ภูทับเบิก อยู่ในพื้นที่หมู่ 14 และ 16 ต.วังบาล อ.หล่มเก่า จ.เพชรบูรณ์ เดิมเป็นถิ่นอาศัยของชาวไทยภูเขาเชื้อสายชนเผ่าม้ง ส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกรรมแบบขั้นบันไดตามเชิงเขา
สภาพภูมิประเทศเป็นภูเขาน้อยใหญ่สลับกัน ด้วยภูมิอากาศที่หนาวเย็นตลอดปี เพราะได้รับอิทธิพลร่องลมเย็นจากเทือกเขาหิมาลัย จึงเหมาะสำหรับการปลูกพืชผักผลไม้และต้นไม้เมืองหนาว
ชื่อของภูทับเบิก เคยได้ยินมาประมาณ 10 ปีก่อน ช่วงที่ไปรับน้องใหม่ที่อุทยานแห่งชาติภูหินร่องกล้า จ.พิษณุโลก ตอนนั้นได้ยินมาว่าเป็นเส้นทางผ่านไร่กะหล่ำปลีของชาวเขาเผ่าม้ง แล้วไปออก อ.หล่มเก่า จ.เพชรบูรณ์
เคยมีความคิดว่า จากภูหินร่องกล้า อยากจะไปถึงจุดนั้นสักครั้ง แต่ก็ไม่ได้ไปเสียที เพราะการเดินทางไปถึงจุดนี้ต้องใช้รถยนต์ส่วนตัว อีกทั้งตรงจุดนั้นเป็นทางลงเขาต่อเนื่อง เขาว่ากันว่าอันตรายมาก
ผ่านไปประมาณ 2-3 ปี ได้ยินมาว่าภูทับเบิกเป็นที่พูดถึงในหมู่นักท่องเที่ยว โดยเฉพาะความสวยงามของธรรมชาติ กับทะเลหมอกยามเช้า ชมดาวในเวลากลางคืน ประกอบกับไร่กะหล่ำปลีที่ไกลสุดลูกหูลูกตา และอากาศเย็นตลอดทั้งปี
ถึงกับมีสโลแกนว่า “ค่ำคว้าดาว เช้าคว้าหมอก”
ที่ฮือฮาที่สุดก็เห็นจะเป็นประเด็นร้อนในสังคมออนไลน์ เมื่อมีสองหนุ่มนักเดินทางตั้งกระทู้ในเว็บไซต์พันทิป นึกสนุกอยากทำรายการโบกรถเที่ยวจากปากซอยในกรุงเทพฯ ไปถึงภูทับเบิกโดยอาศัยโบกรถและขอข้าวกิน
แม้จะอ้างว่าเพื่อเปิดมุมมองใหม่ในการโบกรถเที่ยว พร้อมถ่ายทอดความมีน้ำใจของคนไทย แต่ก็ถูกวิจารณ์ถึงพฤติกรรมเอาแต่ได้ อาศัยน้ำใจของคนไทยในทางที่ผิด ทั้งที่เป็นคนมีเงิน แต่กลับอยากเที่ยวแบบไม่ใช้เงินเพื่อเอามาอวด
แน่นอนว่าชื่อของแหล่งท่องเที่ยวอย่าง “ภูทับเบิก” ก็กลับมาเป็นที่พูดถึงอีกครั้ง
เมื่อชื่อเสียงของภูทับเบิกเป็นที่พูดถึงมาตลอด 2-3 ปีที่ผ่านมา อีกทั้งมีนักท่องเที่ยวขึ้นมาสัมผัสบรรยากาศเย็นสบายบนที่สูงตลอดปี ทำให้การท่องเที่ยวของที่นี่เติบโตขึ้น มาพร้อมกับรีสอร์ทที่ผุดขึ้นนับร้อยแห่งราวกับดอกเห็ด
ที่สุดแล้ว ในโลกโซเชียลก็มีการวิจารณ์ว่า ภูทับเบิกกำลังจะเปลี่ยนไป บ้านพัก รีสอร์ทที่ปลูกสร้างอยู่บนยอดเขา กลายเป็นความเสื่อมถอยของธรรมชาติ ซึ่งถูกทำลายจากน้ำมือของมนุษย์และคำว่าธุรกิจ มีทั้งคนที่เห็นด้วย และไม่เห็นด้วย
ฝ่ายที่เห็นด้วยก็เห็นว่า เมื่อก่อนภูทับเบิกยังเป็นไร่กะหล่ำปลี มีนักท่องเที่ยวมากางเต้นท์นอน แต่ปัจจุบันเข้าสู่ยุคธุรกิจเต็มตัว หากหน่วยงานที่ดูแลเพิกเฉยต่อไปอาจทำให้ธรรมชาติถูกทำลาย บางคนถึงกับสงสารกับภาพที่เกิดขึ้น
