xs
xsm
sm
md
lg

“หว่ามก๋อ” ช่วยฟื้นนาข้าวบุรีรัมย์ขาดน้ำ 2 แสนไร่ ขณะ 16 เขื่อนน้ำเพิ่มแต่ยังต่ำกว่าเกณฑ์

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


บุรีรัมย์ - อิทธิพลพายุ “หว่ามก๋อ” ส่งผลให้บุรีรัมย์มีฝนตก 80% ของพื้นที่เป็นผลดีนาข้าวเกษตรกรประสบภาวะฝนทิ้งช่วงขาดน้ำหล่อเลี้ยงกว่า 2 แสนไร่ เริ่มกลับฟื้นตัว ขณะเกษตรกรหลายพื้นที่ลงมือใส่ปุ๋ยบำรุงต้นข้าวและกำจัดวัชพืช ขณะเขื่อนขนาดเล็ก-ใหญ่ 16 แห่งมีน้ำเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 6 ล้าน ลบ.ม. แต่หากเทียบปริมาณน้ำยังต่ำกว่าเกณฑ์

วันนี้ (16 ก.ย.) อิทธิพลจากพายุ “หว่ามก๋อ” ที่ส่งผลให้จังหวัดบุรีรัมย์มีฝนตกเฉลี่ยร้อยละ 80 ของพื้นที่ติดต่อกัน 2 วัน ทำให้เป็นผลดีต่อพื้นที่นาข้าวของเกษตรกรที่ก่อนหน้านี้ประสบกับภาวะฝนทิ้งช่วงขาดน้ำหล่อเลี้ยงมีสภาพเหี่ยวเฉาใกล้แห้งตายกว่า 200,000 ไร่ จากพื้นที่เพาะปลูกทั้งจังหวัดกว่า 2.9 ล้านไร่ เริ่มกลับมาฟื้นตัวอีกครั้ง

ขณะที่เกษตรกรบ้านโคกสะอาด ต.อิสาณ อ.เมือง จ.บุรีรัมย์ ถือโอกาสช่วงที่มีฝนตกลงมาในช่วงนี้ลงมือใส่ปุ๋ยบำรุงต้นข้าวให้เจริญงอกงาม พร้อมทั้งกำจัดวัชพืชที่ขึ้นปกคลุมต้นข้าวด้วย รวมทั้งคาดหวังว่าหากมีฝนตกลงมาหล่อเลี้ยงต้นข้าวอย่างต่อเนื่องจะทำให้ปีนี้ได้ผลผลิตดี แต่หากไม่มีฝนตกลงมาหล่อเลี้ยงจะทำให้ข้าวเหี่ยวเฉาและยืนต้นตาย

นายเขียน กุยรัมย์ อายุ 53 ปี เกษตรกรบ้านโคกสะอาด ต.อิสาณ อ.เมือง จ.บุรีรัมย์ บอกว่า ครอบครัวไม่มีที่นาเป็นของตัวเอง ต้องเช่านาคนอื่นทำรวมจำนวน 4 ไร่ แต่ก่อนหน้านี้ประสบปัญหาฝนทิ้งช่วงทำให้ต้นข้าวขาดน้ำบางส่วนแห้งตายต้องลงทุนซ่อมถึง 2 รอบ ทำให้ค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น

อย่างไรก็ตาม หลังจากได้รับอิทธิพลจากพายุ “หว่ามก๋อ” ที่ทำให้มีฝนตกในช่วงนี้เป็นผลดีต่อนาข้าวจึงได้มาใส่ปุ๋ยบำรุงต้นข้าวให้เจริญงอกงาม แต่หากไม่มีฝนตกจะไม่สามารถใส่ปุ๋ยได้ และข้าวจะเหี่ยวเฉายืนต้นตาย

ขณะที่ข้อมูลของสำนักงานเกษตรจังหวัดบุรีรัมย์พบว่า ปีนี้เกษตรกรได้ทำนาทั้งหมด 2.9 ล้านไร่
และคาดว่าหากมีฝนตกลงมาหล่อเลี้ยงในช่วงนี้จะทำให้ได้ผลผลิตดีขึ้น โดยจากปีที่ผ่านมาได้ผลผลิตทั้งหมดกว่า 1 ล้านตัน คาดว่าหากฝนดีปีนี้จะได้ผลผลิตเพิ่มขึ้นอีก 10 เปอร์เซ็นต์ของปีที่ผ่านมา

