xs
xsm
sm
md
lg

ตามส่อง “ภูทับเบิก” (จบ)-ป่าไม้รับไม่รู้ใครเป็นใครบนภูทับเบิก-แฉนายทุนรู้ทั้งรู้ไร้เอกสารสิทธิยังซื้อ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


เพชรบูรณ์ - เจ้าหน้าที่ป่าไม้ยันไม่เคยรู้ใครเป็นใครบน “ภูทับเบิก” ชี้ตรงไหนมีแต่อ้างเป็นของชาวเขา ระบุหน่วยงานที่ดูแลไม่เคยรายงานข้อมูล ขณะที่ผู้นำชุมชน-เจ้าของรีสอร์ตชาวม้งบอก “ภูทับเบิก” เปลี่ยนไปตามความต้องการนักท่องเที่ยว ยันนายทุนต่างถิ่นรู้ทั้งรู้ ที่ดินไร้เอกสารสิทธิยังซื้อ บางรายซื้อไม่ได้ขอเช่าแทน

วันนี้ (6 ต.ค.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังปมปัญหาที่เกิดขึ้นกับ “ภูทับเบิก” แหล่งท่องเที่ยวชื่อดังของเพชรบูรณ์ ถูกวิพากษ์วิจารณ์กันอย่างกว้างขวาง และหลากหลายแง่มุม เมื่อเร็วๆ นี้ นายเสรี หอมเกษร นายอำเภอหล่มเก่า จ.เพชรบูรณ์ ได้แจ้งตัวแทนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น 2 แห่ง ได้แก่ อบต.วังบาล และ อบต.บ้านเนิน ที่ดูแลภูทับเบิกและพื้นที่ต่อเนื่องกับภูทับเบิก

โดยแจ้งให้เชิญเจ้าของ ผู้ประกอบการรีสอร์ต ร้านค้าบนภูทับเบิก มาประชุมหารือร่วมกันเพื่อเตรียมความพร้อมในการรองรับสถานการณ์ด้านการท่องเที่ยวในช่วงไฮซีซันที่จะถึงนี้ นอกจากนี้ยังจะขอความร่วมมือในการจัดระเบียบการใช้พื้นที่, หาแนวทางแก้ไขปัญหาขยะตกค้าง, การจราจรติดขัด และมาตรการป้องกันการเอารัดเอาเปรียบนักท่องเที่ยว

เนื่องจากก่อนหน้านี้ภูทับเบิกถูกนักท่องเที่ยวโพสต์ภาพและข้อความร้องเรียนและตำหนิเรื่องความสะอาดและไร้ระเบียบ รวมทั้งราคาห้องพัก-อาหารที่แพงเกินความเป็นจริง กระทั่งเกิดผลกระทบต่อภาพลักษณ์การท่องเที่ยวของเพชรบูรณ์

ด้านนายประจักษ์ มิยา ตัวแทนสำนักจัดการทรัพยากรป่าไม้ที่ 4 สาขาพิษณุโลก กรมป่าไม้ กล่าวว่า แม้ป่าไม้จะเป็นเจ้าของบ้าน แต่เมื่อบ้านถูกเช่าไป โดยศูนย์พัฒนาสงเคราะห์ชาวเขา ซึ่งเป็นผู้ดูแล ก็ควรจะจัดระเบียบว่าจะดูแลอย่างไร ถ้าไม่อยู่ในเงื่อนไขหรือข้อกำหนดของหน่วยงานที่เอาพื้นที่ไปก็ควรแจ้งให้ดำเนินการด้านใด ด้านหนึ่งอย่างที่เคยปฏิบัติกันมา

นอกจากนี้ ทางศูนย์ฯ ต้องสำรวจในพื้นที่ว่ามีการก่อสร้างอะไร จากนั้นจึงแจ้งให้ทางป่าไม้เรื่องการขออนุญาต ในฐานะที่ได้รับมอบพื้นที่ไปใช้ประโยชน์ ก็เหมือนคนเช่าบ้าน ถ้าบ้านผุบ้านพังก็ต้องแจ้งให้เจ้าของบ้านช่วยซ่อมให้ กรณีนี้ก็เช่นเดียวกัน ฉะนั้นจึงควรประสานหน่วยป่าไม้เพื่อให้ทราบว่าขณะนี้ในพื้นที่เกิดอะไรขึ้น การพัฒนาคุณภาพชีวิตชาวเขามีการพัฒนาไปในด้านไหน หรือมีการกำหนดเงื่อนไขกันอย่างไร

นายประจักษ์บอกว่า ที่ผ่านมาทางหน่วยป่าไม้ไม่รู้และไม่มีข้อมูลอีกด้วย เคยมีการคุยกันหลายรอบ ซึ่งทางศูนย์ฯ ก็แจ้งว่าจะเข้าไปสำรวจชาวเขาที่อาศัยอยู่ว่าใครเป็นใครแต่ยังไม่สำเร็จสักทีซึ่งไม่รู้ว่าติดขัดหรือมีสาเหตุอะไร

