xs
xsm
sm
md
lg

ตามส่อง “ภูทับเบิก” 1 - ไร่กะหล่ำหาย-รีสอร์ตโผล่ยอดภูเป็นร้อย หลากปัญหาซุกใต้ทะเลหมอก

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


เพชรบูรณ์ - พิสูจน์การเปลี่ยนแปลงบน “ภูทับเบิก” แหล่งท่องเที่ยวดังเมืองมะขามหวาน ปลายฝนต้นหนาว นักท่องเที่ยวเริ่มหนาแน่น พบรีสอร์ตหลากหลายระดับผุดกลางยอดภู ที่ดินในความดูแลกรมประชาสงเคราะห์เป็นร้อยๆ แห่ง ไม่เว้นจุดเสี่ยงดินสไลด์ ขณะที่ไร่กะหล่ำชาวม้งในอดีตหดหายไปเรื่อยๆ

วันนี้ (4 ต.ค.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ขณะนี้ “ภูทับเบิก” อุทยานแห่งชาติภูหินร่องกล้า เริ่มคลาคล่ำพบนักท่องเที่ยวต่างจังหวัดเริ่มเดินทางขึ้นไปสัมผัสกับสภาพอากาศหนาวกันจำนวนมาก โดยเฉพาะที่จุดชมวิวหอดูดาว ภูทับเบิก จุดสูงสุด 1,768 เมตรเหนือระดับน้ำทะเล ล่าสุดอุณหภูมิ 28 องศาเซลเซียส

เช่นเดียวกับทุกปี ที่ “ภูทับเบิก” จะมีนักท่องเที่ยวมาสัมผัสอากาศหนาวเย็น-ทะเลหมอก ไม่ต่ำกว่าหมื่นคน จนธุรกิจห้องพัก หรือรีสอร์ตเกิดขึ้นจำนวนมาก แต่ปีนี้ถือว่าปริมาณรีสอร์ตผุดขึ้นอย่างผิดหูผิดตา อาจเป็นเพราะระยะเวลาท่องเที่ยวภูทับเบิกยาวนานกว่า นักท่องเที่ยวสามารถขึ้นมาชมความงามตั้งแต่ปลายฝนต้นหนาว ไม่ต้องรอถึงห้วงที่หนาวเหน็บช่วงใกล้เทศกาลวัดหยุดปีใหม่ เพราะถึงเวลานั้นผู้คนจะแน่นขนัดเต็มภูเขา

ล่าสุด เฟซบุ๊ก “คนรักภูทับเบิก” ได้นำภาพ ภูทับเบิกที่เต็มไปด้วยรีสอร์ตเผยแผร่ผ่านโลกโซเซียล จนมีการวิพากษ์วิจารณ์กันอย่างกว้างขวางถึงประเด็นผู้ประกอบการลุยก่อสร้างรีสอร์ตเพื่อรองรับนักท่องเที่ยวกันมากขึ้น จากเดิมนักท่องเที่ยวที่ไปเที่ยวชมธรรมชาติ ของชาวไทยภูเขา ปลูกกะหล่ำตามไหล่เขาแบบสุดสายตา แต่ปีนี้มีการก่อสร้างรีสอร์ตตามไหล่เขาไม่ต่ำกว่า 100 แห่ง

ทั้งนี้ ที่ดินภูทับเบิก คือที่ดินซึ่ง “กรมประชาสงเคราะห์” ขอใช้พื้นที่จากกรมป่าไม้ ตามมติ ครม.09 ประมาณ 12,000 ไร่ในเขต อ.หล่มเก่า จ.เพชรบูรณ์ เพื่อให้คนในพื้นที่สูง คือ ชนเผ่าม้ง ที่อพยพมาจากทุกสารทิศในภาคเหนือ เช่น น่าน, พะเยา ฯลฯ มาอยู่บ้านภูทับเบิก 2 หมู่บ้าน ใน ต.วังบาล อ.หล่มเก่า เพชรบูรณ์ ประกอบอาชีพปลูกกะหล่ำปลี จนกลายเป็นแหล่งปลูกกะหล่ำปลีที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย จากยอดเขาสูงจากระดับน้ำทะเลประมาณ 1,768 เมตรสูงสุดของจังหวัดเพชรบูรณ์

