ตราด - กรมการขนส่งทางบก เปิดรับฟังความคิดเห็นผู้ประกอบการสร้างสถานีขนส่งรับเขตเศรษฐกิจไม้รูด เผยได้ที่เหมาะที่ไม้รูด 80 ไร่ พร้อมงบ 3 พันล้าน ส่วนอีก 2 จุดไม่เหมาะ เหตุใกล้พื้นที่เศรษฐกิจ
วันนี้ (31 ส.ค.) ที่โรงแรมเซนทาร่า ชานทะเล รีสอร์ท แอนด์ วิลล่าตราด นายณรงค์ ธีระจันทรางกรู ผู้ว่าราชการจังหวัดตราด เป็นประธานเปิดการสัมมนากลุ่มย่อย โครงการศึกษาความเป็นไปได้ และรูปแบบการบริหารจัดการสถานีขนส่งสินค้าภูมิภาคในพื้นที่เขตเศรษฐกิจจังหวัดตราด
นายวันชัย กุลกาญจนาธร รักษาการขนส่งจังหวัดตราด กล่าวว่า กรมการขนส่งทางบกได้ดำเนินดำเนินงานตามนโยบายของกระทรวงคมนาคมในการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษซึ่งจุดเป็นยุทธศาสตร์เร่งด่วนสำคัญของรัฐบาล โดยเน้นไปที่พื้นที่ติดกับชายแดนประเทศเพื่อนบ้านที่มีศักยภาพ รัฐบาลได้เร่งขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ดังกล่าวอย่างต่อเนื่อง
เช่น การจัดหาที่ดินเพื่อใช้ประโยชน์ในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ การกำหนดสิทธิประโยชน์ที่เอื้อต่อการลงทุนใหม่ของภาคเอกชน ในส่วนขงอาภาครัฐเองหน่วยงานที่เกี่ยวข้องก็เตรียมการพัฒนาระบบสาธารณูปโภค และสาธารณูปการเพื่อรองรับพื้นที่ดังกล่าว ซึ่งกรมการขนส่งทางบกก็ได้เตรียมการพัฒนาสถานีขนส่งสินค้าซึ่งจัดเป็นโครงสร้างพื้นฐานลอจิสติกส์ที่สำคัญรองรับการพัฒนาอุตสาหกรรม และการค้าขายชายแดน/ผ่านแดนของเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ
ทั้งนี้ สถานีขนส่งสิน้าเป็นจุดเชื่อมโยงโครงข่ายการขนส่งสินค้า โดยทำหน้าที่เป็นศูนย์รวบรวมและกระจายสินค้าทางถนน และมีสิ่งอำนวยความสะดวกรองรับกิจกรรมการขนส่ง รวมถึงบริการต่างๆ ของหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง ปัจจุบัน กรมการขนส่งทางบก มีสถานีขนส่งสินค้าอยู่แล้วเพียง 3 แห่งในเขตกรุงเทพมหานคร และปริมณฑล กรมการขนส่งทางบกจึงจัดให้มีการศึกษาความเป็นไปได้ และรูปแบบบริหารจัดการสถานีขนส่งสินค้าภูมิภาคเพิ่มเติมอีก 17 แห่งทั่วประเทศ รวมทั้งจังหวัดตราด ได้มอบหมายให้สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบังเป็นผู้ดำเนินการศึกษา ปัจจุบัน การศึกษามีความก้าวหน้าการดำเนินงานไปแล้วระดับหนึ่ง
นายณรงค์ กล่าวว่า วันนี้เขตเศรษฐกิจพิเศษที่ตำบลไม้รูด อ.คลองใหญ่ จ.ตราด แม้จะยังไม่เป็นรูปเป็นร่างมากนัก แต่วันนี้เขตเศรษฐกิจพิเศษที่จังหวัดตราดกลับมีทิศทางที่ดีกว่าทุกแห่ง และมีปัญหาน้อยมาก ซึ่งการที่ทางจังหวัดตราดได้เน้นในเรื่องการเป็นศูนย์ลอจิสติกส์ และการบริการนั้นจังหวัดได้เดินทางมาถูกทางแล้ว และในไม่ช้านี้จะมีการขับเคลื่อนอย่างเป็นรูปธรรมมากขึ้น ซึ่งที่ผ่านมา จังหวัดตราด ได้ร่วมกับส่วนราชการของเวียตนามตอนใต้ จังหวัดชายทะเลในกัมพูชาค่อ แกป กัมปอด สีหนุวิลล์ และเกาะกง เพื่อบันทึกข้อตกลงในเรื่องการท่องเที่ยว การคมนาคม และการขนส่งสินค้าบางประเภท ซึ่งนี่คือจุดเริ่มต้นที่เห็นชัดเจน และเป็นรูปธรรม ซึ่งการมีสถานีขนส่งสินค้าในเขตเศรษฐกิจพิเศษจึงน่าจะเป็นความหวังของการขนส่งสินค้าที่จะสอดรับต่อแนวทางของจังหวัดตราด
