บุรีรัมย์ - ผอ.เขื่อนลำนางรอง จ.บุรีรัมย์ เตือนเกษตรกรทั้งใน และนอกเขตชลประทานชะลอเพาะปลูกข้าว หวั่นเกิดภาวะฝนทิ้งช่วง ผลผลิตขาดน้ำเสียหาย หลังหลายพื้นที่มีฝนตกน้อย ทำน้ำในอ่าง 4 แห่ง มีปริมาณลดต่ำ ขณะทั้งจังหวัดมีนาข้าวที่หว่านไปแล้วขาดน้ำหล่อเลี้ยงที่คาดว่าจะเสียหายกว่า 272,000 ไร่
วันนี้ (21 มิ.ย.) นายสุพัฒน์ ฤทธิชู ผู้อำนวยการโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาลำนางรอง อ.โนนดินแดง จ.บุรีรัมย์ เปิดเผยว่า ได้แจ้งเตือนเกษตรกรทั้งใน และนอกเขตชลประทานให้ชะลอการเพาะปลูกข้าวออกไปก่อน เป็นช่วงปลายเดือนกรกฎาคม หรือต้นเดือนสิงหาคม 2558 เพื่อลดความเสี่ยงต่อผลผลิตข้าวที่จะขาดน้ำหล่อเลี้ยงเสียหาย เนื่องจากเกรงจะเกิดภาวะฝนทิ้งช่วง และประสบปัญหาภัยแล้ง เพราะเข้าสู่ฤดูฝนแล้ว แต่หลายพื้นที่ยังมีฝนตกน้อย ส่งผลให้น้ำในเขื่อนลำนางรอง ขณะนี้มีปริมาณน้ำกักเก็บเพียงร้อยละ 52.16 หรือ 63.33 ล้านลูกบาศก์เมตร จากปริมาณความจุ 121.414 ล้านลูกบาศก์เมตร
โดยในพื้นที่โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาลำนางรอง มีอ่างเก็บน้ำอยู่ 4 อ่าง คือ เขื่อนลำนางรอง, อ่างเก็บน้ำคลองมะนาว, อ่างเก็บน้ำลำปะเทีย และอ่างเก็บน้ำลำจังหัน ในจำนวนนี้มีอ่างเก็บน้ำที่มีปริมาณน้ำเก็บกักน้อย คือ อ่างเก็บน้ำคลองมะนาว มีปริมาณน้ำเพียง 26 เปอร์เซ็นต์ หรือประมาณ 700,000 ลูกบาศก์เมตร ซึ่งอ่างแห่งนี้ใช้เพื่อการผลิตประปาบริการประชาชนของอำเภอโนนดินแดง เฉลี่ยเดือนละ 100,000 ลบ.ม. คาดว่ายังมีปริมาณน้ำพอเพียงสำหรับผลิตประปาตลอดฤดูกาลนี้
ทั้งนี้ จากข้อมูลพบว่าทั้ง 4 อ่าง มีพื้นที่ทำนาในเขตบริการอยู่กว่า 130,000 ไร่ และการปล่อยน้ำทำการเกษตรแต่ละครั้งจะต้องมีการประชุมชี้แจงเพื่อวางแผนการส่งน้ำก่อนถึงฤดูกาลส่งน้ำร่วมกับสมาชิกกลุ่มผู้ใช้น้ำชลประทาน
อย่างไรก็ตาม จากข้อมูลของสำนักงานเกษตรจังหวัดบุรีรัมย์ พบว่า ขณะนี้ที่นาข้าวที่ประสบภาวะฝนทิ้งช่วงขาดน้ำหล่อเลี้ยงที่คาดว่าจะเสียหายแล้วกว่า 272,000 ไร่ จากพื้นที่นาข้าวที่เกษตรหว่านไปแล้วกว่า 900,000 ไร่ ขณะที่ปีนี้ทั้งจังหวัดมีข้อมูลการทำนาเกือบ 2 ล้านไร่