ศูนย์ข่าวภูเก็ต - กระทรวงวิทยาศาสตร์เทคโนโลยี เป็นเจ้าภาพจัดการประชุมคณะกรรมการอาเซียน ครั้งที่ 69 หรือ ASEAN COST ดึงอาเซียนโรดแมปโครงสร้างพื้นฐานทางคุณภาพ เห็นร่วมการยกระดับมาตรวิทยาสู่สากล
เมื่อเวลา 09.30 น. วันนี้ (28 พ.ค.) ที่โรงแรมโมเวนพิค รีสอร์ท แอนด์ สปา ต.กะรน อ.เมือง จ.ภูเก็ต ดร.พิเชษฐ ดุรงคเวโรจน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เป็นประธานเปิดการประชุมคณะกรรมการอาเซียน ซึ่งประเทศไทย โดยกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เป็นเจ้าภาพจัดการประชุม เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนความร่วมมือระหว่างประเทศอาเซียนในด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม โดยมี นายพัลลภ สิงหเสนี รองผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต รศ.ดร.วีระพงษ์ แพสุวรรณ ปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และเจ้าหน้าที่ระดับปลัดกระทรวง หรือผู้แทนกลุ่มประเทศสมาชิกอาเซียน ประกอบด้วย บรูไน ดารุสซาลาม อินโดนีเซีย ลาว พม่า ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ เวียดนาม และไทย เข้าร่วมประชุมระหว่างวันที่ 28-29 พ.ค.2558 นี้
ดร.พิเชษฐ ดุรงคเวโรจน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กล่าวว่า ก่อนเปิดการประชุมอย่างเป็นทางการในวันนี้ ได้เริ่มดำเนินการประชุมย่อยตั้งแต่วันที่ 21 พ.ค.2558 ที่ผ่านมา ซึ่งประเทศไทยในฐานะเจ้าภาพได้นำเสนอประเด็น ท่าทีที่สำคัญต้องการผลักดัน และขยายผลความร่วมมือในหลายๆ ด้าน โดยมีบางประเด็นที่ประชุมได้มีมติเห็นชอบข้อเสนอ โดยเฉพาะความร่วมมือด้านมาตรวิทยาของอาเซียน ข้อเสนอแนะเชิงนโยบายของฝ่ายไทยเรื่องดังกล่าว เพื่อต้องการผลักดันให้มาตรวิทยาเป็นโครงการพื้นฐานทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และเป็นเครื่องมือในการพัฒนาประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนอย่างแท้จริง เพื่อให้อาเซียนบรรลุเป้าหมายในการเป็นตลาด และฐานการผลิตเดียวกันที่มั่นคง ดึงดูดการลงทุน แข่งขันได้และยั่งยืน ซึ่งจะได้ดำเนินการจัดทำ Roadmap พร้อมแผนปฏิบัติการให้แล้วเสร็จโดยเร็วเพื่อนำเข้ารับรองในที่ประชุมรัฐมนตรีวิทยาศาสตร์อาเซียนช่วงปลายปีนี้
ดังนั้น หากสามารถดำเนินการได้อย่างเป็นรูปธรรมยิ่งจะทำให้อาเซียนเมื่อรวมเป็นหนึ่งเดียวจะมีความเข้มแข็งเป็นที่ยอมรับในระดับสากลต่อไป ส่วนประเด็นทาทีที่สำคัญอื่นๆ ก็ได้รับความสนใจและอยู่ระหว่างเก็บข้อมูลเพิ่มเติมต่อเนื่อง ทั้งนี้ ทุกท่าที หรือทุกประเด็นที่ฝ่ายไทยได้ผลักดันเข้าสู่ที่ประชุมเป็นเรื่องที่ประเทศไทยมีทรัพยากร องค์ความรู้ ตลอดจนเทคโนโลยีที่สามารถแลกเปลี่ยน และสร้างประโยชน์ร่วมกันในกลุ่มประเทศสมาชิกอาเซียนด้วยทั้งสิ้น
