xs
xsm
sm
md
lg

ไทยเจ๋ง! ผลิตแสงซินโครตรอนรังสีเอ็กซ์พลังงานสูง พัฒนาตัวยาใหม่แก้เชื้อโรคดื้อยา

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

นางสาวณัฐธวัล ประมาณพล นักวิจัยสถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน (องค์การมหาชน)
ศูนย์ข่าวนครราชสีมา- นักวิจัยไทยเจ๋ง! ผลิตแสงซินโครตรอนย่านรังสีเอ็กซ์พลังงานสูงสำเร็จครั้งแรกในอาเซียน เพื่อใช้พัฒนาตัวยาใหม่แก้ปัญหาเชื้อโรคดื้อยา ชี้จุดประกายให้วงการแพทย์ได้พัฒนาผลิตภัณฑ์ยารักษาโรคร้ายต่างๆได้โดยใช้เทคโนโลยีแสงซินโครตรอน เผย “สมด็จพระเทพฯ” เสด็จฯ เปิดบีมไลน์ใหม่ “ระบบลำเลียงแสงผลึกศาสตร์” 13 ต.ค.นี้

เมื่อเวลา 11.30 น.วันนี้ (9 ต.ค.) ที่สถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน (องค์การมหาชน) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ภายในมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี อ.เมือง จ.นครราชสีมา น.ส.ณัฐธวัล ประมาณพล นักวิจัยสถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน (องค์การมหาชน) เปิดเผยถึงผลสำเร็จในงานวิจัยการผลิตแสงซินโครตรอนย่านรังสีเอ็กซ์พลังงานสูง (Hard X-ray) ได้เป็นครั้งแรกในประเทศไทย และเป็นแห่งเดียวในภูมิภาคอาเซียน เพื่อนำไปต่อยอดสู่การพัฒนาออกแบบตัวยาใหม่ๆ ในการแก้ไขปัญหาการดื้อยา โดยเฉพาะอุปกรณ์ทุกชิ้นส่วน เครื่องมือการดำเนินการทุกชิ้นเป็นฝีมือนักวิชาการคนไทยที่ผลิตขึ้นมาทั้งสิ้น

น.ส.ณัฐธวัล นักวิจัยสถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน (องค์การมหาชน) กล่าวว่า ระบบลำเลียงแสง และสถานีทดลองนี้เป็นเครื่องมือสำคัญในการวิจัยพัฒนาทางด้านชีววิทยาโครงสร้าง และช่วยเพิ่มศักยภาพของการศึกษาวิจัยทางด้านผลึกศาสตร์ในกลุ่มประเทศอาเซียน ขณะนี้เราประสบความสำเร็จในการผลิตแสงซินโครตรอนย่านรังสีเอ็กซ์พลังงานสูงครั้งแรกในภูมิภาคอาเซียน โดยสามารถทราบโครงสร้าง 3 มิติของโปรตีน เอนไซม์ ดีเอ็นเอ และกรดนิวคลีอิก ทำให้เข้าใจกลไกการทำงานในสิ่งมีชีวิตซึ่งเป็นประโยชน์อย่างมากในงานด้านวิทยาศาสตร์การแพทย์ โดยเฉพาะการศึกษากลไกการทำงานของโปรตีน และการยับยั้งการทำงานของเอนไซม์ที่สำคัญในการเกิดโรค เพื่อพัฒนาตัวยาปฏิชีวนะช่วยแก้ปัญหาการดื้อยาของเชื้อโรคต่อไปได้

ทั้งนี้ งานวิจัยดังกล่าวถือเป็นการจุดประกายให้วงการแพทย์ได้มีการพัฒนาผลิตภัณฑ์ยารักษาโรคชนิดต่างๆ ได้โดยใช้เทคโนโลยีแสงซินโครตรอน เบื้องต้นงานวิจัยได้ศึกษากับโรคไข้มาลาเลียประสบความสำเร็จเป็นอย่างดี ขณะนี้มีโครงการที่ทำร่วมกับองค์การเภสัชกรรมที่จะนำเทคโนโลยีดังกล่าวไปต่อยอดเพื่อใช้งานได้จริงต่อไป

น.ส.ณัฐธวัลกล่าวอีกว่า ระบบลำเลียงแสงผลึกศาสตร์ที่ใช้ในงานวิจัยดังกล่าวตั้งอยู่ในบีมไลน์ 7 ภายในห้องปฏิบัติการแสงสยาม ซึ่ง สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี มีพระมหากรุณาธิคุณจะเสด็จพระราชดำเนินทรงเปิดระบบลำเลียงแสงผลึกศาสตร์ ในวันอังคารที่ 13 ตุลาคม 2558 ณ ห้องปฏิบัติการแสงสยาม สถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน (องค์การมหาชน) จังหวัดนครราชสีมาด้วย
กำลังโหลดความคิดเห็น