“ยอมรับว่าไม่รู้ว่าชาวม้งที่อาศัยอยู่บนภูทับเบิก หรือบริเวณรอบๆ เป็นใคร หรือใครเป็นผู้ครอบครองและใช้ประโยชน์ที่ดินบ้าง พอจี้ไปตรงพื้นที่ไหนก็อ้างว่าเป็นของชาวเขา แต่จะเป็นชาวเขาจริงๆ หรือไม่ไม่ทราบเพราะไม่เคยได้รับการประสานข้อมูลอะไร เพียงแต่รู้ว่าพื้นที่ตรงนี้ตามอำนาจหน้าที่ทางป่าไม้จะเป็นผู้ดูแลเท่านั้น ในขณะที่มีหน่วยงานทางราชการอีกหน่วยควบคุมอยู่ด้วย” นายประจักษ์กล่าว

แหล่งข่าวหน่วยปฏิบัติการพิเศษที่ 38 ระบุว่า มีบางรีสอร์ตซึ่งถูกจับกุม และศาลสั่งรื้อถอนไปก่อนหน้านี้ แต่เนื่องจากคดียังไม่ถึงที่สุด ทราบว่าทางเจ้าของยื่นอุทธรณ์ ฎีกา จึงยังรื้อถอนไม่ได้ นอกจากนี้ พื้นที่ป่าบริเวณนี้อยู่ใน พ.ร.บ.ป่าไม้ พ.ศ. 2484 ทำให้ไม่สามารถใช้มาตรา 25 พ.ร.บ.ป่าสงวนแห่งชาติได้ จึงจำเป็นต้องใช้ช่องทางการบังคับคดี โดยรอให้คดีถึงที่สุดก่อน

ส่วนรีสอร์ตที่เคยถูกจับกุมดำเนินคดีไปแล้ว โดยเฉพาะในรายที่ศาลสั่งหรือมีคำพิพากษาไปแล้ว หากยังไม่หยุดก่อสร้างเพิ่มเติมก็คงต้องจับกุมเพื่อดำเนินคดีกันอีกรอบ ซึ่งตรงนี้หากดำเนินการต้องมีการบูรณาการกันหลายหน่วยงาน

นายบรรจง แซ่ท่อ ผู้ใหญ่บ้าน หมู่ 8 บ้านน้ำเพียงดิน ต.บ้านเนิน อ.หล่มเก่า จ.เพชรบูรณ์ กล่าวถึงรีสอร์ตที่ผุดขึ้นเป็นดอกเห็ดว่า ในหมู่บ้านมีรีสอร์ตผุดขึ้นกว่า 10 แห่ง เป็นของนายทุนจากภายนอก และลูกบ้านลงทุนเอง ส่วนรีสอร์ตที่สร้างบ้านพักตรงจุดเสี่ยงยอมรับว่ามีโอกาสเจอดินสไลด์ และดินโคลนถล่มค่อนข้างสูง เพราะภูเขาบริเวณนี้เป็นดิน หากเจอฝนตกหนัก ดินซึ่งอุ้มน้ำไว้มากจะสุ่มเสี่ยงต่อการเกิดดินสไลด์และดินโคลนถล่มขึ้น

“เรื่องที่ดินถูกเปลี่ยนมือยอมรับว่าน่าเป็นห่วงมาก หลังการท่องเที่ยวบูมหนักทำให้มีนายทุนทั้งจากชลบุรี จันทบุรี และระยอง มาติดต่อเพื่อถามซื้อที่ดินจากลูกบ้าน ซึ่งผมบอกย้ำไปว่าแม้ไม่เห็นด้วย แต่ถ้าเป็นความต้องการของลูกบ้านก็เป็นสิทธิของเขา ห้ามไม่ได้ แต่ได้บอกย้ำว่าที่ดินที่นี่ไม่มีเอกสารสิทธิ ฉะนั้นหากถูกทางหน่วยราชการเข้าจับกุมและต้องการที่ดินคืนจะมาไล่บี้ทวงเงินคืนจากลูกบ้านผมไม่ได้ ซึ่งบางรายเมื่อซื้อที่ดินไม่ได้ ก็ไปขอเช่าก็มี”

ผู้ใหญ่บ้านหมู่ที่ 8 บ้านน้ำเพียงดิน กล่าวว่า อย่างไรก็ตาม รีสอร์ตที่เกิดขึ้นมากมายบนภูทับเบิกเวลานี้จะโทษชาวม้งหรือผู้ลงทุนเพียงฝ่ายเดียวก็ไม่ถูก เพราะนักท่องเที่ยวต้องการความสะดวกสบาย จึงเป็นการตอบสนอง การนอนเต็นท์เช่าตอนนี้แทบไม่มีนักท่องเที่ยวอยากนอนกันแล้ว เพราะบางรายมาเป็นครอบครัว มีเด็ก มีผู้สูงอายุมาด้วย จะให้นอนเต็นท์คงไม่ไหว

