xs
xsm
sm
md
lg

มอบทุน ป.เอกเปิดโอกาสร่วมวิจัย "เซิร์น"

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


3 หน่วยงานกระทรวงวิทย์จับมือ สกว.ร่วมมอบทุน ป.เอก ผลิตนักวิจัยตอบโจทย์ภาครัฐ เปิดโอกาสนักศึกษาเข้าถึงโครงสร้างพื้นฐานของหน่วยงาน พร้อมโอกาสร่วมมือกับหน่วยงานวิจัยในต่างประเทศ รวมถึง "เซิร์น"

สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) แถลงข่าวการร่วมทุนพัฒนาบุคลากรระดับปริญญาเอกภายใต้โครงการปริญญาเอกกาญจนาภิเษก (คปก.) กับ 3 หน่วยงานภายใต้กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ได้แก่ สถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน (สซ.) สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (สดร.) และสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) เมื่อวันที่ 11 มิ.ย.58 ณ โรงแรมจอมเทียน ปาล์ม บีช รีสอร์ท เมืองพัทยา

ศ.ดร.ประมวล ตั้งบริบูรรณ์รัตน์ ผู้อำนวยการโครงการปริญญาเอกกาญจนาภิเษก กล่าวว่า คปก.ได้ให้ทุนวิจัยเพื่อสร้างนักวิจัยระดับปริญญาเอกมา 17 ปี โดยมีข้อกำหนดว่านักศึกษาในโครงการต้องทำงานวิจัยในไทย มีที่ปรึกษาไทยและมีโจทย์วิจัยของไทย และไปทำวิจัยเป็นระยะเวลาสั้นๆ ที่ต่างประเทศ เพื่อเรียนรู้วิทยาการใหม่ๆ ที่ผ่านมาได้ให้ทุนแล้วกว่า 4,000 ทุน และมีผู้จบการศึกษาทำงานทั้งในภาครัฐและภาคเอกชน

"ความร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐที่ไม่ใช่มหาวิทยาลัย อย่าง สซ., สดร. และ สวทช. ซึ่งมีความเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน จะทำให้นักศึกษาได้โจทย์วิจัยจาก 3 หน่วยงานที่สอดคล้องกับความต้องการ จ้อดีคือจะได้รับความรู้และความเชี่ยวชาญจากหน่วยงานและมีโอหาสเข้าทำงานในหน่วยงานนั้นๆ ตรงนี้เป็นเพียงโครงการนำร่อง อนาคตเราจะร่วมมือกับอีกหลายหน่วยงาน" ศ.ดร.ประมวลกล่าว

ขณะที่ ศ.นพ.สุทธิพันธ์ จิตพิมลมาศ ผู้อำนวยการ สกว.ระบุว่าความร่วมมือครั้งนี้มีระยะเวลา 5 ปี ระหว่างปี 2558-2562 โดย สกว.ให้ทุนสนับสนุน 203 ล้านบาท ส่วนอีก 3 หน่วยงานในสังกัดกระทรวงวิทยาศาสตร์ให้ทุนสนับสนุนรวมกัน 91 ล้านบาท รวมจำนวนทุน 113 ทุน

"การร่วมมือระหว่าง สกว.กับหน่วยงานสังกัดกระทรวงวิทยาศาสตร์ จะทำให้ผลิตบัณฑิตปริญญาเอกได้มาตรฐานระดับโลกและเข้าทำงานในระดับอาเซียนได้ด้วย โดย สกว.จะเน้นงานวิจัยที่ตอบโจทย์จากหน่วยงานและภาคสังคมมากขึ้น" ศ.นพ.สุทธิพันธ์ระบุ

ด้าน ศ.นาวาอากาศโท ดร.สราวุฒิ สุจิตจร ผู้อำนวยการ สซ. กล่าวว่า ในปีแรกจะสนับสนุน 6 ทุนก่อน เนื่องจากไม่แน่ใจว่าจะมีนักวิจัยที่สนใจนำแสงซินโครตรอนไปทำวิจัยมากแค่ไหน แต่ในปีที่ 5 จะสนับสนุนเพิ่มเป็น 12 ทุนและเชื่อว่าจะมีความร่วมมือระยะต่อไป

"ประโยชน์ของซินโครตรอนใช้วิเคราะห์วัสดุได้ถึงระดับอะตอม และประยุกต์ใช้ได้ตั้งแต่วัสดุ อาหารและยา นักวิจัยที่ขอทุน คปก. หากอยากร่วมทำวิจัยกับหน่วยงานซินโครตรอนประเทศอื่นๆ หรือเซิร์นที่ทางสถาบันซินโครตรอนมีความร่วมอยู่ เราจะช่วยประสานให้" ศ.นาวาอากาศโท ดร.สราวุฒิกล่าว

สอดคล้องกับ รศ.บุญรักษา สถนทรธรรม ผู้อำนวยการ สดร.ซึ่งกล่าวว่าในอนาคตอันใกล้นี้จะไปเดินทางไปประชุมวิชาการร่วมกับสถาบันซินโครตรอนเยอรมันหรือเดซี (DESY) ซึ่งมีความร่วมมือกับ สซ.และจะเป็นช่องทางให้นักศึกษา คปก.ภายใต้การสนับสนุนของ สดร.ไปร่วมวิจัยกับเดซีในด้านอนุภาคฟิสิกส์ที่เกี่ยวข้องกับดาราศาสตร์ได้

ในส่วน ดร.อ้อมใจ ไทรเมฆ ผู้ช่วยผู้อำนวยการ สวทช.กล่าวว่า สวทช.มีโครงสร้างพื้นฐานรองรับการสร้างและบ่อมเพาะบุคลากรปริญญาเอก และคาดว่าจะมีประโยชน์ต่อการทำงานของนักศึกษา ซึ่งหากมีผลงานดีก็มีโอกาสเข้าทำงานที่ สวทช.หรืออาจร่วมงานกะบบริษัทเอกชนที่เข้าไปร่วมวิจัยกับ สวทช.กว่า 60 บริษัท

ด้าน ดร.พิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กล่าวว่าไทยยังมีข้อจำกัดและต้องการบัณฑิตปริญญาเอกอีกมาก และจำเป็นต้องมีความร่วมมือกับต่างประเทศด้วย ซึ่งความร่วมมือในครั้งนี้ นอกจากแต่ละหน่วยงานมีสิทธิเลือกบุคลากรเก่งๆ เข้าทำงานแล้ว ยังเป็นการพัฒนาบุคลากรอย่างไม่สะเปะสะปะ และโอกาสในการร่วมงานกับภาคเอกชนยังเป็นเรื่องดี

"กระทรวงมีแนวคิดพัฒนา "เขตนวัตกรรมพิเศษ" เพื่อเป็นแหล่งงานแก่นักเรียนและนักเรียนทุนในอนาคต ซึ่งปัจจุบันมีบุคลากรปริญญาเอกทำงานในภาครัฐ 83% และในภาคเอกชน 17% ซึ่งเราต้องกลับทิศให้มีสัดส่วนในภาคเอกชนมาขึ้น เพื่อเลื่อนอันดับความสามารถในการแข่งขันทางเศรษฐกิจของประเทศ" ดร.พิเชฐกล่าว






*******************************



กำลังโหลดความคิดเห็น