xs
xsm
sm
md
lg

ศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงภาคเหนือส่งวันละ 9 เที่ยวบินเร่งกู้วิกฤตแล้งเติมน้ำเข้า 5 เขื่อนหลัก

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


ศูนย์ข่าวเชียงใหม่ - ศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงภาคเหนือเชียงใหม่ส่งเครื่องบินวันละ 9 เที่ยวขึ้นบินโปรยสารฝนหลวง เร่งปฏิบัติภารกิจเน้นพื้นที่รับน้ำ 5 เขื่อนหลักทั่วภาคเหนือ เผยอาจต้องขยายระยะเวลาแผนปฏิบัติการออกไป หวังเติมน้ำเข้าเขื่อนให้ได้มากที่สุด

นางสาวหนึ่งฤทัย ตันติพลับทอง ผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงภาคเหนือ จังหวัดเชียงใหม่ เปิดเผยว่า จากการที่วานนี้ (21 ก.ย. 58) ศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงเชียงใหม่ไม่สามารถขึ้นบินปฏิบัติการฝนหลวงได้ เนื่องจากลมชั้นบนมีกำลังแรง ทำให้เมฆไม่พัฒนาตัวในแนวตั้ง และสลายตัวอย่างรวดเร็ว

ซึ่งจากการคาดการณ์ของกรมอุตุนิยมวิทยาว่าในวันนี้จะมีอิทธิพลร่องมรสุมเข้ามาทางภาคเหนือตอนล่าง และขยับขึ้นมาตอนบนด้านตะวันออกของภาคเหนือตอนบน ทำให้สภาพอากาศ รวมถึงปัจจัยต่างๆ เอื้ออำนวยต่อการทำฝนหลวง ล่าสุดวันนี้ (22 ก.ย. 58) เมื่อเวลา 10.00 น. ศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงภาคเหนือเชียงใหม่ได้นำเครื่องบินคาราแวนและกาซาร์ออกปฏิบัติการโปรยสารฝนหลวง รวม 9 เที่ยวบิน

โดยมีพื้นที่เป้าหมาย 8 จังหวัดภาคเหนือตอนบน ได้แก่ จ.เชียงใหม่ ลำปาง แพร่ ลำพูน แม่ฮ่องสอน เชียงราย น่าน พะเยา และได้เน้นในพื้นที่ลุ่มรับน้ำ 5 เขื่อนหลัก คือ เขื่อนภูมิพล เขื่อนกิ่วลม เขื่อนกิ่วคอหมา เขื่อนแม่งัดสมบูรณ์ชล และเขื่อนแม่กวงอุดมธารา ครอบคลุมไปถึงพื้นที่การเกษตร อย่างไรก็ตาม สำหรับแผนปฏิบัติการฝนหลวงที่จะสิ้นสุดในวันที่ 31 ต.ค.นี้

อาจจะมีการเลื่อนออกไปเป็นประมาณต้น-กลางเดือนพฤศจิกายน หรือจนกว่าจะมีการประกาศเข้าสู่หน้าหนาว โดยมีภารกิจหลักคือนำน้ำเข้าเขื่อนให้ได้มากที่สุด เนื่องจากในปีนี้เป็นปีที่ฝนตกทิ้งช่วงเป็นระยะเวลายาวนาน ส่งผลให้หลายพื้นที่ประสบปัญหาขาดแคลนน้ำ รวมถึงปริมาณน้ำในเขื่อนยังมีไม่เพียงพอต่อความต้องการ

ด้านสถานการณ์น้ำใน 2 เขื่อนหลักของเชียงใหม่นั้นยังคงค่อนข้างวิกฤตเนื่องจากมีปริมาณน้ำไหลเข้าเขื่อนน้อยมาก ซึ่งที่เขื่อนแม่งัดสมบูรณ์ชล อ.แม่แตง จ.เชียงใหม่ สามารถกักเก็บน้ำได้ 265 ล้านลูกบาศก์เมตร แต่ขณะนี้มีปริมาณน้ำกักเก็บอยู่เพียง 63 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือคิดเป็นร้อยละ 24 ของความจุทั้งหมด ขณะที่ปริมาณน้ำไหลเข้าอ่างมีเพียง 0.27 ล้านลูกบาศก์เมตร

ส่วนที่เขื่อนแม่กวงอุดมธารา อ.ดอยสะเก็ด จ.เชียงใหม่ พบว่ามีปริมาณน้ำกักเก็บเหลืออยู่เพียง 29 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือคิดเป็นร้อยละ 11 ของความจุทั้งหมด ซึ่งความสามารถในการกักเก็บได้สูงสุด 263 ล้านลูกบาศก์เมตร และมีปริมาณน้ำไหลเข้าอ่างเพียง 0.03 ล้านลูกบาศก์เมตร


กำลังโหลดความคิดเห็น