ส่วนฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยก็มองว่า เมื่อต้องการความสะดวกสบายก็ต้องแลกด้วยธรรมชาติ ปลูกกะหล่ำปลีรายได้ไม่ดีเท่ากับสร้างรีสอร์ท บางรายยังกล่าวว่า กลัวทำลายธรรมชาติก็ไม่ต้องมาเที่ยว หรือแม้กระทั่งถึงจะจ่ายแพงแต่ก็ยอม
สิ่งที่จะบอกเล่าต่อไปนี้ เป็นประสบการณ์การท่องเที่ยวภูทับเบิก ในช่วงที่ดรามากำลังคุกรุ่น กับภาพที่อยู่ตรงหน้าซึ่งบ่งบอกถึงความเปลี่ยนแปลงของจุดชมวิวทะเลหมอกที่สูงที่สุดอย่างไม่หยุดนิ่ง
เห็นมาอย่างไร ก็เขียนไปตามนั้น ถ้าไม่พอใจประการใด ขออภัยมาล่วงหน้า ณ ที่นี้ ...
OOO
เมื่อสองเดือนก่อนผ่านมา เพื่อนที่คณะชักชวนไปเที่ยวภูทับเบิกด้วยกัน โดยช่วยกันหารค่ารถตู้ ค่ารถสองแถว และค่าที่พักด้วยกัน โดยเพื่อนจ่ายมัดจำค่าที่พักล่วงหน้าไปก่อน เบ็ดเสร็จจ่ายไปประมาณ 2 พันกว่าบาท
มาถึงวันจริง เราออกเดินทางจากกรุงเทพฯ มาถึงวัดพระธาตุผาซ่อนแก้ว บนทางหลวงหมายเลข 12 (พิษณุโลก-หล่มสัก) ต.แคมป์สน อ.เขาค้อ จ.เพชรบูรณ์ ในช่วงบ่าย ซึ่งเป็นจุดนัดพบของคนขับรถสองแถว 2 คันที่เราเหมากันไป
เหตุผลหลักๆ ที่พวกเราเหมารถสองแถวขึ้นไปภูทับเบิก เพราะเส้นทางช่วงดังกล่าวเป็นทางขึ้นเขาและทางโค้งต่อเนื่อง หากนำรถตู้ขึ้นไป คนขับไม่ชำนาญเส้นทาง อาจเสี่ยงต่ออุบัติเหตุตกภูเขาได้
เท่าที่สอบถามราคาเหมารถสองแถว ซึ่งเป็นรถกระบะติดหลังคา ปกติหากไปส่งด้านบนภูทับเบิก และนำเที่ยวสถานที่ท่องเที่ยวต่างๆ เที่ยวเดียวจะอยู่ที่ราคา 1,300-1,400 บาท แต่ถ้าจะให้ไปรับลงมาด้วยจะอยู่ที่ 1,700-1,800 บาท
หรือหากจะไปต่อที่อุทยานแห่งชาติภูหินร่องกล้า อ.นครไทย จ.พิษณุโลก ซึ่งอยู่ห่างจากภูทับเบิกออกไปอีก 23 กิโลเมตร ก็จะบวกเพิ่มอีก 500-600 บาท (ที่นั่นมีบ้านพักอุทยานแห่งชาติ แต่ต้องจองล่วงหน้า)
ราคานี้ไม่นับรวมช่วงเทศกาล เช่น ปีใหม่ สงกรานต์ หรือวันหยุดยาว ที่จะมีนักท่องเที่ยวขึ้นไปบนภูทับเบิกมากกว่านี้ ราคาจะอยู่ที่ราวๆ 2,500 บาท หากขึ้นไปบนภูหินร่องกล้าจะอยู่ที่ประมาณ 3,500 บาท
เขาบอกว่า ถ้าไม่จำเป็นจริงๆ ในช่วงเทศกาล เขาก็ไม่อยากจะรับงาน เพราะช่วงนั้นการจราจรบนทางขึ้นภูทับเบิกจะติดขัด รถเคลื่อนตัวช้า ค่อยๆ เขยื้อนไปบนทางขึ้นเขาต่อเนื่อง 13 กิโลเมตร ไม่คุ้มกับค่าน้ำมันและค่าสึกหรอ
ผมนึกถึงบรรยากาศ “แย่งกันกิน-แย่งกันใช้” ในสถานีขนส่ง ปั้มน้ำมัน หรือแหล่งท่องเที่ยวชื่อดังแล้วก็พอเข้าใจ สภาพของภูทับเบิกในช่วงเทศกาลวันหยุดยาว
นึกภาพรถติดและผู้คนเบียดเสียดกันขึ้นภูทับเบิกแล้วก็คงจะดูไม่จืดนัก ...
