xs
xsm
sm
md
lg

ใกล้สิ้นหน้าฝน 16 เขื่อนบุรีรัมย์ยังน่าห่วง เสี่ยงวิกฤตขาดน้ำผลิตประปา

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

ใกล้สิ้นฤดูฝนสถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำทั้ง 16 แห่งของบุรีรัมย์ยังน่าห่วง เหลือน้ำเพียงร้อยละ 43 ของความจุ
บุรีรัมย์- ใกล้สิ้นฤดูฝนสถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำทั้ง 16 แห่งของบุรีรัมย์ยังน่าห่วง เหลือน้ำเพียงร้อยละ 43 ของความจุ เผย 2 อ่างสำคัญที่ใช้ผลิตประปาหล่อเลี้ยงประชาชนในตัวเมืองและเขตเศรษฐกิจเสี่ยงวิกฤต ชลประทานเร่งเสนอผู้ว่าฯ จัดหางบเร่งด่วนสูบผันน้ำจากลำมาศสำรองป้องกันขาดแคลนน้ำอุปโภคบริโภค

วันนี้ (3 ต.ค.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำและฝายที่อยู่ในความดูแลของโครงการชลประทานจังหวัดบุรีรัมย์จำนวน 16 แห่งในช่วงใกล้สิ้นสุดฤดูฝน พบว่าขณะนี้มีปริมาณน้ำกักเก็บในอ่างเพียงร้อยละ 43.82 หรือประมาณ 127 ล้านลูกบาศก์เมตร ของความจุอ่างทั้งหมด 291.14 ล้านลูกบาศก์เมตร หากเปรียบเทียบในช่วงเดียวกันกับปีที่ผ่านมาถือว่าปีนี้ระดับน้ำยังต่ำอยู่กว่า 10 เปอร์เซ็นต์ สาเหตุเนื่องจากปีนี้มีฝนตกน้อยต่ำกว่าเกณฑ์ปกติและไม่ได้ตกในพื้นที่รับน้ำจึงทำให้ปริมาณน้ำไม่เพิ่มขึ้นจากเดิมมากนัก

โดยเฉพาะอ่างเก็บน้ำสำคัญที่น่าห่วงมากที่สุดในขณะนี้ คือ อ่างเก็บน้ำห้วยจระเข้มาก และอ่างเก็บน้ำห้วยตลาด แหล่งน้ำดิบที่ใช้ผลิตประปาหล่อเลี้ยงประชาชนในเขตอำเภอเมืองบุรีรัมย์ รวมถึงห้างร้านและสถานประกอบการต่างๆ ซึ่งถือเป็นเขตเศรษฐกิจสำคัญ ปัจจุบันมีน้ำรวมกันทั้ง 2 อ่างเพียง 30 เปอร์เซ็นต์ หรือ 17 ล้านลูกบาศก์เมตรเท่านั้น ซึ่งถือว่าอยู่ในเกณฑ์ที่เสี่ยงจะไม่เพียงพอผลิตประปาได้ตลอดฤดูแล้งนี้

จากกรณีดังกล่าวทางโครงการชลประทานจังหวัดบุรีรัมย์จึงได้นำเรื่องเสนอต่อผู้ว่าราชการจังหวัดบุรีรัมย์เพื่อพิจารณาจัดหางบประมาณกรณีเร่งด่วน มาดำเนินการสูบผันน้ำจากลำน้ำมาศระยะทาง 16 กิโลเมตรมาเติมไว้ในอ่างเก็บน้ำห้วยจระเข้มากเพื่อสำรองไว้ผลิตประปาป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาขาดแคลนน้ำอุปโภคบริโภค แต่จะต้องเร่งสูบภายในกลางเดือนตุลาคมนี้เนื่องจากขณะนี้น้ำในลำน้ำมาศยังมีน้ำเพียงพอที่จะสูบมาได้ แต่หากไม่เร่งดำเนินการอาจจะไม่มีน้ำเพียงพอที่จะสามารถสูบได้

นายกิติกุล เสภาศีราภรณ์ ผู้อำนวยการโครงการชลประทานบุรีรัมย์ ระบุว่า สถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำทั้ง 16 แห่งค่อนข้างน่าห่วง เนื่องจากปีนี้มีฝนตกน้อยเพียง 800 มิลลิเมตรเท่านั้นซึ่งต่ำกว่าเกณฑ์ปกติ ที่ปริมาณน้ำฝนจะตกเฉลี่ยอยู่ที่ 1,200 มิลลิเมตร ซึ่งภายในเดือนนี้ที่จะสิ้นสุดฤดูฝนหากไม่มีฝนตกลงมาเพิ่มปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำ หรือแหล่งน้ำตามธรรมชาติ อาจส่งผลกระทบกับปัญหาน้ำอุปโภคบริโภค และพื้นที่การเกษตรได้

จากกรณีดังกล่าวจึงอยากร้องขอให้ประชาชน และเกษตรกรช่วยกันประหยัดน้ำ หากเป็นไปได้ควรจะเก็บสำรองน้ำไว้ใช้ในยามฉุกเฉินด้วย
นายกิติกุล  เสภาศีราภรณ์   ผอ.โครงการชลประทานบุรีรัมย์
กำลังโหลดความคิดเห็น