ศูนย์ข่าวเชียงใหม่ - ศูนย์ฝนหลวงพิเศษเชียงใหม่เดินหน้าปฏิบัติการต่อเนื่อง มุ่งเป้าเร่งเติมน้ำในเขื่อนและอ่างเก็บน้ำสำคัญของภาคเหนือ หลังเกิดภาวะฝนตกทิ้งช่วงซ้ำ ส่งผลน้ำไหลเข้าน้อยสวนทางที่ต้องปล่อยหล่อเลี้ยงพื้นที่เพาะปลูกและนาข้าว หวังมีพายุเข้าและฝนตกต่อเนื่องถึงเดือนพฤศจิกายน ช่วยปีหน้ามีน้ำพอใช้
รายงานจากจังหวัดเชียงใหม่แจ้งว่า ขณะนี้ศูนย์ฝนหลวงพิเศษเชียงใหม่ยังคงเดินหน้าปฏิบัติการทำฝนหลวงอย่างต่อเนื่องเพื่อช่วยเหลือพื้นที่เกษตร โดยเฉพาะการเพิ่มปริมาณน้ำในเขื่อนหลักของภาคเหนือ ทั้งเขื่อนภูมิพล และเขื่อนสิริกิติ์ รวมทั้งเขื่อนแม่งัดสมบูรณ์ชล และเขื่อนแม่กวงอุดมธารา จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งในช่วงต้นเดือนสิงหาคม 2558 ปริมาณน้ำในเขื่อนเพิ่มขึ้นจนสถานการณ์วิกฤตคลี่คลายลงเนื่องจากฝนที่ตกหนักต่อเนื่อง
อย่างไรก็ตาม ล่าสุดสถานการณ์เริ่มกลับมาน่าเป็นห่วงอีกครั้งหลังจากที่เกิดภาวะฝนทิ้งช่วง เนื่องจากเขื่อนมีการปล่อยน้ำเพื่อหล่อเลี้ยงพื้นที่เพาะปลูกและการเกษตร โดยเฉพาะการปลูกข้าวนาปีอย่างต่อเนื่องและเป็นจำนวนมาก สวนทางกับปริมาณน้ำฝนที่ไหลเข้าเขื่อน
โดยรายงานข่าวแจ้งว่า วานนี้ (25 ส.ค.) ศูนย์ฝนหลวงพิเศษเชียงใหม่ได้ขึ้นบินปฏิบัติการทำฝนหลวงทั้งหมด 8 เที่ยวบิน ในพื้นที่เป้าหมายหวังผลประจำวัน ได้แก่ พื้นที่การเกษตรของจังหวัดแม่ฮ่องสอน เชียงใหม่ ลำพูน ลำปาง ลุ่มรับน้ำเขื่อนภูมิพล เขื่อนแม่งัดสมบูรณ์ชล และเขื่อนแม่กวงอุดมธารา ซึ่งผลที่ได้ทำให้เกิดฝนตกเล็กน้อยบริเวณอำเภอปาย จังหวัดแม่ฮ่องสอน, อำเภอแม่แตง อำเภอสะเมิง อำเภอฮอด อำเภอดอยเต่า อำเภออมก๋อย จังหวัดเชียงใหม่ และอำเภองาว จังหวัดลำปาง รวมทั้งพื้นที่ลุ่มรับน้ำของเขื่อนภูมิพล
ขณะที่ในวันนี้ (26 ส.ค.) ศูนย์ฝนหลวงพิเศษเชียงใหม่มีแผนขึ้นบินปฏิบัติการในพื้นที่เป้าหมายประจำวัน ได้แก่ จังหวัดเชียงใหม่ ลำปาง ลำพูน แพร่ น่าน พะเยา ลุ่มรับน้ำเขื่อนภูมิพล เขื่อนกิ่วลม เขื่อนกิ่วคอหมา เขื่อนแม่งัดสมบูรณ์ชล และเขื่อนแม่กวงอุดมธารา
ทั้งนี้ จากสถานการณ์ปริมาณน้ำสะสมในเขื่อนและอ่างเก็บน้ำต่างๆ ของจังหวัดเชียงใหม่ที่เหลือค่อนข้างน้อยนั้น รายงานข่าวระบุว่า แม้จะเหลือน้อยแต่คาดว่าน่าจะเพียงพอสำหรับการใช้ทำการเกษตรในปีนี้
อย่างไรก็ตาม สิ่งที่น่าเป็นห่วงก็คือหากฝนยังเกิดภาวะทิ้งช่วงอย่างต่อเนื่องและมีปริมาณน้ำไหลเข้าอ่างเก็บน้ำน้อยจะส่งผลกระทบอย่างมากต่อปริมาณน้ำใช้ในปีหน้า โดยในช่วงนับตั้งแต่นี้ไปจนถึงเดือนพฤศจิกายน หากมีพายุและฝนตกต่อเนื่องเพื่อเติมน้ำเข้าสู่อ่างเก็บน้ำและเขื่อนหลักได้ในปริมาณที่มากเพียงพอก็ไม่น่าจะมีปัญหา