จากถนนพิษณุโลก-หล่มสัก บริเวณสี่แยกน้ำชุน เลยทางเลี่ยงเมืองหล่มสักมาเล็กน้อย ตรงไปทางหลวงหมายเลข 2372 ประมาณ 10 กิโลเมตร ก่อนที่จะถึงสามแยกทางเข้าภูทับเบิก ไปตามทางหลวงหมายเลข 2331 อีก 24 กิโลเมตร
จากจุดดังกล่าว มีป้ายบอกทางระบุว่า “สภาพของทางสายนี้ เป็นทางขึ้นเขาชัน และคดเคี้ยวเริ่มตั้งแต่กิโลเมตรที่ 8 การเดินทางใช้รถยนต์กระบะ (ปิคอัพ) สะดวกกว่า”
แต่ก็เห็นรถยนต์แทบทุกชนิดขึ้นไปบนภูทับเบิก ทั้งรถเก๋ง รถบรรทุกที่ขนวัสดุก่อสร้างไปก่อสร้างรีสอร์ท ไม่เว้นแม้กระทั่งจักรยานยนต์บิ๊กไบค์ที่แห่แหนมาซิ่งขึ้นภูเขากันเป็นหมู่คณะ แซงหน้ากันให้เห็นเป็นระยะ
คนขับรถกระบะเล่าว่า ภูทับเบิกเป็นเพียงไร่กะหล่ำปลีของชาวเขาเผ่าม้งที่อพยพมาอยู่ที่นี่นานแล้ว เพราะเป็นภูเขาสูง อากาศเย็นคงที่ตลอดปี ทำให้ผลผลิตของที่นี่สดและหวานกรอบกว่าที่อื่น
แต่เดิมนักท่องเที่ยวนิยมขับรถผ่านเพื่อชมความสวยงามของไร่กะหล่ำปลี กระทั่งกระแสภูทับเบิกมาบูมเมื่อสัก 2-3 ปีก่อน เพราะเป็นที่พูดถึงเรื่องทะเลหมอกยามเช้า กับอากาศเย็นตลอดทั้งปี
แรกเริ่มเดิมที ชาวเขานำพื้นที่ไร่กะหล่ำปลีบางส่วนมาเป็นสถานที่ให้นักท่องเที่ยวกางเต้นท์ ต่อมาจึงได้สร้างรีสอร์ท ที่เจ้าของมีทั้งชาวเขาเผ่าม้งเปลี่ยนอาชีพเพราะรายได้ดีกว่าปลูกกะหล่ำปลี และนายทุนจากที่ราบมาซื้อที่ดินต่อจากชาวเขา
โดยปกตินักท่องเที่ยวนิยมหลั่งไหลมาภูทับเบิกในช่วงวันเสาร์-อาทิตย์ ห้องพักถูกจองเต็มหมดทุกห้อง หากเป็นช่วงเทศกาล เช่น วันขึ้นปีใหม่ เทศกาลสงกรานต์ การจราจรที่นั่นจะติดขัดมาก
เมื่อถามถึงปัญหานอกจากการจราจรติดขัด เขาบอกว่าน้ำประปาจะไม่ค่อยมีปัญหา เนื่องจากน้ำประปาไหลดี จะมีก็แต่ไฟฟ้าดับบ้างในช่วงที่มีฝนตกและลมกรรโชกแรง
เมื่อรีสอร์ทผุดขึ้นมาราวกับดอกเห็ด ที่สุดแล้วก็ย้ายไปปลูกกะหล่ำปลีที่ต่ำลงมา แน่นอนว่าคุณภาพของกะหล่ำปลีก็ลดลงตามไปด้วย เนื่องจากอากาศเย็นน้อยกว่า ส่วนกะหล่ำปลีที่ปลูกบนภูทับเบิกยังคงมีอยู่ แต่ก็แตกต่างจากเมื่อก่อน
คนขับรถเขาบ่นกับผม เมื่อเห็นไร่กะหล่ำปลีแปลงหนึ่งติดป้ายคำว่า “ถ่ายรูป 20 บาท” ว่า “ถ้ามีคนคิดทำแบบนี้มากๆ อีกหน่อยจะไม่มีใครมาเที่ยว”
ไม่น่าเชื่อว่า วัฒนธรรม “เก็บเงินค่าถ่ายรูป” จากนักท่องเที่ยว ที่ผมเห็นบ่อยครั้งตามรถเข็นขายแมลงทอด ขายผัดไทย ขายของที่ระลึกบนถนนข้าวสาร ทุกวันหลังเลิกงาน จะลามมาถึงภูทับเบิกอีกด้วย
