ศูนย์ข่าวนครราชสีมา - น้ำฝนเติม “เขื่อนลำตะคอง” เส้นเลือดใหญ่โคราชเล็กน้อย 8.6 ล้าน ลบ.ม. แต่ระบายออก 13 ล้าน ลบ.ม. หวังรับฝนเพิ่มอีกในเดือน ส.ค. แต่ยังต้องขอความร่วมมือประชาชนประหยัดน้ำต่อไปอีก ขณะนาข้าวพืชผลเกษตรได้รับผลดีจากน้ำฝนเริ่มฟื้นตัว ส่วนน้ำใน 5 เขื่อนใหญ่ยังต้องบริหารจัดการใช้น้ำต่อ
วันนี้ (1 ส.ค.) นายสิทธิโรจน์ กองแก้ว ผู้อำนวยการโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาลำตะคอง เปิดเผยถึงตลอดช่วงเดือน ก.ค.ที่ผ่านมา มีฝนตกลงมาต่อเนื่องส่งผลดีต่อสถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำลำตะคอง อ.สีคิ้ว จ.นครราชสีมา โดยตั้งแต่วันที่ 1-30 ก.ค.2558 มีปริมาณฝนตกเหนือเขื่อนลำตะคอง 69.5 มม. ทำให้มีน้ำไหลลงอ่างทั้งสิ้น 8.644 ล้านลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) แม้เป็นปริมาณที่ไม่มากนักแต่ทำให้มีน้ำมาเติมส่วนที่มีอยู่เพิ่มขึ้นเล็กน้อย เนื่องจากตลอดทั้งเดือนทางโครงการฯ มีการระบายน้ำออกจากอ่างฯ เพื่อส่งให้ท้องถิ่นได้ใช้ผลิตประปา และหล่อเลี้ยงระบบนิเวศรวมทั้งสิ้นกว่า 13 ล้าน ลบ.ม.
โดยล่าสุด เขื่อนลำตะคอง มีปริมาณน้ำใช้การได้ 48.91 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 15.55 ของความจุระดับกักเก็บ 314 ล้าน ลบ.ม. ฉะนั้นจึงต้องขอร้องประชาชนในการช่วยกันประหยัดน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภคต่อไป ส่วนการเกษตรสถานการณ์เริ่มคลี่คลายเนื่องจากมีฝนตกลงมาทำให้นาข้าว และพืชผลทางการเกษตรฟื้นตัวรอดแห้งตาย
ทั้งนี้ คาดว่าในช่วงเดือน ส.ค.-ต.ค. จะมีฝนตกลงมาเติมน้ำในอ่างเก็บน้ำลำตะคองได้อีก ทางโครงการฯ ได้เตรียมกักเก็บน้ำไว้พร้อม ซึ่งจังหวัดนครราชสีมา มักมีฝนตกช่วงปลายฤดูกาลของทุกปี
สำหรับสถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ทั้ง 5 โครงการ ของ จ.นครราชสีมา ล่าสุด มีปริมาณมีปริมาณน้ำอยู่ 264.18 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 27.87 ของความจุระดับกักเก็บ 948 ล้าน ลบ.ม. เขื่อนลำตะคอง อ.สีคิ้ว แหล่งน้ำหลักหล่อเลี้ยงเมืองโคราช มีปริมาณน้ำเหลือ 71.72 ล้าน ลบม. (น้ำใช้การได้ 48.91 ล้าน ลบ.ม.) คิดเป็นร้อยละ 22 ของความจุระดับกักเก็บ 314 ล้าน ลบ.ม.
เขื่อนลำพระเพลิง อ.ปักธงชัย มีปริมาณน้ำเหลือ 22.07 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 20 ของความจุระดับกักเก็บ 109 ล้าน ลบ.ม. เขื่อนลำมูลบน อ.ครบุรี มีปริมาณน้ำเหลือ 46.87 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 33 ของความจุระดับกักเก็บ 141 ล้าน ลบ.ม. เขื่อนลำแชะ อ.ครบุรี มีปริมาณน้ำเหลือ 77.32 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 28 ของความจุระดับกักเก็บ 275 ล้าน ลบ.ม. และเขื่อนลำปลายมาศ อ.เสิงสาง มีปริมาณน้ำเหลือ 46.20 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 47 ของความจุระดับกักเก็บ 98 ล้าน ลบ.ม.
ส่วนอ่างเก็บน้ำขนาดกลาง 22 โครงการ มีปริมาณน้ำเหลือ 58.06 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 25.61 ของความจุที่ระดับกักเก็บรวม 226.74 ล้าน ลบ.ม. ซึ่งเพิ่มขึ้นเล็กน้อยซึ่งทุกเขื่อนยังคงใช้แผนบริหารจัดการน้ำต่อไปโดยเน้นเพื่อการอุปโภคบริโภคเป็นหลัก