เพชรบูรณ์/พิษณุโลก - ป่าไม้เตรียมตั้งจุดสกัดบนทางขึ้น-ลงภูทับเบิก พร้อมไล่ตรวจรีสอร์ตก่อนอธิบดีกรมป่าไม้ลงพื้นที่เร็ววันนี้ ขณะที่ผู้ว่าฯ ย้ำในวงประชุมสางปัญหารีสอร์ตทับเบิก บอกใครจะสร้างรีสอร์ตห้องพักเพิ่มต้องได้รับไฟเขียวจากศูนย์พัฒนาชาวเขา-ผู้ใหญ่บ้านก่อน พบที่ผ่านมามีการขายกะหล่ำทอดน้ำปลาถึงจานละร้อยบาท
วันนี้ (15 ต.ค.) นายมานพ สายอุ่นใจ ผู้อำนวยการสำนักจัดการทรัพยากรที่ 4 สาขาพิษณุโลก เปิดเผยว่า อธิบดีกรมป่าไม้สั่งการตั้งจุดสกัดทางขึ้น-ลงภูทับเบิก และจะประสานข้อมูลร่วมกับศูนย์สงเคราะห์ชาวเขา ลงพื้นที่ตรวจรีสอร์ตภูทับเบิกว่ามีการใช้ประโยชน์ที่ดินตรงตามเงื่อนไขการขอใช้ประโยนช์หรือไม่ ก่อนที่อธิบดีกรมป่าไม้จะมาตรวจอีกครั้งในเร็วๆ นี้
หลังจากนายบัณฑิตต์ เทวีทิวารักษ์ ผวจ.เพชรบูรณ์, นายไกรสร ทองฉลาด รอง ผวจ.เพชรบูรณ์, นายเสรี หอมเกสร นายอำเภอหล่มเก่า พร้อมตัวแทนส่วนภาคราชการในจังหวัดเพชรบูรณ์นับ 10 หน่วยงาน เช่น ศูนย์พัฒนาชาวเขาจังหวัด, พาณิชย์จังหวัด, การค้าภายในจังหวัด, ป่าไม้ อบต.วังบาล, การท่องเที่ยว (ททท.), สภาหอการค้าจังหวัด และสภาอุตสาหกรรมจังหวัดเพชรบูรณ์ ร่วมหารือกันเมื่อวานนี้ (14 ต.ค.) ที่โบสถ์คริสตจักรภูทับเบิก ต.วังบาล อ.หล่มเก่า จ.เพชรบูรณ์ ถึงแนวทางการแก้ไขปัญหาบนภูทับเบิกในช่วงเทศกาลการท่องเที่ยว โดยมีผู้ใหญ่บ้านและผู้ประกอบการเจ้าของรีสอร์ตและร้านค้าจำนวนกว่า 114 รายเข้าร่วม
ผลสรุปให้วางกรอบ 5 ข้อ คือ 1. ปัญหาสิ่งปลูกสร้าง ซึ่งจะมีกฎหมายผังเมืองรวมเพชรบูรณ์ ประกาศใช้ในเดือนธันวาคมนี้ 2. เรื่องการปิดป้ายแสดงราคาที่พัก และอาหารการกิน 3. เรื่องขยะ ซึ่งให้ทางรีสอร์ตจัดเก็บและคัดแยก รวมทั้งรณรงค์ให้นักท่องเที่ยวนำขยะกลับไป 4. เรื่องความปลอดภัยนักท่องเที่ยวและการติดตั้งถังเคมีดับเพลิง และ 5. ให้ทางรีสอร์ตมีส่วนร่วมในการช่วยเหลือชุมชนและหมู่บ้าน มาขอความร่วมมือจากผู้ประกอบการ
ผู้ว่าราชการจังหวัดเพชรบูรณ์กล่าวถึงมาตรการแก้ไขปัญหาระยะสั้นในประเด็นสิ่งก่อสร้างรีสอร์ตเพิ่มนั้นต้องมีคนรับผิดชอบ, ราคาการบริการต้องไม่เอาเปรียบ และราคาอาหารการกินต้องเป็นธรรม, การเปิดเว็บไซต์แสดงราคาห้องขนาดนี้ถ่ายรูปแล้ว แต่มาเห็นจริงไม่เป็นไปตามรูป, การบริหารจัดการขยะจากการท่องเที่ยวที่เกิดขึ้นอย่างมหาศาล ก็ขอความร่วมมือจากรีสอร์ตให้ช่วยกันรณรงค์ให้นักท่องเที่ยวนำขยะติดกลับมาทิ้งข้างล่าง และพิจารณาการแจกถุงดำแก่นักท่องเที่ยวอีกด้วย
