ศูนย์ข่าวนครราชสีมา- ฝนไม่ช่วยเติมเขื่อนโคราช ล่าสุด 5 เขื่อนใหญ่มีน้ำเหลือน้อยแค่ 25% เท่านั้น ขณะ “เขื่อนลำตะคอง” เส้นเลือดใหญ่ยังวิกฤตมีน้ำใช้การได้ 15% ห่วงปีหน้าแล้งหนัก จี้ท้องถิ่นเตรียมแผนรองรับก่อนเกิดปัญหาใหญ่ ชี้ซ้ำร้าย “เอลนีโญ” รุนแรงทำฝนหมดและหนาวมาเร็ว ด้าน “เขื่อนลำพระเพลิง” เร่งสร้างอาคารระบายน้ำเพื่อเพิ่มความจุอีก 50 ล้าน ลบ.ม.ทันปลายฝน ต.ค.นี้
วันนี้ (26 ส.ค.) นายสิทธิโรจน์ กองแก้ว ผู้อำนวยการโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาลำตะคอง เปิดเผยว่า แม้เข้าสู่ฤดูฝนมาได้เกือบ 2 เดือนแล้ว แต่ปรากฏว่าน้ำฝนที่ตกลงมาส่วนใหญ่อยู่ในพื้นที่ใต้เขื่อนเป็นหลัก บริเวณอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่มีฝนตกน้ำมากทำให้ไม่มีน้ำไหลเข้ามาเติมน้ำในอ่างเก็บน้ำลำตะคอง โดยตั้งแต่วันที่ 1-26 ส.ค. มีน้ำไหลเข้าอ่างแค่ 9.4 ล้านลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) เท่านั้น ทำให้มีน้ำใช้การได้ขณะนี้เหลือแค่ 49.9 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 15.8 ของความจุ ระดับกักเก็บ 314 ล้าน ลบ.ม.
ขณะที่ทางโครงการฯ ได้มีการระบายน้ำออกจากอ่างเพื่อส่งให้ท้องถิ่นได้ใช้ผลิตประปาและหล่อเลี้ยงระบบนิเวศในช่วงเวลาดังกล่าว รวมกว่า 5.88 ล้าน ลบ.ม. หรือวันละกว่า 259,200 ลบ.ม.
ขณะนี้ได้แจ้งเตือนไปยังการประปาท้องถิ่นทุกแห่งให้เตรียมแผนรับมือไว้ล่วงหน้า เนื่องจากปีนี้ฝนตกเหนือเขื่อนน้อยทำให้น้ำไหลลงอ่างน้อยมาก หากเป็นเช่นนี้คาดว่าปีหน้าจะเกิดวิกฤตหนัก และปีนี้จังหวัดนครราชสีมาไม่มีพายุฝนเข้ามาเลยแม้แต่ลูกเดียว และโดยปกติทุกปีที่ผ่านมาจังหวัดนครราชสีมามักมีปริมาณฝนตกชุกช่วงปลายฤดูฝนในเดือน ต.ค. แต่จากปรากฏการณ์เอลนีโญมีกำลังแรงขึ้นอาจทำให้เดือน ต.ค.ปีนี้มีลมหนามแผ่ลงมาเร็วกว่าทุกปี จะทำให้ฤดูฝนหมดเร็วเช่นเดียวกับปี 2557 ที่ไม่มีพายุพัดผ่านเข้ามาเช่นกัน ฉะนั้นจำเป็นอย่างยิ่งที่ท้องงถิ่นต้องกำหนดมาตรการรับมือไว้ล่วงหน้า
ทางด้านเขื่อนลำพระเพลิง อ.ปักธงชัย จ.นครราชสีมา ได้เร่งก่อสร้างปรับปรุงอาคารระบายน้ำล้น (สปิลเวย์) เพื่อเพิ่มความจุของอ่างได้อีกกว่า 50 ล้าน ลบ.ม. จากความจุระดับกักเก็บเดิม 109 ล้าน ลบ.ม. พร้อมเสริมสันเขื่อนให้มีความแข็งแรงมากขึ้นด้วยการอัดคอนกรีต โดยมีกำหนดแล้วเสร็จในเดือน ก.ย.นี้ ขณะนี้การก่อสร้างแล้วเสร็จไปกว่าร้อยละ 90 แล้ว เหลือเพียงการทดสอบระบบต่างๆ เท่านั้น
สำหรับสถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ทั้ง 5 โครงการ ของ จ.นครราชสีมา ล่าสุดมีปริมาณมีปริมาณน้ำอยู่ 237 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 25 ของความจุระดับกักเก็บรวม 948 ล้าน ลบ.ม. ประกอบด้วย เขื่อนลำตะคอง อ.สีคิ้ว มีปริมาณน้ำเหลือ 66.83 ล้าน ลบม. (น้ำใช้การได้ 49.9 ล้าน ลบ.ม.) คิดเป็นร้อยละ 21 ของความจุระดับกักเก็บ 314 ล้าน ลบ.ม. เขื่อนลำพระเพลิง อ.ปักธงชัย มีปริมาณน้ำเหลือ 19 ล้าน ลบม. คิดเป็นร้อยละ 17 ของความจุระดับกักเก็บ 109 ล้าน ลบ.ม. เขื่อนลำมูลบน อ.ครบุรี มีปริมาณน้ำเหลือ 39 ล้าน ลบม. คิดเป็นร้อยละ 27.7 ของความจุระดับกักเก็บ 141 ล้าน ลบ.ม. เขื่อนลำแชะ อ.ครบุรี มีปริมาณน้ำเหลือ 64 ล้าน ลบม. คิดเป็นร้อยละ 23.4 ของความจุระดับกักเก็บ 275 ล้าน ลบ.ม. และ เขื่อนลำปลายมาศ อ.เสิงสาง มีปริมาณน้ำเหลือ 41.7 ล้าน ลบม. คิดเป็นร้อยละ 42.6 ของความจุระดับกักเก็บ 98 ล้าน ลบ.ม.
ส่วนอ่างเก็บน้ำขนาดกลางจำนวน 22 โครงการ มีปริมาณน้ำเหลือ 75 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 33 ของความจุที่ระดับกักเก็บรวม 226.74 ล้าน ลบ.ม.