นอกจากรีสอร์ทจะทำให้ภูทับเบิกเปลี่ยนไปแล้ว พืชที่นำมาปลูกในภูทับเบิกก็เปลี่ยนไปด้วย โดยนำพืชเมืองหนาวแปลกๆ มาปลูก เช่น อะโวคาโด แมคคาเดเมีย ซึ่งหาซื้อได้บนแผงค้าตามจุดชมวิวต่างๆ
คนขับรถสองแถวเล่าว่า เริ่มจากเมื่อ 2-3 ปีก่อน ชาวเขามาจาก จ.เชียงใหม่ นำพันธุ์สตรอว์เบอร์รี ผลไม้เมืองหนาวยอดฮิตมาปลูกอยู่ 3 เจ้า แต่เมื่อได้รับความนิยมก็มีเกษตรกรปลูกตามมาเรื่อยๆ
มีหลายคนถามถึงรสชาติกะหล่ำปลี เนื่องจากที่รีสอร์ตจะใช้วัตถุดิบในพื้นที่ปรุงอาหาร จึงได้ลิ้มลองเมนูกะหล่ำปลีที่ปรุงเป็นอาหารแล้ว รสชาติหวานอร่อยจริง เทียบกับกะหล่ำปลีที่ขายในกรุงเทพฯ บางลูกใบจะเหม็นเขียว
แต่ก็น่าเป็นห่วงว่า เมื่อรีสอร์ตเข้ามารุกคืบไร่กะหล่ำปลีของชาวเขาภูทับเบิกไปเรื่อยๆ น่าเป็นห่วงว่าหากในอนาคตสภาพอากาศเปลี่ยนไป เราจะได้เห็นกะหล่ำปลีรสชาติแบบนี้หลงเหลืออยู่หรือเปล่า
OOO
ถ้าจะถามถึงสิ่งที่ได้พบเห็นจากภูทับเบิก เท่าที่เห็นด้วยสายตาก็เริ่มจากตั้งแต่ทางเข้าภูทับเบิก จะเห็นตลาดนัดเล็กๆ แผงลอยขายของข้างทาง ซึ่งนักท่องเที่ยวจะซื้ออาหาร เครื่องดื่ม เหล้าเบียร์ขึ้นไปกินบนภูทับเบิกก็เริ่มจากตรงนี้
แต่ก็ยังดีที่มันไม่มีร้านสะดวกซื้อยักษ์ใหญ่ เพราะถ้าต้องการแบบนั้นก็ต้องไปที่หล่มสัก หล่มเก่า หรือเขาค้อ ใครที่มาจากกรุงเทพฯ ไปตามถนนคชเสนีย์ (สระบุรี-หล่มสัก) แนะนำให้ซื้อมาจากตัวเมืองเพชรบูรณ์เลย เพราะกลางทางไม่ค่อยมีขาย
ระหว่างที่เรานั่งรถสองแถวขึ้นไปบนภูทับเบิก สังเกตเห็นยอดอนุสาวรีย์สามเหลี่ยมด้านบนสุดของภูเขา โดยที่ยังไม่เคยรู้มาก่อนว่ามันคืออะไร กระทั่งเรามาถึง “วัดป่าภูทับเบิก” ก็ถึงบางอ้อ
เพราะวัดป่าภูทับเบิกกำลังก่อสร้าง พระมหาธาตุเจดีย์โพธิปักขิยธรรม เจดีย์เพชร 37 ยอด สูง 80.90 เมตร มองเห็นได้แต่ไกลจากทางขึ้นภูทับเบิก และคาดว่าก่อสร้างแล้วเสร็จในวันวิสาขบูชาปี 2559
พระมหาธาตุเจดีย์โพธิปักขิยธรรม จะกลายเป็นแลนด์มาร์คแห่งใหม่ของที่นี่ ต่อจากจุดชมวิวภูทับเบิก ซึ่งเป็นที่ขึ้นชื่อของนักท่องเที่ยวที่จะเข้ามาสัมผัสหมอกและอากาศเย็น