ทางด้านนายกิติกุล เสภาศีรากรณ์ ผู้อำนวยการโครงการชลประทานจังหวัดบุรีรัมย์ เปิดเผยว่า
หลังอิทธิพลพายุ “หว่ามก๋อ” พาดผ่านพื้นที่ประเทศไทย ภาคอีสาน และจังหวัดบุรีรัมย์ ตั้งแต่วันที่ 15 ก.ย.ที่ผ่านมาจนถึงขณะนี้ส่งผลให้จังหวัดบุรีรัมย์มีฝนตกครอบคลุมในพื้นที่ ปริมาณฝนวัดได้ 74 มิลลิเมตร ส่งผลดีทำให้มีน้ำไหลเข้าอ่างเก็บน้ำทั้งขนาดเล็กและขนาดใหญ่ทั้ง 16 แห่ง ที่มีอยู่ในจังหวัดบุรีรัมย์ มีปริมาณเพิ่มขึ้นเฉลี่ยรวม 6 ล้านลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.)

จากที่ก่อนหน้านี้มีน้ำกักเก็บในอ่างเก็บน้ำทั้งหมด 33 เปอร์เซ็นต์ ของความจุอ่างทั้งสิ้นกว่า 291 ล้านลูกบาศก์เมตร เพิ่มเป็น 39 เปอร์เซ็นต์ของความจุอ่าง หรือปัจจุบันมีน้ำกักเก็บอยู่ 113 ล้านลูกบาศก์เมตรถือว่าเป็นปริมาณน้ำที่กักเก็บต่ำกว่าค่าเฉลี่ย หากเปรียบเทียบในช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมาและจากการสำรวจยังพบว่ายังมีอ่างเก็บ 6 แห่ง มีปริมาณต่ำกว่าเกณฑ์ และเชื่อว่าหลังสิ้นสุดพายุฝนโซนร้อนหว่ามก๋ออีก 2-3 วัน ตามที่กรมอุตุนิยมวิทยาพยากรณ์ไว้ อาจมีน้ำฝนจากพายุไหลเข้ากักเก็บในอ่างเก็บน้ำทั้ง 16 อ่างเพิ่มอีกซึ่งจะทำให้สามารถพ้นจากภาวะวิกฤตภัยแล้งไปได้ในปีนี้

นายกิติกุลกล่าวอีกว่า น้ำที่กักเก็บในอ่างเก็บน้ำห้วยตลาด ปัจจุบันมีปริมาณกักเก็บ 10 ล้านลูกบาศก์เมตร จากความจุอ่าง 27 ล้านลูกบาศก์เมตร และห้วยจระเข้มาก มีปริมาณกักเก็บอยู่ขณะนี้ 7 ล้านลูกบาศก์เมตร จากความจุอ่าง 26 ล้านลูกบาศก์เมตร ซึ่งเป็นน้ำที่จะนำไปใช้ในการผลิตประปาบริการประชาชนในเขตเศรษฐกิจของจังหวัดบุรีรัมย์ ทั้งอำเภอห้วยราช และอำเภอเมืองบุรีรัมย์ ถึงแม้จะมีปริมาณต่ำกว่าเกณฑ์ แต่มั่นใจว่าน้ำทั้ง 2 อ่างจะสามารถนำไปผลิตประปาบริการประชาชนเพียงพอตลอดทั้งปี เพราะทุกปีที่ผ่านมาทางการประปาได้ใช้น้ำจากห้วยจระเข้มากไปผลิตประปาเพียงแห่งเดียว แต่ปีนี้ทางชลประทานจังหวัดร่วมกับการประปาส่วนภูมิภาคได้จัดสร้างโรงสูบน้ำดิบอ่างเก็บน้ำห้วยตลาดนำมาผลิตประปาบริการประชาชนเพิ่มขึ้นเพื่อบริการประชาชนได้อย่างเพียงพอ




กำลังโหลดความคิดเห็น