสต๊อก เน้นข้าวถุงจำหน่ายของรัฐบาลชุดที่ผ่านมา พบมีปริมาณอยู่ 3-4 แสนตัน ขีดเส้นตรวจสอบ 3 เดือน
วันนี้ (18 พ.ค.) พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการนโยบายและบริหารจัดการข้าว (นบข.) ครั้งที่ 3/2558 โดยมี ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล รองนายกรัฐมนตรี พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์และคณะกรรมการเข้าร่วมประชุม
นางชุติมา บุณยประภัศร ปลัดกระทรวงพาณิชย์ แถลงว่า ได้มีการตั้งคณะอนุกรรมการตรวจสอบข้าวนอกสต๊อกซึ่งเป็นกรณีการทำข้าวถุงจำหน่ายของรัฐบาลชุดที่ผ่านมา ซึ่งจะต้องมีการส่งคืนมายังสต๊อกของรัฐบาล ดังนั้นจึงต้องมีการตรวจสอบว่าจะมีการส่งคืนในจำนวนเท่าไร โดยเบื้องต้นมีปริมาณอยู่ที่ 3-4 แสนตัน โดยเวลาตรวจสอบประมาณ 3 เดือน ซึ่งคณะอนุกรรมการชุดนี้จะแบ่งออกไปทำงานในทุกภาค
“เตรียมตั้งเข้ามาตรวจสอบคุณภาพข้าวที่เก็บไว้นอกคลัง จำนวน 4 คณะ โดยจะแบ่งตามภาคเพื่อตรวจสอบคุณภาพข้าวเปลือก และข้าวถุง ส่วนการจ่ายเงินให้แก่ชาวนาที่จังหวัดพิจิตร ของธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร หรือ ธ.ก.ส. ขณะนี้รัฐบาลได้ดำเนินการครบแล้ว”
ส่วนแนวทางการระบายข้าว ปลัดกระทรวงพาณิชย์ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการระบายข้าว ระบุว่า ได้รายงานในที่ประชุมถึงการระบายข้าว ในสต๊อกที่มีอยู่จำนวน 16 ล้านตันจากโครงการรับจำนำข้าว พบว่า มีข้าวคุณภาพดี 5 ล้านตัน ระบายไปแล้ว 2-9 ล้านตัน และจะดำเนินการระบายเพิ่มเติมอีก 2 ล้านตันในช่วงอีก 2 เดือน เนื่องจากไม่กระทบต่อข้าวนาปรังที่จะออกผลิตในช่วงเดือนพฤษภาคม ส่วนข้าวคุณภาพต่ำมากกว่า 11 ล้านตันนั้นจะให้ทางผู้เชี่ยวชาญมาดำเนินการตรวจคุณภาพของข้าว (เซอเวเยอร์) ที่ได้รับการยอมรับมาตรวจสอบสต๊อกข้าว ซึ่งจะมีต้นทุนการเก็บรักษาสูงกว่าราคาขายจึงมีความเป็นไปได้ที่จะขายข้าวคุณภาพต่ำนี้ให้แก่โรงงานอุตสาหกรรม ประเภทแอลกอฮอลล์ หรือเอทานอล แต่ทั้งนี้จะต้องได้ราคาที่ไม่ต่ำจนเกินไป
ส่วนข้าวที่มีคุณภาพดี คาดว่าในเดือนพฤษภาคมนี้จะสามารถขายได้เพิ่มอีก 2 ล้านตันในราคาที่ 8,200-8,500 บาทต่อตัน คาดว่าหากขายข้าวในโครงการรับจำนำข้าวครบทั้งหมด จะได้เงินรวม 2 แสนล้านบาท จากต้นทุนรับซื้อเดิม 6 แสนล้านบาท เท่ากับว่าโครงการนี้สร้างความเสียหายให้รัฐบาลจำนวน 4 แสนล้านบาท
ทั้งนี้ หากสามารถระบายข้าวในสต๊อกได้ที่มีอยู่ 16 ล้านตัน จะได้เงินกลับมาประมาณ 2 แสนล้านบาท จากต้นทุน 6 แสนล้านบาทจะทำให้รัฐขาดทุน 4 แสนล้านบาท อย่างไรก็ตาม ในช่วงต้นปีจนถึงเดือนพฤษภาคมนี้สามารถระบายข้าวไปได้ 3.4 ล้านตัน และกระทรวงพาณิชย์ยังคงตั้งเป้าการระบายข้าวไว้จะไม่ต่ำกว่า 10 ล้านตัน โดยราคาการระบายข้าวจะอยู่ที่ประมาณ 8,200-8,500 บาทต่อตัน