ปัจจุบันดารานักแสดงชื่อดังอย่าง “ญาญ่า-อุรัสยา เสปอร์บันด์” และ “คิมเบอร์ลี แอน โวลเทมัส” เป็นเจ้าภาพประธานมหากฐิน เพื่อร่วมสร้างเจดีย์ดังกล่าวในเดือนพฤศจิกายนนี้ มีการขึ้นป้ายโฆษณาตั้งแต่ทางเข้าภูทับเบิกเลยทีเดียว
ภาพของผู้คนจำนวนมากเริ่มต้นจากบริเวณทางเข้าภูทับเบิก เยื้องประตูทางเข้าอุทยานแห่งชาติภูหินร่องกล้า (ด่านทับเบิก) มีร้านขายของที่ระลึก ขายพืชผลจากชาวเขา และจุดชมวิวถ่ายภาพ
ต่อจากนั้นจะเป็นถนนคอนกรีตเล็กๆ ไปตามไร่กะหล่ำปลี ปัจจุบันแปรสภาพเป็นรีสอร์ทและร้านอาหาร ที่แปลกที่สุดคือมีร้านอาหารจีนที่ขายขาหมูยูนนาน รวมทั้งคอกเลี้ยงแกะเข้ามาตั้ง ราวกับว่าเคยเห็นแบบนี้แถวเขาใหญ่ หรือวังน้ำเขียว
ห้องพักที่เรามาพักในวันนี้ เนื่องจากพวกเรามาเป็นหมู่คณะ เลยเช่าบ้านพักหลังใหญ่ในรีสอร์ทแห่งหนึ่ง มีอยู่ 3 ห้อง แต่ละห้องมี 2 เตียง หน้าบ้านมีโต๊ะสำหรับรับประทานอาหารและสังสรรค์ สนนราคาหลังละประมาณ 11,000 บาทต่อคืน
บรรยากาศที่นี่ก็เหมือนกับแหล่งท่องเที่ยวทั่วไป ตกกลางคืนเราก็จะได้ยินเสียงแต่ละห้องพักนั่งกินเหล้าสังสรรค์กัน ถ้าต้องการความสงบก็ออกไปตามถนนเพื่อชมความงามของแสงไฟจากถนนตอนกลางคืน และชมดาวระยิบระยับบนท้องฟ้า
นับว่ายังโชคดีที่ถึงแม้ภูทับเบิกจะเปลี่ยนไปอย่างไร แต่ธรรมชาติก็มีความกรุณาให้เราไม่หยุดหย่อน เช้ามาเราจึงได้เห็นทะเลหมอกปกคลุมดวงอาทิตย์ มองเห็นหมู่บ้านชาวเขาและไร่กะหล่ำปลี เป็นที่ตื่นตาตื่นใจแก่ผู้ร่วมทริปถ่ายรูปกันไม่หยุด
เมื่อสมควรแก่เวลาจึงกลับมาอาบน้ำ แต่งตัว ระหว่างเก็บของใส่กระเป๋าเดินทาง ได้ยินเสียงเพื่อนตะโกนบอกกับผมว่า “ไอ้อ๊อฟ (ชื่อเล่นของผู้เขียน) มาดูอะไรนี่ หมอกลงเต็มหน้าห้องพักเลย”
ทีแรกผมก็ไม่คิดจะเชื่อ แต่ด้วยความอยากรู้อยากเห็นจึงออกมาจากห้อง ปรากฏว่าหมอกลงจริงๆ ลงมาถึงบ้านพัก แทบมองไม่เห็นอะไรเลย แต่ยังดีที่เป็นอากาศบริสุทธิ์ ไม่ใช่หมอกควันเวลาที่เราอยู่ท่ามกลางควันไฟอะไรบางอย่าง
ออกจากที่พัก รถสองแถวพาพวกเราไปยังจุดสูงสุดของภูทับเบิก ก่อนกลับลงมาด้านล่าง ปรากฏว่าก่อนจะถึงทางขึ้น การจราจรติดขัดแทบไม่ขยับ พวกเราจึงตัดสินใจลงมาเอง โดยให้คนขับรถไปหาที่จอดรถแล้วหาที่นัดพบหลังลงมา
ปรากฏว่าเดินเท้าก่อนถึงทางขึ้นจุดสูงสุด พบรถบรรทุกสิบล้อ บรรทุกวัสดุก่อสร้างที่คาดว่าจะไปสร้างรีสอร์ต จอดเสียกลางทาง มีตำรวจ 2-3 นายคอยโบกให้รถสลับกันสวนทาง เพราะถนนแคบเหลือเพียงแค่เลนเดียว
