xs
xsm
sm
md
lg

“อ่างห้วยจระเข้มาก” แหล่งน้ำประปาเลี้ยงเมืองบุรีรัมย์ยังวิกฤต เร่งสูบผันน้ำสำรอง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

อ่างเก็บน้ำห้วยจระเข้มาก ต.เสม็ด  อ.เมือง จ.บุรีรัมย์ แหล่งน้ำดิบผลิตประปาหล่อเลี้ยงเมืองบุรีรัมย์ยังไม้พ้นวิกฤต ล่าสุดมีน้ำก 7.5 ล้านลบ.ม.  29 % ของความจุอ่าง วันนี้ ( 7 ต.ค.)
บุรีรัมย์ - อ่างเก็บน้ำห้วยจระเข้มาก แหล่งน้ำดิบสำคัญผลิตหล่อเลี้ยงประชาชนตัวเมืองบุรีรัมย์และเขตเศรษฐกิจยังไม่พ้นวิกฤตแล้งแม้ได้รับอิทธิพลจากพายุ “มูจีแก” แต่ปริมาณน้ำไม่เพิ่ม เตรียมสูบผันน้ำจากลำมาศสำรองอีก ป้องกันขาดแคลนน้ำอุปโภคบริโภค

วันนี้ (7 ต.ค.) นายกิติกุล เสภาศีราภรณ์ ผู้อำนวยการโครงการชลประทานจังหวัดบุรีรัมย์ เปิดเผยว่า ขณะนี้สถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำห้วยจระเข้มาก ต.เสม็ด อ.เมือง จ.บุรีรัมย์ ซึ่งเป็นแหล่งน้ำดิบที่ใช้ผลิตประปาหล่อเลี้ยงประชาชนในเขตอำเภอเมืองบุรีรัมย์ รวมถึงห้างร้านและสถานประกอบการต่างๆ ซึ่งถือเป็นเขตเศรษฐกิจสำคัญยังไม่พ้นวิกฤตภัยแล้ง แม้จะได้รับอิทธิพลจากพายุ “มูจีแก” ทำให้มีฝนตกในพื้นที่ แต่ก็ไม่ได้ตกในพื้นที่เป้าหมายทำให้ปริมาณน้ำไม่เพิ่มขึ้น

โดยปัจจุบันมีน้ำกักเก็บในอ่างเก็บน้ำห้วยจระเข้มาก 7.5 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือประมาณ 29% ของความจุอ่างกว่า 26 ล้านลูกบาศก์เมตร ซึ่งถือว่ายังอยู่ในเกณฑ์ต่ำ และเสี่ยงไม่เพียงพอต่อการผลิตประปาได้ตลอดฤดูแล้งนี้

จากกรณีดังกล่าวทางจังหวัดบุรีรัมย์ได้เรียกประชุมด่วนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อหาแนวทางแก้ไขปัญหาดังกล่าว โดยมีข้อสรุปว่าทางการประปาส่วนภูมิภาคจะจัดหางบประมาณมาดำเนินการสูบผันน้ำจากลำน้ำมาศ อ.ลำปลายมาศ ระยะทาง 16 กิโลเมตร มาเติมไว้ในอ่างเก็บน้ำห้วยจระเข้มากอีกประมาณ 7 ล้านลูกบาศก์เมตร เพื่อสำรองไว้ผลิตประปา ป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาขาดแคลนน้ำอุปโภคบริโภคในช่วงหน้าแล้ง

ขณะที่ภาพรวมสถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำและฝายที่อยู่ในความดูแลของโครงการชลประทานจังหวัดบุรีรัมย์จำนวน 16 แห่ง ล่าสุดมีปริมาณน้ำกักเก็บในอ่างร้อยละ 49.04 หรือประมาณ 142 ล้านลูกบาศก์เมตร ของความจุอ่างทั้งหมด 291.14 ล้านลูกบาศก์เมตร

“สถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำทั้ง 16 แห่งค่อนข้างน่าห่วง เนื่องจากปีนี้มีฝนตกน้อย โดยเฉพาะอ่างเก็บน้ำห้วยจระเข้มาก หากไม่ทำการสูบผันน้ำมาสำรองไว้จะสามารถผลิตประปาได้ถึงเดือนมีนาคมเท่านั้น จากกรณีดังกล่าวจึงได้ร้องขอให้ประชาชนและเกษตรกรช่วยกันใช้น้ำอย่างประหยัด หากเป็นไปได้ควรงดปลูกพืชที่ใช้น้ำมากเพื่อเก็บสำรองน้ำไว้ใช้ในยามฉุกเฉินด้วย” นายกิติกุลกล่าวในตอนท้าย

กำลังโหลดความคิดเห็น