xs
xsm
sm
md
lg

ตามส่อง “ภูทับเบิก” 2-ม้งท้องถิ่นรับ “หวานอมขมกลืน” รัฐแก้ไม่ตกนายทุนเมินจับ-ปรับทำรีสอร์ตทับไร่กะหล่ำ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


เพชรบูรณ์ - “กรมป่าไม้” จ่อปูพรมลุยตรวจจับ “ภูทับเบิก” เร็วๆ นี้ เผยแม้ถูกจับ-ปรับดำเนินคดีไปแล้ว แต่นายทุนพื้นราบ-ชาวม้งเจ้าถิ่นไม่สน เดินหน้าสร้าง/ขยาย-ซื้อขายที่ดินเปลี่ยนมือ บ้างก็เลี่ยงทำสัญญาร่วมทุนแทนในพื้นที่ ขอใช้ประโยชน์กรมป่าไม้ไม่หยุด ยอมเสี่ยงแลกโอกาสโกยเงิน

วันนี้ (5 ต.ค.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ยิ่งใกล้ฤดูท่องเที่ยว เจ้าของรีสอร์ตบน “ภูทับเบิก” อุทยานแห่งชาติภูหินร่องกล้า ที่มีทั้งนักธุรกิจไทย-ชาวม้ง ต่างเร่งรีบก่อสร้างบ้านพักรีสอร์ตให้ทันฤดูกาล ทำให้มีรถปิกอัพ รถโม่ปูน รถบรรทุกวิ่งขึ้นลงภูทับเบิกต่อเนื่อง บ้างก็ต่อขยายพื้นที่เพิ่ม บ้างก็นำบ้านสำเร็จมาไว้บริการ บ้างก็ก่อสร้างอาคารชิดหน้าผาจนแลดูน่าหวาดเสียว บ้างก็รุกป่าชุมชน ถนนเข้าสู่บ้านทับเบิกจึงเต็มไปด้วยรีสอร์ต รอโกยเม็ดเงินจากนักท่องเที่ยว

ขณะที่การซื้อขายที่ดินบนภูทับเบิก และบ้านดอยน้ำเพียงดิน ต.วังบาล อ.หล่มเก่า จ.เพชรบูรณ์ ยังคงมีอย่างต่อเนื่อง ทำเลสวยราคายิ่งแพงเป็นเงาตามตัว นายทุนนักธุรกิจขอซื้อที่ดินจากชาวม้ง บางรายก็เลี่ยงเปลี่ยนเป็นร่วมลงทุนกับชาวม้งในพื้นที่แทน

นายใจ แซ่เถา ผู้ใหญ่บ้านหมู่ 14 บ้านทับเบิกร่วมใจ กล่าวว่า ในสมัยนายดิเรก ถึงฝั่ง อดีตผู้ว่าฯ เพชรบูรณ์ ได้มาบุกเบิกภูทับเบิกให้เป็นแหล่งท่องเที่ยว ตกลงให้ภูทับเบิกเติบโตไปในทิศทางรักษาพื้นที่ให้มากที่สุด ให้มีที่พักแบบโฮมสเตย์หรือนอนเต็นท์ ชมดาวบนดิน และสัมผัสไอหมอกกับความหนาวเย็น รวมทั้งให้ชาวม้งทับเบิกรักษาวิถีชีวิตชุมชนและอาชีพปลูกกะหล่ำปลีไว้ให้ได้ ซึ่งภูทับเบิกขึ้นชื่อว่าเป็นแหล่งปลูกกะหล่ำปลีที่ใหญ่ที่สุดในประเทศ