ดังนั้น ที่ผ่านมา “ภูทับเบิก” จึงไม่มีหน่วยงานกรมป่าไม้ หรือกรมอุทยานฯ เข้าไปตั้งหน่วยดูแล มีเพียง “อุทยานแห่งชาติภูหินร่องกล้า” ที่อยู่ห่างไป 20 กิโลเมตร ประจำการอยู่เท่านั้น ทำให้ที่ดินของชาวเขาเผ่าม้ง ถูกซื้อ-ขายเปลี่ยนมือไปสู่นายทุนนักธุรกิจเพื่อทำรีสอร์ตกันอย่างมากมายและต่อเนื่อง

บางแห่งถูกจับดำเนินคดีไปแล้ว อาทิ ร้านอาหารชื่อดัง-หรู และใหญ่ที่สุดของ “ภูทับเบิก” ที่คนเมืองนิยมไปใช้บริการก็อยู่ระหว่างดำเนินคดีตามกระบวนการศาลยุติธรรม ขณะที่รีสอร์ตอีกหลายแห่งกำลังหนาวๆ ร้อนๆ เพราะสำนักจัดการทรัพยากรที่ 4 (พิษณุโลก-เพชรบูรณ์) กรมป่าไม้ เริ่มขยับขานรับนโยบายแม่ทัพภาค 3 ที่จะต้องฟื้นฟูสภาพป่าอย่างจริงจัง และทราบดีว่าผืนดินภูทับเบิก อันเป็นที่ดิน “กรมประชาสงเคราะห์ขอใช้ประโยชน์จากกรมป่าไม้” ผู้ใดมีสิทธิครอบครอง

นายสมบูรณ์ ศรีธรรม นายกองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) วังบาล อ.หล่มเก่า จ.เพชรบูรณ์ กล่าวว่า 2-3 ปีที่ผ่านมา ภูทับเบิกได้รับความนิยมมาก วันหยุดเทศกาลมีนักท่องเที่ยวขึ้นภูจนล้นภู ห้องพักไม่พอ ชาวม้งจึงลงทุนก่อสร้างรีสอร์ต ปัจจุบันร่วมๆ 60 แห่ง ก่อเกิดปัญหา ความไม่เป็นระเบียบเรียบร้อย ทำลายทัศนียภาพและความสงบอันเป็นจุดขายของภูทับเบิก รวมทั้งปัญหาความปลอดภัยของสิ่งปลูกสร้าง เพราะเน้นลงทุนต่ำ ไม่มีความมั่นคงแข็งแรง และบางแห่งตั้งอยู่ในจุดเสี่ยงดินสไลด์

ขณะที่การบริหารจัดการพื้นที่ภูทับเบิกนั้น อบต.ไม่มีอำนาจ เพราะศูนย์พัฒนาสงเคราะห์ชาวเขา และกรมป่าไม้เป็นเจ้าของพื้นที่ กลุ่มวิสาหกิจชุมชน และชาวม้ง ต่างดูแลบริหารจัดการพื้นที่กันเอง จึงทำให้การพัฒนาต่างๆ เป็นไปแบบไร้ทิศทาง และถูกนักท่องเที่ยวร้องเรียนต่อว่าเรื่องถูกเอารัดเอาเปรียบ-ราคาที่พักแพงเกินจริง ซึ่งเคยนำปัญหาเสนอในระดับจังหวัด แต่ทุกวันนี้ยังกลายเป็นปัญหาที่ซุกใต้พรมมาตลอด

นอกจากนี้ยังมีเรื่องขยะ ที่กลายเป็นปัญหาใหญ่ แหล่งทิ้งขยะภายในหมู่บ้าน ไม่รับขยะจำนวนมากของนักท่องเที่ยว, รีสอร์ต ดูดน้ำไปใช้จนน้ำไม่พอทำประปาหมู่บ้าน, การจราจรคับคั่ง กระทบวิถีชีวิตของคนทับเบิก เช่น ปีที่ผ่านมามีหญิงชาวม้งต้องคลอดลูกระหว่างเดินทาง เพราะรถนักท่องเที่ยวติดยาว ไปโรงพยาบาลไม่ทัน เป็นต้น

กำลังโหลดความคิดเห็น