xs
xsm
sm
md
lg

น้ำเขื่อนโคราชยังน่าห่วง! พายุ “มูจีแก” ไม่ช่วยเติม รอความหวัง “ฝนหลวง”

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

เขื่อนลำพระเพลิง อ.ปักธงชัย จ.นครราชสีมา  1 ใน 5  เขื่อนใหญ่แหล่งน้ำสำคัญของ จ.นครราชสีมา (แฟ้มภาพ)
ศูนย์ข่าวนครราชสีมา - ชลประทานเผยปริมาณน้ำในเขื่อนทั้งขนาดใหญ่และกลางทุกแห่งของโคราชยังน่าห่วงอยู่ในระดับต่ำกว่าเกณฑ์ ชี้อิทธิพลพายุ “มูจีแก” ไม่นำฝนตกช่วยเติมน้ำเขื่อน จี้เร่งปฏิบัติการทำฝนหลวง ย้ำหากน้ำไม่ถึงร้อยละ 50 ของความจุรวม ปีหน้าแล้งเผาจริงขาดแคลนน้ำแน่

วันนี้ (5 ต.ค.) นายภานรินทร์ ภาณุพินทุ นายช่างชลประทานอาวุโส ปฏิบัติราชการแทนผู้อำนวยการโครงการชลประทานนครราชสีมา เปิดเผยถึงสถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ทั้ง 5 โครงการ และอ่างเก็บน้ำขนาดกลาง 22 โครงการของ จ.นครราชสีมา ว่า ล่าสุดมีปริมาณน้ำรวม 488 ล้านลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) คิดเป็นร้อยละ 41.55 ของความจุที่ระดับกักเก็บรวม 1,174 ล้าน ลบ.ม. น้อยกว่าปีที่แล้วในช่วงเดียวกันที่มีปริมาณน้ำ 560.57 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 47.72 ของความจุที่ระดับกักเก็บรวม 1,147 ล้าน ลบ.ม.

ทั้งนี้ อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ทั้ง 5 โครงการมีปริมาณน้ำรวมอยู่ที่ 380.48 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 40.13 ของความจุระดับกักเก็บรวม 948 ล้าน ลบ.ม. โดยเขื่อนลำตะคอง อ.สีคิ้ว มีปริมาณน้ำ 107.51 ล้าน ลบ.ม. (น้ำใช้การได้ 93.85 ล้าน ลบ.ม.) คิดเป็นร้อยละ 34 ของความจุระดับกักเก็บ 314 ล้าน ลบ.ม. เขื่อนลำพระเพลิง อ.ปักธงชัย มีปริมาณน้ำ 77.71 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 70.88 ของความจุระดับกักเก็บ 109 ล้าน ลบ.ม.

เขื่อนลำมูลบน อ.ครบุรี มีปริมาณน้ำ 48.39 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 34.32 ของความจุระดับกักเก็บ 141 ล้าน ลบ.ม. เขื่อนลำแชะ อ.ครบุรี มีปริมาณน้ำ 92.39 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 33.60 ของความจุระดับกักเก็บ 275 ล้าน ลบ.ม. และ เขื่อนลำปลายมาศ อ.เสิงสาง มีปริมาณน้ำ 45.42 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 46.35 ของความจุระดับกักเก็บ 98 ล้าน ลบ.ม.

ส่วนอ่างเก็บน้ำขนาดกลาง จำนวน 22 โครงการ มีปริมาณน้ำ 107.60 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 47.46 ของความจุที่ระดับกักเก็บรวม 226.74 ล้าน ลบ.ม.

อย่างไรก็ตาม อิทธิพลของพายุ “มูจีแก” ยังไม่ส่งผลให้เกิดฝนตกในพื้นที่จังหวัดนครราชสีมามากนัก และสภาพอากาศโดยทั่วไปวันนี้ที่ จ.นครราชสีมา ท้องฟ้าค่อนข้างโปร่ง ซึ่งขณะนี้คงต้องอาศัยหน่วยปฏิบัติการฝนหลวงเร่งทำฝนหลวงเพื่อให้มีน้ำเติมอ่าง หากปริมาณน้ำรวมทุกอ่างไม่ถึงร้อยละ 50 ภายในเดือน ต.ค.นี้ ซึ่งคาดการณ์ว่าฝนจะหมดเร็วกว่าทุกปีหรือไม่เกินวันที่ 15 ต.ค.นี้ จังหวัดนครราชสีมาจะเจอภาวะวิกฤตแล้งขาดแคลนน้ำอย่างรุนแรงในปี 2559 แน่
กำลังโหลดความคิดเห็น