xs
xsm
sm
md
lg

รองอธิบดีกรมชลฯ ห่วงปริมาณฝนต่ำเกินคาด แนะกักเก็บ/วางแผนใช้น้ำให้มีประสิทธิภาพ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

ร.ต.ไพรเจน มากสุวรรณ์ รองอธิบดีกรมชลประทาน ตรวจพื้นที่ขุดลอกคลองส่งน้ำในพื้นที่จ.อุดรธานี
อุดรธานี - รองอธิบดีกรมชลประทานลงพื้นที่ตรวจปฏิบัติการขุดลอกคลองส่งน้ำในเขตรับผิดชอบสำนักชลประทานที่ 5 อุดรธานี ห่วงปริมาณฝนปีนี้ตกน้อยกว่าปีที่แล้วมากกว่า 20% หวั่นปริมาณน้ำกักเก็บอาจไม่เพียงพอทำการเกษตร แนะประชาชนกักเก็บน้ำให้มากที่สุด พร้อมวางแผนบริหารจัดการใช้น้ำให้มีประสิทธิภาพ

วันนี้ (2 ก.ย. 58) ที่บริเวณคลองผันน้ำที่ 1 บ้านนาดี ต.นาดี อ.เมืองอุดรธานี ริมถนนสายอุดรธานี-หนองบัวลำภู ว่าที่ ร.ต.ไพรเจน มากสุวรรณ์ รองอธิบดีกรมชลประทาน ฝ่ายวิชาการ เดินทางลงพื้นที่เพื่อตรวจปฏิบัติการขุดลอกคลองผนังดังกล่าว โดยมีนายศักดิ์ศิริ อยู่สุข ผอ.สำนักชลประทานที่ 5 นายวิชัย จาตุรงค์กร ผอ.สำนักงานชลประทานจังหวัดหนองคาย รักษาราชการแทน ผอ.สำนักงานชลประทานจังหวัดอุดรธานี และหัวหน้าส่วนราชการสังกัดกรมชลประทาน ร่วมลงพื้นที่ให้ข้อมูล

โดยคณะของรองอธิบดีกรมชลประทานได้เดินตรวจการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่จากศูนย์จักรกลหนักที่ 3 ที่กำลังปฏิบัติการขุดลอกเศษวัชพืชที่ขึ้นอยู่ในลำคลองผันน้ำที่ทางกรมชลประทานได้ก่อสร้างมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2546 เพื่อเป็นคลองผันน้ำที่ไหลมาจากเทือกเขาภูพานในช่วงหน้าฝนและทำให้เกิดน้ำท่วมเมืองอุดรธานีทุกปี

ว่าที่ ร.ต.ไพรเจน มากสุวรรณ์ รองอธิบดีกรมชลประทาน ฝ่ายวิชาการ กล่าวถึงการเดินทางมาตรวจดูการพัฒนาปรับปรุงขุดลอกคลองผันน้ำที่ 1 ว่า เป็นโครงการเร่งด่วนที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี มีบัญชาแก้ปัญหาภัยแล้ง หรืออุทกภัย โดยทางกรมชลประทานได้นำเอาแนวทางมาสู่การปฏิบัติ พื้นที่จังหวัดอุดรธานี กรมชลประทานได้กำหนดพื้นที่ปฏิบัติงาน 3 แห่ง คือ แก้มลิงโศกเสี้ยว อ่างเก็บน้ำบ้านจั่น ต.บ้านจั่น และคลองผันน้ำที่ 1 โดยที่บริเวณคลองส่งน้ำที่ 1 นี้จะขุดลอกเป็นระยะทาง 2 กิโลเมตร ใช้เวลาปฏิบัติการ 10 วัน โดยใช้เครื่องจักรกลจากศูนย์จักรกลที่ 3 เพื่อขุดลอกเอาเศษวัชพืชจำนวนมากให้น้ำฝนสามารถไหลผ่านสะดวก ป้องกันน้ำท่วมเมืองอุดรธานี

“ภาพรวมทั้งประเทศมีฝนตกลงมาน้อยกว่าเมื่อปีที่แล้วประมาณ 20% เมื่อสิ้นหน้าฝนนี้คาดว่าจะมีน้ำเพียงพอต่อการบริโภคเท่านั้น ส่วนน้ำสำหรับทำการเกษตรยังน่าเป็นห่วงโดยเฉพาะการทำนาปรัง เนื่องจากจะต้องเก็บน้ำเอาไว้ใช้ในต้นฤดูนาปีที่จะถึงในปีหน้า หากมีฝนตก หรือมีพายุที่คาดว่ายังมีอยู่อีกประมาณ 10 ลูกพัดเข้าสู่ประเทศไทยในช่วง 2 เดือนข้างหน้า มีน้ำเกินกว่าที่มีอยู่ในขณะนี้ก็สามารถเอามาใช้ได้” รองอธิบดีกรมชลประทานกล่าว และว่า

สำหรับสถานการณ์ในพื้นที่รับผิดชอบของสำนักชลประทานที่ 5 ที่มีพื้นที่รับผิดชอบ 6 จังหวัดนั้น มีสภาวะที่ไม่แตกต่างไปจากภาพรวมทั้งประเทศนัก ปริมาณฝนตกน้อยกว่าปีที่แล้ว เพราะโดยปกติเมื่อถึงเดือนสิงหาคมทุกปีจะมีฝนตกโดยเฉลี่ยแล้วอยู่ที่ 900 กว่ามิลลิเมตร แต่ขณะนี้มีฝนตกเฉลี่ยที่ 700 มิลลิเมตรเศษเท่านั้น หรือน้อยกว่าปีที่แล้วประมาณมากกว่า 20% จึงขอให้เกษตรกรช่วยกันเก็บกักน้ำไว้มากที่สุดเพื่ออุปโภค บริโภค และเพื่อทำการเกษตรในฤดูแล้ง จะต้องวางแผนใช้น้ำให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด

ด้านนายศักดิ์ศิริ อยู่สุข ผู้อำนวยการสำนักชลประทานที่ 5 ซึ่งมีพื้นที่รับผิดชอบ 6 จังหวัดภาคอีสานตอนบน กล่าวถึงโครงการขุดลอกร่องน้ำ คลองส่งน้ำในพื้นที่รับผิดชอบว่า ปีงบประมาณ 2558 ซึ่งเป็นงบเร่งด่วนนั้น มีโครงการต่างๆ อยู่ประมาณ 30 โครงการ โดยเป็นการพัฒนาปรับปรุงแหล่งน้ำที่มีอยู่แล้วเพื่อเพิ่มความจุของแหล่งน้ำ ซึ่งในปีงบประมาณ 2559 ทางสำนักชลประทานที่ 5 มีแผนงานลักษณะเดียวกันอีกประมาณ 300 โครงการ

อาทิ การก่อสร้างอาคารพัฒนาปรับปรุงแหล่งน้ำขนาดกลาง ขนาดเล็ก หรือแก้มลิงสถานีสูบน้ำด้วยไฟฟ้า โดยได้เสนอของบประมาณไปแล้วประมาณ 3,500 ล้านบาท หากได้รับการสนับสนุนงบประมาณดังกล่าวจะทำให้พื้นที่ทั้ง 6 จังหวัดนี้มีน้ำเพิ่มจากเดิมอีกประมาณ 200 ล้าน ลบ.ม. เพิ่มพื้นที่เกษตรได้อีกกว่า 1 แสนไร่



กำลังโหลดความคิดเห็น