ทั้งนี้ รมว.วิทยาศาสตร์ฯ ได้ชี้แจงข้อมูลประเด็นท่าที และการริเริ่มผลักดันของไทยในเวที ASEAN COST ดังนี้ คือ 1.การจัดทำแผนปฏิบัติการอาเซียนด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม ฉบับปี 2558-2563 (ASEAN Plan of Action on Science, Technology and Innovation 2015-2020 - APASTI) เน้นความร่วมมือด้านนวัตกรรมเพิ่มขึ้น พร้อมทั้งการมีส่วนร่วมของภาคเอกชน และการบริหารงบประมาณ ซึ่งหากประเทศสมาชิกเห็นพ้องร่วมกันก็จะนำไปรับรองในการประชุมรัฐมนตรีวิทยาศาสตร์อาเซียน ครั้งที่ 16 ณ กรุงเวียงจันทน์ สปป.ลาว ช่วงปลายปี 2558 และขณะนี้ยังมีบางประเทศยังไม่เห็นด้วยต่อท่าทีดังกล่าว
2.การเคลื่อนย้ายกำลังคนด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (ASEAN Talent Mobility - ATM) โดยสำนักงานคณะกรรมการนโยบายวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมแห่งชาติ (สวทน.) จัดประชุมเชิงปฏิบัติการเมื่อวันที่ 22-23 พ.ค.2558 เพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลเกี่ยวกับกำลังคนด้านวิทยาศาสตร์ในอาเซียน พัฒนากลไกในการเข้าถึงบุคลากรด้านวิทยาศาสตร์ในประเทศสมาชิกอาเซียน และประเทศคู่เจรจาในสาขาที่ขาดแคลน และสร้างโอกาสสำหรับหน่วยงานวิจัยในอาเซียนและประเทศคู่เจรจา ผลสรุปจากที่ประชุมมีมติให้เก็บข้อมูลเพิ่มเติมร่วมกับ National Focal Points และให้ส่งผลสำรวจภายในเดือนสิงหาคม 2558
3.การบริหารกองทุนวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมอาเซียน 4.ความร่วมมือด้านการจัดการทรัพยากรน้ำ (สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำและการเกษตร (องค์การมหาชน) 5.ความร่วมมือด้านมาตรวิทยา 6.ความร่วมมือด้านการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีแสงซินโครตรอน (สถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน) (องค์การมหาชน) 7.ความร่วมมือด้านการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีอวกาศ สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) (สทอภ.) 8.ความร่วมมือด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ 9.ความร่วมมือด้านดาราศาสตร์ 10.ด้านการรับรอง/มาตรฐาน
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์ กล่าวต่อว่า ข้อเสนอทั้ง 10 ประเด็นของไทยนั้น มีทั้งที่ได้รับการตอบรับ และไม่เห็นด้วยของกลุ่มประเทศสมาชิกอาเซียน และที่เห็นพ้องร่วมกันคือ ความร่วมมือด้านการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีอวกาศ, มาตรวิทยา, ความท้าท้ายใหม่ของอาเซียน เช่น การบริหารจัดการโรค ปัญหานครใหญ่ในอาเซียน ซึ่งเป็นโจทย์ใหม่ ความร่วมมือด้านดาราศาสตร์ ความร่วมมือด้านชีวมวล เป็นต้น
ในส่วนของงบประมาณที่จะนำมาดำเนินการนั้น มาจากหลายแหล่งทุนด้วยกัน เช่น กองทุนวิทยาศาสตร์อาเซียน ที่ก่อนหน้านี้ได้นำดอกเบี้ยมาใช้ในการดำเนินการ แต่ไม่เพียงพอ ช่วงหลังได้นำเม็ดมาใช้ก็ยังไม่เพียงพออีก จำเป็นต้องหาแหล่งเงินจากที่อื่นๆ เช่น จากกลุ่มประเทศคู่ค้าของอาเซียน หรือจะเป็นภาคเอกชนในอนาคตอันใกล้นี้ หรือให้ต่างคนต่างออกงบประมาณ ซึ่งในแต่ละปีต้องใช้ประมาณ 10 ล้านบาท