พอขึ้นมาด้านบนจุดสูงสุดของภูทับเบิก เห็นที่มาที่ไปของภูทับเบิกก็ถึงบางอ้อ เพราะคนที่ริเริ่มแหล่งท่องเที่ยวที่นี่ก็คือ "ดิเรก ถึงฝั่ง" อดีตสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) และอดีต ส.ว. นนทบุรี สมัยที่ดำรงตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัดเพชรบูรณ์
สมัยที่เป็นรองผู้ว่าฯ ดิเรกเข้ามาเก็บข้อมูลสภาพพื้นที่ของจังหวัด พบว่าภูทับเบิกเป็นพื้นที่ค่อนข้างปิด ไม่สามารถขึ้นลงได้เพราะเส้นทางเปลี่ยว ถนนทรุดโทรมและสูงชัน ต้องใช้รถยนต์ขับเคลื่อนสี่ล้อเดินทาง
เมื่อดิเรกได้เข้ามาดำรงตำแหน่งผู้ว่าฯ เพชรบูรณ์ในปี 2544 จึงเข้ามาสำรวจที่นี่ พบว่าสามารถพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยวได้ จึงอาศัยมวลชนในพื้นที่พัฒนา และของบประมาณจากรัฐบาลเข้ามาพัฒนาถนนทางขึ้นภูทับเบิกจนใช้การได้
นอกจากนี้ ยังได้จัดสร้างสถานที่กางเต็นท์สำหรับรองรับนักท่องเที่ยวและสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ และดิเรกประสานสื่อมวลชนทุกแขนงให้เข้ามาพักผ่อนเพื่อสัมผัสอากาศหนาวเย็น จึงกลายมาเป็นแหล่งท่องเที่ยวยอดนิยมในปัจจุบัน
ปัจจุบันจุดสูงสุดของภูทับเบิก ซึ่งเป็นจุดชมวิวและพระอาทิตย์ขึ้น และเป็นจุดสูงสุดของจังหวัดเพชรบูรณ์ จากระดับน้ำทะเลปานกลาง 1,768 เมตร อยู่ในความดูแลของกลุ่มวิสาหกิจชุมชนท่องเที่ยวภูทับเบิก
สังเกตเห็นสภาพทางขึ้นจุดสูงสุดของภูทับเบิกในวันนี้ ไม่ต่างไปจากถนนคนเดิน เพราะมีสินค้าพืชผักผลไม้ ของที่ระลึกขายจำนวนมาก บางอย่างก็ไม่ได้มาจากภูทับเบิกแต่มาขายที่นี่
เช่น เครื่องดื่มแอลกอฮอล์รสผลไม้ ดูฉลากแล้วปรากฎว่าผลิตที่ จ.เชียงใหม่ อารมณ์คล้ายกับเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ยี่ห้อหนึ่ง ผลิตที่ฉะเชิงเทราแต่มาขาย 3 ขวดร้อยตามแผงลอยข้างทางเส้นเขาใหญ่-วังน้ำเขียวยังไงยังงั้น
ก่อนกลับบ้าน เห็นเพื่อนฝูงซื้อของฝากติดไม้ติดมือกลับบ้านทั้งกะหล่ำปลี เบบี้แครอท เผือก รวมทั้งเสื้อทีเชิ้ตที่เปรียบเสมือนเคยมาเยือนที่นี่มาแล้ว แต่ส่วนตัวคิดว่าหากซื้อของสดกลับไป ถึงบ้านตอนดึกคงหมดความสดพอดี
ท้ายที่สุดเลยได้มาแค่ผ้าพันคอทอคำว่า “ภูทับเบิก” กลับกรุงเทพฯ แทน ...