“แต่หลังการท่องเที่ยวภูทับเบิกเติบโตทิศทางก็เปลี่ยนไป ประกอบกับนักท่องเที่ยวต้องการความสะดวกสบายและยินดีจ่าย ทำให้มีนักลงทุน ซึ่งเป็นคนไทยพื้นราบมาสร้างรีสอร์ต กระทั่งชาวม้งในพื้นที่หันมาลงทุนบ้าง โดยเปลี่ยนจากไร่กะหล่ำปลีมาเป็นบ้านพักรีสอร์ต และจากการที่ธุรกิจไปได้ดีทำให้คนอื่นหันมาเอาอย่าง แต่ด้วยเงินทุนที่มีจำกัดทำให้จำเป็นต้องลดต้นทุน โดยสร้างบ้านพักแบบชั่วคราวกึ่งถาวรจึงไม่แข็งแรง”นายใจกล่าว

หลังรีสอร์ตผุดขึ้นมาก หน่วยราชการก็ควบคุมไม่ได้ เริ่มมีปัญหากับชาวม้งในหมู่บ้าน เพราะทรัพยากรที่มีอยู่เริ่มแบ่งปันไม่ลงตัว อาทิ น้ำ ซึ่งหมู่บ้านต้องสูบไปทำประปาหมู่บ้าน แต่ถูกรีสอร์ตสูบขึ้นไปทำธุรกิจ จึงต้องมีข้อตกลงโดยกำหนดห้วงเวลาการสูบน้ำ ส่วนเรื่องขยะ ที่รีสอร์ตและนักท่องเที่ยวสร้างขึ้น แต่นำมาทิ้งในบ่อขยะของหมู่บ้าน ก็พยายามให้รีสอร์ตไปหาสถานที่ทิ้งเอง แต่ยังตกลงไม่ได้ นอกจากนี้ปัญหาจราจรคับคั่งทำให้รถติดเป็นสิ่งที่ทุกคนลำบากใจ

“แต่ก็พูดไม่ออกเพราะส่วนใหญ่ต่างเป็นญาติพี่น้องกันทั้งสิ้น จึงต้องหวานอมขมกลืนมาจนถึงทุกวันนี้” นายใจกล่าว และย้ำว่า เคยขอให้หน่วยราชการที่เกี่ยวข้องเข้ามาจัดระเบียบ และดูแล แต่ก็ไม่เป็นผลสำเร็จ

นางนิรารัตน์ ประพฤติ ผู้อำนวยการศูนย์พัฒนาชาวเขา จ.เพชรบูรณ์ กล่าวว่า มีนายทุนจากภายนอกเข้ามาซื้อที่ดิน หรือเช่าที่ดิน ทำสัญญากันเป็น 5-10 ปี เพื่อลงทุนทำธุรกิจรีสอร์ต แม้จะรู้กันดีว่าที่ดินที่ภูทับเบิก หรือที่บ้านดอยน้ำเพียงดินไม่มีเอกสารสิทธิก็ตาม แต่นายทุนเหล่านี้ต่างก็ยอมเสี่ยง เพราะภูทับเบิกมีชื่อเสียงโด่งดัง นักท่องเที่ยวแห่มาเที่ยวพักค้างแรมตลอดทั้งปี โดยเฉพาะช่วงฤดูท่องเที่ยว เทศกาลวันหยุดยาวจะมีนักท่องเที่ยงแห่กันมาเที่ยวจนล้น

แนวทางแก้ไข คงต้องหารือกับตัวแทนกรมป่าไม้ในพื้นที่ว่าพอมีวิธีใดหยุดยั้งไม่ให้มีการขยายพื้นที่ก่อสร้างบ้านพักรีสอร์ตไปมากกว่านี้ เพราะเวลานี้แม้แต่บริเวณหน้าผาสูงชัน ทำเลไม่เหมาะที่จะสร้างบ้านพักให้นักท่องเที่ยวพักค้างแรมก็มีการสร้างกัน โดยไม่คำนึงถึงเรื่องความมั่นคงแข็งแรงหรือความปลอดภัย

