xs
xsm
sm
md
lg

สถานการณ์น้ำในบุรีรัมย์น่าห่วง อ่างเก็บน้ำ 16 แห่งเหลือไม่ถึง 40%

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

สถานการณ์น้ำในจ.บุรีรัมย์น่าห่วง เหตุปริมาณน้ำในอ่างทั้งหมดในจ.บุรีรัมย์เหลือน้ำไม่ถึง 40%
บุรีรัมย์ - สถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำทั้ง 16 แห่งของ จ.บุรีรัมย์ ยังน่าห่วง เหลือน้ำไม่ถึงร้อยละ 40 ของความจุ เหตุฝนไม่ตกในพื้นที่รับน้ำ ชี้หากฝนตกน้อยและขาดน้ำไหลเข้าอ่างภายใน 1-2 เดือนนี้ เสี่ยงเกิดภาวะภัยแล้ง แต่โชคยังดีมีฝนตกในพื้นที่เกษตรนอกเขตชลประทาน

วันนี้ (11 ก.ย.) นายกิติกุล เสภาศีราภรณ์ ผู้อำนวยการโครงการชลประทานบุรีรัมย์ เปิดเผยถึงสถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำและฝายที่อยู่ในความดูแลทั้งจังหวัดบุรีรัมย์ จำนวน 16 แห่ง ว่าขณะนี้มีปริมาณน้ำกักเก็บในอ่างเฉลี่ยร้อยละ 38.44 หรือ 111.91 ล้านลูกบาศก์เมตรของความจุอ่างทั้งหมด 291.14 ล้านลูกบาศก์เมตร เปรียบเทียบในช่วงเดียวกันถือว่าปีนี้น้ำยังอยู่ในระดับต่ำ เนื่องจากฝนยังตกน้อยกว่าเกณฑ์ปกติ และไม่ได้ตกในพื้นที่รับน้ำจึงทำให้ปริมาณน้ำไม่เพิ่มขึ้นจากเดิมมากนัก

สิ่งที่น่าห่วง คือ ภายใน 1-2 เดือนนี้ซึ่งใกล้จะสิ้นสุดฤดูฝนแล้ว หากฝนยังตกน้อยหรือไม่มีพายุเข้าและไม่ตกในพื้นที่รับน้ำจะเสี่ยงเกิดภาวะภัยแล้งอย่างแน่นอน โดยเฉพาะอ่างเก็บน้ำห้วยจระเข้มาก ขณะนี้มีปริมาณน้ำกักเก็บในอ่างเฉลี่ยร้อยละ 25.67 หรือ 6.32 ล้านลูกบาศก์เมตร ของความจุอ่างทั้งหมด 26.02 ล้าน ลบ.ม. และอ่างเก็บน้ำห้วยตลาด มีปริมาณน้ำกักเก็บในอ่างเฉลี่ยร้อยละ 35.53 หรือ 9.26 ล้านลูกบาศก์เมตรของความจุอ่างทั้งหมด 27.82 ล้าน ลบ.ม.

โดยเป็นแหล่งน้ำดิบสำคัญที่ใช้ผลิตประปาบริการประชาชนในเขต อ.เมืองบุรีรัมย์ และ อ.ห้วยราช เฉลี่ยเดือน 100,000 ลูกบาศก์เมตร อาจไม่เพียงพอ จึงอยากร้องขอให้ประชาชน และเกษตรกรช่วยประหยัดการใช้น้ำและกักเก็บน้ำไว้ใช้ในช่วงหน้าแล้งด้วย

อย่างไรก็ตาม ฝนที่ตกมาเป็นช่วงๆ ไม่ต่อเนื่อง ถึงจะไม่เกิดเป็นน้ำไหลบ่าและไหลเข้าอ่างเก็บน้ำ แต่ก็ส่งผลดีต่อพื้นที่การเกษตรทั้งในเขตชลประทาน โดยเฉพาะพื้นที่นาข้าวในเขตของอ่างเก็บน้ำห้วยจระเข้มากที่มีพื้นที่อยู่กว่า 10,000 ไร่ ทำให้ช่วงนี้สามารถลดการปล่อยน้ำเพื่อการเกษตรลดลงเหลือวันละ 100,000 ลูกบาศก์เมตร จากปกติต้องปล่อยวันละ 150,000-200,000 ลูกบาศก์เมตร ส่วนพื้นที่นอกเขตชลประทานในหลายอำเภอที่ประสบปัญหาขาดน้ำหล่อเลี้ยง ทำให้นาข้าวเหี่ยวเฉาใกล้แห้งตายก็เริ่มฟื้นตัวเป็นผลดีต่อชาวนา



กำลังโหลดความคิดเห็น