OOO
สิ่งที่ได้พบเห็นจากภูทับเบิกมาตลอด 2 วัน 1 คืน หากจะถามว่า ภูทับเบิกเสื่อมโทรมลงไหม
ภาพของรีสอร์ทที่เกิดขึ้นอย่างไม่หยุดยั้ง บ่งบอกได้ว่าความเป็นธรรมชาติของที่นี่เริ่มจะเสื่อมโทรมแล้ว ตามยุคสมัยที่เปลี่ยนไป
แม้การเกิดขึ้นของรีสอร์ทบนภูทับเบิก อาจเรียกได้ว่าไร้ซึ่งการควบคุม แต่ก็ยังดีกว่าเขาใหญ่ วังน้ำเขียว ที่ไม่ใช่แค่รีสอร์ท แต่ยังมีบ้านพักตากอากาศ มีคอนโดมิเนียมสร้างให้เศรษฐีจับจองเป็นเจ้าของเสียด้วยซ้ำ
แต่หากนักท่องเที่ยวยินดีที่จะจ่ายเพื่อซื้อความสะดวกสบาย แต่อยากสัมผัสธรรมชาติแบบทะเลหมอกยามเช้า อากาศเย็นบนขุนเขา จะปฏิเสธการเกิดขึ้นของรีสอร์ทก็คงต้องถามกันหลายฝ่าย
หากจะคิดกันในมุมบวก เพื่อนร่วมทริปคนหนึ่งบอกกับผมว่า จะถามว่าภูทับเบิกเสื่อมโทรมจริงไหม ก็เสื่อมโทรมจริง
"แต่การมีรีสอร์ทเกิดขึ้น มันก็เป็นความสวยงามอีกแบบหนึ่งไม่ใช่หรือ ..." เพื่อนผมกล่าว
ฟังอย่างนี้ก็ยังดีกว่าความเห็นในโลกโซเชียลบางคนที่กล่าวว่า “ถ้าเป็นห่วงธรรมชาติมากนักก็อย่ามาเที่ยวที่นี่สิ!”
แม้จะเห็นอะไรแปลกๆ อย่างร้านอาหารจีนขายขาหมูยูนนาน หรือคอกเลี้ยงแกะอยู่ในภูทับเบิก แต่ก็ยังดีที่มันไม่เลยเถิดถึงขั้นมีร้านสะดวกซื้อชื่อดัง มีตู้เอทีเอ็ม หรือมีสถานบันเทิงมาตั้ง ไม่อย่างนั้นจะยิ่งเละเทะลงไปอีก
หลังกลับจากภูทับเบิก ทราบมาว่าโต๊ะข่าวภูมิภาคได้เจาะลึกปัญหาผู้ประกอบการก่อสร้างรีสอร์ตเพื่อรองรับนักท่องเที่ยวมากขึ้น ส่งผลกระทบทั้งการจราจร ปัญหาขยะ น้ำประปา แม้กระทั่งราคาห้องพักรวมทั้งสินค้าและบริการแพงเกินจริง
คำถามที่คิดอยู่ในใจก็คือ ภูทับเบิกในวันข้างหน้าจะไปทางไหน อยากจะให้ภูทับเบิกเป็นแบบไหนอย่างที่ควรจะเป็น คนที่อยู่ในสังคมเมืองอย่างผมคงให้คำตอบไม่ได้หรอก เป็นเรื่องที่คนภูทับเบิกต้องแก้ปัญหาและจัดการตนเอง
หรือไม่เช่นนั้นก็คงต้องมีการจัดระเบียบภูทับเบิก โดยอาศัยกลไกของทางราชการ เพื่อไม่ให้มันเละเทะไปมากกว่านี้ แต่ก็ต้องพบกับการเผชิญหน้ากับชาวเขาเผ่าม้งและนายทุนรีสอร์ต อาจกลายเป็นหนังม้วนยาวที่หาตอนจบได้ยาก
ถึงที่สุดแล้ว หากภูทับเบิกยังไม่เละเทะไปมากกว่านี้ ก็ยังคิดว่าโอกาสหน้าหวังว่าคงได้มาเยือนอีกครั้ง.