“นอกเหนือจากการมีจุดผ่านแดนถาวรที่หาดเล็ก และมีการขนส่งสินค้าทั้งทางน้ำ และทางบกมูลค่ากว่า 3-4 หมื่นล้าน ทำให้เห็นชัดเจน และยังมีผู้ประกอบการที่สามารถผลิตสินค้าที่ส่งออกไปยังเพื่อนบ้าน และเป็นที่ต้องการด้วย นอกจากนี้ ยังมีสินค้าทางเกษตรของกัมพูชาทั้งในพระตะบอง ในโพธิสัต ทั้งมันสำปะหลัง ข้าวโพด ที่ต้องการผ่านจังหวัดตราด นั่นหมายความว่าวันนี้ตราดเป็นศูนย์กลางกลายๆ แล้ว แต่อยากให้ทุกคนคิดต่อไปอีกว่า หากจะมีการเชื่อมต่อไปยังประจวบคิรีขันธ์ทางทะเล และส่งไปยังมะริด ในพม่าจะเกิดอะไรขึ้น จ.ตราด จะเป็นศูนย์กลางได้ นี่คือสิ่งที่อยากให้ทุกคนคิดต่อ”
ทางด้าน นายจารุวิสข์ ปราบณศักดิ์ อาจารย์จากสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง อธิบายว่า การจัดตั้งสถานีขนส่งสินค้าต้องมองในเรื่องของความเป็นระเบียบของการกระจายสินค้าที่ต้องมีโกดังสินค้า มีร้านค้าส่ง มีร้านค้าปลีก และมีผู้บริโภคว่ามีการเชื่อมโยงอย่างไร และให้เกิดประโยชน์ต่อการขนส่ง และยังสามารถขนส่งไปยังสถานที่อื่นๆ ได้อย่างสะดวกในทุกทิศทาง ทั้งรถบรรทุกขนาดใหญ่ และขนาดเล็ก ถนนที่จะรองรับ และสถานีขนส่งปลายทาง ซึ่งการศึกษาที่ตราดเป็นสถานีขนส่งสินค้าชายแดน ที่ส่วนใหญ่จะเป็นการขนส่งออกมากกว่าการนำเข้า แม้จะมีนิคนอุตสาหกรรมในประเทศเพื่อนบ้านที่มีการนำเข้ามา แต่การตั้งควรตั้งในไทยเพื่อรองรับการขนส่งระหว่างประเทศ และไม่ให้มีรถยนต์ต่างประเทศเข้ามาในไทย และไม่ให้รถยนต์ของไทยออกไปนอกประเทศ และสถานีควรจะเป็นการเปลี่ยนถ่ายสินค้าเป็นหลักด้วย อีกทั้งต้องมีระบบขนส่งหลายรูปแบบเหมือนที่ตราดมีทางบก ทางน้ำ ขาดเพียงทางรางเท่านั้น ส่วนทางอากาศแม้มีแต่เป็นของเอกชน
ส่วนนายศิรดล ศิริธร อาจารย์อีกท่านหนึ่งบอกว่า ทางการศึกษาพื้นที่ที่เหมาะสมสรุปว่า พื้นที่ตำบลไม้รูด มีความเหมาะสม ซึ่งพื้นที่ 80 ไร่ ของราชพัสดุมีความเหมาะสม และสามารถรองรับสินค้าที่ขนส่งไปยังกัมพูชาได้ ซึ่งมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นถึง 3-4 หมื่นล้านในระยะเวลาอันใกล้ ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นการขนส่งสินค้าออกมากกว่า
อย่างไรก็ตาม มีแง่คิดว่าทำไมไม่ไปตั้งในพื้นที่เป็นกลางในตำบลวังกระแจะ หรือใกล้เคียงเพื่อรองรับต่อการเปิดผ่านแดนถาวรอีก 2 แห่งในจังหวัดตราด ที่อำเภอเมือง และอำเภอบ่อไร่ เรื่องนี้บางที่มองว่าเป็นเรื่องหากจะทำรองรับทั้งหมดอาจเป็นจุดด้อยได้ของสถานีแห่งนี้ได้ ส่วนที่ผู้ว่าราชการจังหวัดตราด เสนอนั้นจะต้องรับฟังความคิดเห็นของผู้ประกอบการด้วย