บุรีรัมย์ - ระดับน้ำในอ่างเก็บน้ำทั้ง 16 แห่ง บุรีรัมย์ ยังมีปริมาณต่ำกว่าร้อยละ 50 ของความจุ เหตุฝนไม่ตกในพื้นที่รับน้ำ คาดหากฝนยังตกน้อย และไม่มีน้ำไหลเข้าอ่างภายใน 1-2 เดือน ยังเสี่ยงต่อภาวะภัยแล้ง แต่ยังส่งผลดีต่อพื้นที่การเกษตรนอกเขตชลประทานที่ขาดน้ำเหี่ยวเฉาเริ่มฟื้นตัว
วันนี้ (1 ก.ย.) นายเรืองศักดิ์ ฉกรรจ์ศิลป์ นายช่างชลประทาน สำนักงานโครงการชลประทานจังหวัดบุรีรัมย์ เปิดเผยถึงปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำ และฝายที่อยู่ในความดูแลทั้งจังหวัด จำนวน 16 แห่งว่า ขณะนี้มีปริมาณน้ำกักเก็บในอ่างเฉลี่ยร้อยละ 48.79 หรือ 145 ล้านลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) ของความจุอ่างทั้งหมด 298 ล้าน ลบ.ม. ซึ่งหากเปรียบเทียบในช่วงเดียวกันกับปีที่ผ่านมา ถือว่าปีนี้น้ำยังอยู่ในระดับต่ำ เนื่องจากฝนยังตกน้อยกว่าเกณฑ์ปกติ และไม่ได้ตกในพื้นที่รับน้ำ จึงทำให้ปริมาณน้ำไม่เพิ่มขึ้นจากเดิม
อย่างไรก็ตาม ยังส่งผลดีต่อพื้นที่การเกษตรทั้งในเขตชลประทาน โดยเฉพาะพื้นที่นาข้าวในเขตของอ่างเก็บน้ำห้วยจระเข้มากที่มีอยู่กว่า 10,000 ไร่ ช่วงนี้ปล่อยน้ำเพื่อการเกษตรลดลงเพียงวันละ 100,000 ลูกบาศก์เมตร จากปกติต้องปล่อยวันละ 150,000-200,000 ลูกบาศก์เมตร ส่วนพื้นที่นอกเขตชลประทานในหลายอำเภอที่ประสบปัญหาขาดน้ำหล่อเลี้ยงเหี่ยวเฉาใกล้แห้งตายก็เริ่มฟื้นตัวเป็นผลดีต่อชาวนา
นายเรืองศักดิ์ กล่าวอีกว่า สิ่งที่น่าห่วงคือ ภายใน 1-2 เดือนนี้ ซึ่งใกล้สิ้นสุดฤดูฝนแล้วหากยังมีฝนตกน้อย หรือไม่มีพายุเข้า และไม่ตกในพื้นที่รับน้ำจะเสี่ยงต่อภาวะภัยแล้งอย่างแน่นอน โดยเฉพาะอ่างเก็บน้ำห้วยจระเข้มาก ซึ่งเป็นแหล่งน้ำดิบสำคัญที่ใช้ผลิตประปาบริการประชาชนในเขต อ.เมืองบุรีรัมย์ และ อ.ห้วยราช เฉลี่ยเดือน 100,000 ลบ.ม. อาจไม่เพียงพอ ดังนั้น ในช่วงนี้จึงอยากร้องขอให้ประชาชน และเกษตรกรกักเก็บน้ำไว้ใช้ในช่วงหน้าแล้งด้วย