ฉะนั้น เมื่อพอมีรีสอร์ตบ้านพักเป็นทางเลือก ทุกคนจึงแห่ไปใช้บริการกันหมด ทำให้ลูกบ้านที่เคยทำธุรกิจให้บริการเต็นท์เช่าจำเป็นต้องยุบ หรือปรับกิจการใหม่ โดยการหันไปปลูกบ้านพักทำรีสอร์ตกันหมด ยิ่งเวลานี้ห้องพักสร้างเท่าไหร่ก็ไม่พอเพราะถูกจับจองเต็มหมด จึงหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะทำให้มีการก่อสร้างรีสอร์ตบ้านพักเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องตลอด

นายเก่ง ทิวโพธิ์งาม เจ้าของสายหมอกรีสอร์ต กล่าวว่า การสร้างรีสอร์ตไม่ได้ทำลายธรรมชาติ เพราะพื้นที่ของตนก็ไม่ได้มีต้นไม้อยู่แล้ว ในทางตรงข้ามต่อไปต้องปลูกต้นไม้ให้มากขึ้น ส่วนบ้านพักตอนนี้ลงทุนไปเกือบ 2 ล้านบาท เพราะไม่พอให้บริการ จึงจำเป็นต้องก่อสร้างเพิ่ม

“ที่หวั่นเกรงว่าบ้านพักอยู่ใกล้หน้าผาจะไม่ปลอดภัย หรือโครงสร้างไม่แข็งแรง คงไม่เป็นปัญหาเพราะมีการขุดหลุมเทฟุตติ้งไว้ พร้อมเทคานคอนกรีต จึงน่าจะแข็งแรงปลอดภัย”

นายเก่งบอกต่อว่า เรื่องราคาค่าบริการบ้านพักในวันปกติ ก็คิดราคาห้องละ 1,500 บาท ส่วนวันหยุดจะคิดราคา 3,000 บาท พร้อมอาหารเช้า ซึ่งทุกรีสอร์ตบนภูทับเบิกต่างก็คิดราคาเดียวกันแทบทั้งสิ้น เนื่องจากวัสดุทุกอย่างต้องขนมาจากพื้นล่างทำให้ค่าใช้จ่ายทุกอย่างสูงเป็นเงาตามตัวไปด้วย เรื่องการกำจัดขยะทางรีสอร์ตจะจัดเก็บและขนไปทิ้งที่บ่อทิ้งขยะหมู่บ้าน ส่วนเรื่องน้ำก็จะสูบจากแหล่งน้ำที่ไหลมาจากอุทยานฯ แต่หากน้ำไม่พอก็ต้องซื้อน้ำมาเก็บไว้

นายเก่งกล่าวว่า สำหรับเรื่องการเสียภาษีนั้นยินดีเสียอยู่แล้ว แต่ที่ผ่านมาทาง อบต.ไม่ยอมรับ โดยแจ้งว่าที่ดินไม่มีเอกสาร ไม่สามารถจัดเก็บได้ ขณะที่เรื่องการขออนุญาตก่อสร้างบ้านพักก็เช่นกัน ยินดีเข้าระบบและพร้อมทำตามเงื่อนไขของกฎหมาย แต่ปัญหาก็คือ อบต.ปฏิเสธ

“หากมีหน่วยงานไหนเปิดให้เสียภาษี หรือขออนุญาต ก็พร้อมจะไปเดินเรื่อง”
 
ผู้สื่อข่าวรายงานอีกว่า นอกจากที่ดินบนภูทับเบิกจะถูกซื้อขายเปลี่ยนมือแล้ว ยังมีลักษณะการเลี่ยงกฎหมายด้วยการลงทุนร่วม อาทิ นายใจ แซ่ท่อ อายุ 36 ปี ราษฎรชาวเขาเผ่าม้งที่บ้านน้ำเพียงดินและญาติร้องเรียนว่า มีผู้รับเหมามาติดต่อญาติเพื่อขอเช่าที่ดินทำธุรกิจค้าวัสดุก่อสร้าง เสนอจะก่อสร้างบ้านพักให้ 3 หลังเป็นข้อแลกเปลี่ยน จึงตกลงทำสัญญาเช่าเป็นเวลา 5 ปี โดยหวังจะมีรายได้จากการให้นักท่องเที่ยวเข้าพัก แต่ตอนนี้ทราบว่าผู้รับเหมารายนี้นอกจากจะยังไม่ยอมทำตามสัญญาแล้ว ยังนำที่ดินไปแบ่งเป็นล็อกๆ เพื่อเปิดให้คนอื่นมาเช่าต่อ เมื่อญาติสอบถามก็ปฏิเสธ อ้างว่าอยากได้คืนก็ให้ไปฟ้อง เป็นต้น
กำลังโหลดความคิดเห็น