ตราด - กนอ.เสนอผลการศึกษาความเป็นไปได้ตั้งนิคมอุตสาหกรรมในเขต ศก.คลองใหญ่ ชี้ 2-3 ปีเสร็จ ด้านผู้ว่าฯ แจงเป็นไปได้สูง แต่ต้องแก้ระเบียบดันท่องเที่ยวเริ่มต้นก่อน จี้รัฐต้องชัดเจน
วันนี้ (4 ส.ค.) ที่ห้องราชาวดี โรงแรมสวนปูรีสอร์ท แอนด์ สปา อ.เมือง จ.ตราด นายณรงค์ ธีระจันทรางกูร ผู้ว่าราชการจ.ตราด เป็นประธานนำเสนอผลการศึกษาความเป็นไปได้ และความเหมาะสมเบื้องต้นในการจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมในพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษ โดยมีข้าราชการ นักธุรกิจ และผู้สนใจร่วมรับฟังจำนวนกว่า 100 คน
นายณรงค์ กล่าวว่า จากที่ น.ส.ฐานันดร์ พิทักษ์วงศ์ ผู้เชี่ยวชาญ 11 การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) ได้นำเสนอผลการศึกษาในครั้งนี้น่าจะเกิดความชัดเจนในเรื่องการจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมท่องเที่ยว และโลจิสติกส์ ซึ่งต้องยอมรับว่าขณะนี้ใกล้ที่เป็นความจริงแล้ว แต่การจัดตั้งเขตเศรษฐกิจตราด ยังมีอุปสรรคในหลายด้าน ทั้งระเบียบในเรื่องการนำเข้าสินค้าทางการเกษตร และการส่งออกที่จะต้องมีการแก้ไข
ซึ่งแน่นอนว่าวันนี้ต้องพยายามผลักดันให้เกิดขึ้นให้ได้ และขณะนี้ก็ใกล้สำเร็จแล้ว สิ่งที่จะต้องเร่งดำเนินการ คือ การผลักดันให้เกิดการเดินทางเพื่อการท่องเที่ยวเป็นเรื่องแรก เพราะหากสามารถผลักดันให้เกิดขึ้นแล้วจะทำให้การค้าขายเกิดขึ้นตามมา เหมือนที่มีการนำสินค้าไปค้าขายในพื้นที่จ.พระตะบอง หรือในหลายจังหวัดในกัมพูชา และขายได้ดี
“วันนี้ควรจะต้องระดมคิด และต้องเริ่ม คือ การนำสินค้าเข้าออกต้องสะดวก คนไปมาต้องสะดวก เเละต้องคิดในเรื่องการเชื่อมด้วย และน่าจะเริ่มจากการท่องเที่ยวก่อน ทั้งรถ เรือเดินทางไปก่อน การค้าขายยังไม่เดิน และการที่นำไปขายของที่พระตะบองขายดีมาก จึงมีการขอไปค้าขายมากขึ้น เราต้องเปิดในเรื่องการเดินทาง ตราดมีพื้นที่ติดต่อกับกัมพูชาเป็นทางยาว และคนกัมพูชาไม่ชอบการผลิต แต่คนตราดทำเป็น ข้าวต้มมัดสุญญากาศไปขายยุโรปแล้ว เราสามารถขายเทคโนโลยีด้านการกำจัดขยะไปเวียดนามแล้ว วันนี้จึงเป็นเรื่องที่ทุกคนจะต้องระดมความคิดว่าเขตเศรษฐกิจตราดจะก้าวไปในทิศทางไหน และจะเกิดขึ้นได้เร็วแค่ไหน”
ด้าน นายอัฐพล จรวัฒน์จรรยา ผู้เชี่ยวชาญ 12 กนอ. กล่าวว่า การศึกษาของ กนอ.ที่จะนำมาเสนอครั้งนี้จะเป็นการศึกษาในเบื้องต้นในการจัดตั้งเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ จ.ตราด และระดมความคิดเห็นจากทุกฝ่าย ซึ่งตราดมีศักยภาพด้านการผลิตผลไม้ที่มีชื่อเสียง และมีพืชผลทางการเกษตร ทั้งยางพารา และปาล์มน้ำมัน และยังมีอาหารทะเลที่มีคุณภาพด้วย
นอกจากนี้ ยังเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่มีเกาะ มีป่าชายเลน และปะกังรังที่มีความโดดเด่น และสามารถเดินทางเชื่อมโยงไปยังกัมพูชา และเวียตนามได้ อย่างไรก็ตาม ขนาดเศรษฐกิจของตราด มีขนาดเล็ก โดยเฉพาะภาคอุตสาหกรรมที่ยังขาดการเชื่อมโยงกับการผลิตหลักของประเทศ และยังขาดการอำนวยความสะดวกในการขนส่งสินค้าข้ามแดน และขาดระบบสาธารณูปโภคที่มีมาตรฐาน
“รูปแบบการพัฒนาควรจะเป็นพัฒนาพื้นที่โดยรอบเป็นด่านชายแดนให้เป็นศูนย์กลางการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ ศูนย์การขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบ และเชื่อมโยงทั้งทางบก และทางทะเล การค้าชายแดนแบบปลอดภาษี ตลาดการค้าชายแดนที่มีความทันสมัย ซึ่งจะต้องมีการจัดการที่ดี มีพื้นที่อำนวยความสะดวกในการขนส่งสินค้าตามเส้นทางระเบียงเศรษฐกิจชายฝั่งตอนใต้ ทั้งนี้ จะต้องมีศูนย์บริการนักท่องเที่ยว โรงแรมที่มีความทันสมัย มีย่านสินค้าปลอดภาษี รวมทั้งคลังสินค้าด้วย”
นายอัฐพล กล่าวว่า อย่างไรก็ตามเขตเศรษฐกิจพิเศษ จ.ตราด อาจจะต้องใช้เวลา 2-3 ปี เนื่องจากต้องพัฒนาด้านสาธารณูปโภคในพื้นที่ 888.68 ไร่ และการจัดสรรที่ดิน ให้ส่วนราชการ และภาคเอกชนที่ต้องมีระยะการเช่า 50 ปี และต่อไปอีกตามมติของคณะรัฐมนตรี ทั้งนี้ จะแบ่งพื้นที่เป็นเขตอุสาหกรรมบริการ 625.78 ไร่ ศูนย์โลจิสติกส์และกระจายสินค้า 625.78 ไร่ ซึ่งเป็นที่ที่ก่อให้เกิดรายได้ ส่วนพื้นที่ระบบสาธารณูปโภค และสิ่งอำนวยความสะดวก 229.51 ไร่ และพื้นที่สีเขียว และแนวกันชน 48.76 ไร่