นางนิรารัตน์กล่าวอีกว่า พื้นที่ภูทับเบิกอยู่ในเขตพื้นที่สงเคราะห์ชาวเขา ตามมติคณะรัฐมนตรี ปี พ.ศ. 2509 และเป็นพื้นที่เหลือจากการจำแนกการใช้ประโยชน์เมื่อปี 2546 จำนวน 4.7 หมื่นไร่เศษ โดยในจำนวนนี้ที่ภูทับเบิก และบ้านดอยน้ำเพียงดิน อ.หล่มเก่า มีพื้นที่จำนวน 1.2 หมื่นไร่เศษ และที่ อ.เขาค้อ อีกราว 3.3 หมื่นไร่เศษ ซึ่งศูนย์พัฒนาชาวเขารับผิดชอบดูแล ส่วนที่เหลือได้ส่งคืนให้กรมป่าไม้แล้ว หลังมีการกันพื้นที่และประกาศให้เป็นเขตอุทยานแห่งชาติเขาค้อ

นายชิต อินทรนก หัวหน้าศูนย์ประสานงานป่าไม้ จ.เพชรบูรณ์ กล่าวว่า ที่ผ่านมาทางเจ้าหน้าที่พยายามจับกุมกันอย่างต่อเนื่องเพื่อป้องปรามไม่ให้ขยายสิ่งปลูกสร้างเพิ่มเติม โดยเฉพาะบ้านพักรีสอร์ตที่ก่อสร้างอยู่ในทำเลหน้าผาสูงชัน รวมถึงในจุดเสี่ยงดินสไลด์หรือโคลนถล่ม

แต่ชาวม้งเหล่านี้นอกจากจะไม่ฟังแล้วยังไม่สนใจเรื่องกฎหมายอีกด้วย บางรายถูกจับดำเนินคดียอมรับสารภาพ กระทั่งศาลสั่งปรับเงิน 2,500 บาท แต่ภายหลังยังมาก่อสร้าง หรือต่อเติมบ้านพักเพิ่มเติมอีกด้วย โดยต่างก็คิดว่าแลกกับผลประโยชน์จากการให้บริการนักท่องเที่ยวคุ้มค่ากว่า

“ยอมรับว่าขณะนี้เรื่องภูทับเบิกเป็นปัญหาที่น่าหนักใจ พื้นที่ใด ทำเลดี แม้จะเป็นไร่กะหล่ำปลี ชาวม้งจะขายทิ้งหันมาพัฒนาที่ดินเพื่อมาทำรีสอร์ตมากขึ้น การแก้ไขปัญหาคงต้องบูรณาการร่วมกันหลายส่วน ถ้าไม่สามารถยับยั้ง อนาคตจะแก้ไขลำบาก” นายชิตกล่าว
(เสื้อเหลือง) ผอ .สำนัก 4  พร้อมทหาร ตชด. จับกุมรีสอร์ตชาวม้ง บนภูทับเบิก เมื่อปลายปี 57
ด้านนายมานพ สายอุ่นใจ ผู้อำนวยการสำนักจัดการทรัพยากรที่ 4 สาขาพิษณุโลก เปิดเผยว่า ห้วงปลายปี 57 มีการจับกุมผู้บุกรุกบนภูทับเบิก 2 ราย คือ นายคเณศ แซ่โห่ และนายโชติ แก้วทอง ถูกจับในข้อหา ร่วมกันก่นสร้าง แผ้วถาง หรือกระทำการใดๆ อันเป็นการทำลายป่า ยึดถือครอบครอง มาตรา 54 พ.ร.บ.ป่าไม้ 2484 ศาลพิจารณาคดีแล้ว จำคุก 3 เดือน ปรับ 5,000 บาท แต่จำเลยรับ ลดโทษกึ่งหนึ่ง เท่ากับจำคุก 1 เดือน 15 วัน ปรับ 2,500 บาท โทษจำคุกไว้รอลงอาญา 1 ปี เมื่อพฤษภาคม 2558 ที่ผ่าน

อย่างไรก็ตาม เตรียมบูรณาการหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการฟื้นฟูป่าต้นน้ำ ตามนโยบายกองทัพภาคที่ 3 ต่อไปในเร็วๆ นี้



กำลังโหลดความคิดเห็น