ระยะยาว จังหวัดเพชรบูรณ์จะประกาศใช้กฎหมายผังเมืองรวมให้ทางรีสอร์ตเตรียมเข้าสู่ระบบ โดยต้องขออนุญาตก่อสร้าง และหากไม่ถูกต้องก็ต้องมีการปรับปรุงแก้ไข การออกข้อกำหนดการก่อสร้างอาคารสูงของท้องถิ่น และการจัดทำฐานข้อมูลทำสำมะโนประชากรและเขตที่ดิน โดยจะขอทางอธิบดีกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการจัดระบบฐานข้อมูลให้เป็นปัจจุบันและตรงข้อเท็จจริงให้มากที่สุด
“นับจากนี้ผู้ประกอบการรายใดจะก่อสร้างเบื้องต้นต้องมีการรับรองจากศูนย์พัฒนาชาวเขาและผู้ใหญ่บ้านก่อนว่าเป็นราษฎรภูทับเบิก เพื่อจัดระเบียบให้ถูกต้อง หากกฎหมายออกมาให้แก้ไข และยังไม่ยอมแก้ก็ต้องรื้อถอน”
กรณีผู้ประกอบการปั้นไดโนเสาร์ยักษ์บนภูทับเบิกนั้น นายบัณฑิตต์บอกว่า ไม่เห็นด้วย หากเป็นกะหล่ำปลีดอกใหญ่น่าจะดีกว่า ส่วนรีสอร์ตใดทำผิดกฎหมาย บุกรุกพื้นที่ จะถูกดำเนินคดี
ขณะที่นางศรีสุรางค์ หล้าส่องสี การค้าภายในจังหวัด ได้หยิบประเด็นเรื่องกะหล่ำปลีทอดน้ำปลา ราคาจานละ 100 บาท เนื่องจากมีนักท่องเที่ยวร้องเรียน ถือว่าเป็นสิ่งไม่ถูกต้อง และร้านค้าจะต้องปิดป้ายแสดงราคาให้ชัดเจน
ด้าน นพ.พิเชษฐ์ บัญญัติ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด กล่าวเน้นเรื่องความสะอาดและน้ำดื่ม ซึ่งมีบางรีสอร์ตต้องการประหยัดด้วยการทำน้ำดื่มเอง จึงแจ้งเตือนว่าหากไม่ขออนุญาตจะถือว่าผิดกฎหมาย
นายวันชัย ชยารมณ์ ประธานชมรมท่องเที่ยวภูทับเบิก บอกว่า การลงทุนสร้างรีสอร์ตบนภูทับเบิก ถ้าเป็นชาวม้งในพื้นที่และไม่ได้บุกรุกป่าก็ถือว่าถูกต้อง สามารถขอไฟฟ้ากับการขยายถนนเพิ่มได้
ด้านนายใจ แซ่เถา ผู้ใหญ่บ้านหมู่ 14 ให้ความเห็นในที่ประชุมว่า ต้องการให้มีหน่วยงานราชการเข้ามากำกับดูแลรีสอร์ตบนภูทับเบิกอย่างเข้มงวด หากมีการฝ่าฝืนไม่เป็นไปตามข้อตกลงให้มีการลงโทษ แต่ยอมรับมีความกังวลเรื่องน้ำไม่เพียงพอ และการปลูกสร้างรีสอร์ตชิดถนนทำให้การจราจรติดขัด จนมีปัญหาการขนส่งพืชผักการเกษตร ซึ่งต้องเลี่ยงหรืออ้อมไปใช้ถนนเส้นทางอื่นแทน