อุบลราชธานี - จังหวัดอุบลราชธานีพบชุมชนด้ามพร้าโมเดล กำจัดขยะล้นเมืองด้วยตนเอง เดิมมีขยะมากกว่าวันละ 7 พันกิโลกรัม ปัจจุบันเหลือเพียง 1 พันกิโลกรัม คนในชุมชนมีสุขภาพดี ปลอดจากเชื้อโรคที่หมักหมมในขยะ
นายไชยยันต์ สุขบัติ คณะกรรมการหมู่บ้านบ้านด้ามพร้า เล่าสภาพปัญหาบ้านด้ามพร้า ต.ขามใหญ่ อ.เมือง จ.อุบลราชธานี เป็นชุมชนชานเมืองที่เติบโตอย่างรวดเร็ว ในรอบ 10 ปีมีบ้านเรือนและประชากรเพิ่มขึ้นเกือบเท่าตัว ส่งผลให้เกิดปัญหาหลายอย่างในชุมชนรวมทั้งปัญหาขยะซึ่งส่งผลกระทบรุนแรงที่สุด เพราะผู้อยู่อาศัยทิ้งขยะไม่เป็นที่เป็นทาง คนนอกพื้นที่ขับรถผ่านก็นำขยะมาทิ้งทำให้ขยะเน่าและส่งกลิ่นเหม็นไปทั่วชุมชน
ต่อมาปี 2557 สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) สนับสนุนผู้นำชุมชนรวมกันตั้งเป็นสภาชุมชนเพื่อแก้ไขปัญหาเรื่องนี้ และใช้ต่อยอดสร้างชุมชนให้เข้มแข็งในเรื่องอื่นด้วย โดยให้มีตัวแทนแต่ละส่วนเข้ามาเป็นคณะกรรมการสภาทั้งหมด 40 คน และมีการจัดประชุมร่วมกันทุกเดือนเพื่อพูดคุยหาทางออกปัญหาขยะของชุมชน ก่อนจะช่วยกันวิเคราะห์สาเหตุของปัญหาและเสนอทางออก นำข้อมูลมาประชุมชาวบ้านเพื่อลงมติจะร่วมกันแก้ไขปัญหาเรื่องนี้หรือไม่อย่างไร พร้อมเปิดรับสมัครครัวเรือนต้นแบบการจัดการขยะ 50 ครัวเรือน ทำการคัดแยกขยะให้เป็นตัวอย่างแก่สมาชิกรายอื่น ทำให้ปัจจุบันสมาชิกในหมู่บ้านมีวินัยในการจัดการขยะเล็งเห็นความสำคัญและให้ความร่วมมือคัดแยกขยะมากขึ้น ส่งผลให้เกิดธนาคารขยะที่ดำเนินงานโดยคณะกรรมการในชุมชนเปิดรับซื้อขยะจากชาวบ้านทุกวันเสาร์ที่ 2 ของเดือน
นายไชยยันต์เล่าต่อว่า ก่อนดำเนินงานรูปแบบสภาชุมชนเมื่อปี 2557 มีขยะ 7,400 กิโลกรัมต่อสัปดาห์ หลังจากมีสภาชุมชนได้ 1 ปี ขยะลดลงเหลือเพียง 1,274 กิโลกรัมต่อสัปดาห์ หรือเหลือเพียง 8.22 ตัน จากเดิม 32.75 ตันต่อเดือน
ความสำเร็จที่เกิดขึ้นคือ ขยะลดลงจากการคัดแยกอย่างถูกวิธี ขยะเปียกถูกฝังกลบ หรือทำปุ๋ยหมัก ขยะทั่วไปเก็บลงถังเพื่อให้รถขยะจากเทศบาลมารับ ส่วนขยะที่เป็นเศษเหล็ก พลาสติกก็นำมาขาย ปัญหาขยะล้นถังรอรถเทศบาลมาเก็บ สุนัขคุ้ยเขี่ยส่งกลิ่นเหม็นไม่มีให้เห็นในชุมชนด้ามพร้าอีกแล้ว
ด้านนายวิชัย อำพันธ์ รองนายกเทศมนตรีตำบลขามใหญ่ กล่าวว่า การกำจัดขยะในเขตเทศบาลฯ ใช้งบประมาณจัดเก็บและทำลายสูงถึงปีละ 12 ล้าน หรือ 10% ของงบประมาณทั้งปี ที่ผ่านมาทางเทศบาลฯ ต้องนำขยะไปกำจัดที่อำเภอวารินชำราบ เสียค่าใช้จ่ายต่อเดือนกว่า 200,000 บาท จึงพยายามแก้ปัญหาที่ต้นเหตุคือ ให้ปริมาณขยะในชุมชนลดลง
การที่ชุมชนเห็นความสำคัญและลุกขึ้นมากำจัดขยะ มีส่วนร่วมดูแลชุมชนของตัวเอง ทำให้ช่วยแก้ไขปัญหาได้อย่างยั่งยืน ปัจจุบันชุมชนด้ามพร้านับว่ามีปริมาณขยะลดลงอย่างต่อเนื่อง พร้อมส่งผลดีต่อสุขภาพของประชาชน และมีแต่ภาพความสะอาดของบ้านเรือนในชุมชนให้เห็นในทุกวันนี้