xs
xsm
sm
md
lg

ปัจจัยหนุนภาคตะวันออกแข็งแกร่ง ผู้ผลิตรายใหญ่มั่นใจไม่ย้ายฐาน ไม่ปิด ไม่ปลดคนงาน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

ศูนย์ข่าวศรีราชา - ปัจจัยหนุนหลายด้านที่ยังแข็งแกร่งในภาคตะวันออก ทำให้ภาคอุตสาหกรรมยังไม่มีสัญญาญเคลื่อนย้ายฐานผลิต แต่ยอมรับชิ้นส่วนยานยนต์บางรายเริ่มปรับลดคนงานในบางไลน์ผลิตที่ไม่จำเป็น และลดจำนวนโอทีเพื่อลดค่าใช้จ่ายให้สอดคล้องต่อภาวะเศรษฐกิจ และยอดขายรถที่ลดลง ยันยังไม่มีการปิดโรงงาน

นายปรีชา จรเณร ผู้อำนวยการนิคมอุตสาหกรรมแหลมฉบัง อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี เปิดเผยว่า ภาคอุตสาหกรรมในชลบุรีขณะนี้ยังดำเนินไปตามปกติ ไม่มีกระแสข่าวการปิดโรงงาน ทั้งที่ตั้งอยู่ในเขตนิคม และใกล้เคียง จะมีเพียงการลดเวลาโอทีตามทิศทางเศรษฐกิจ และคำสั่งซื้อรถยนต์ทั้งใน และต่างประเทศที่ลดน้อยลง

โดยในส่วนของนิคมอุตสาหกรรมแหลมฉบัง พบว่า ช่วง 6 เดือนที่ผ่านมา ไม่พบการปิดตัวของโรงงานอุตสาหกรรม แต่มีเพียงการปรับตัวทางธุรกิจตามข้อมูลพื้นฐาน และการปรับกระบวนการผลิตเพื่อสร้างผลตอบแทนในช่วงภาวะเศรษฐกิจที่เป็นอยู่

“จากการที่ได้สัมผัสกับผู้ประกอบการในหลายภาคส่วน รวมทั้งชิ้นส่วนรถยนต์ และยานยนต์ พบว่า ครึ่งหลังของปี 2558 การประกอบธุรกิจน่าจะมีการปรับตัวค่อนข้างสูง โดยหลายโรงงานคาดว่าน่าจะมีการปรับลดจำนวนพนักงานในบางไลน์ผลิตที่ไม่จำเป็น โดยเฉพาะพนักงานไม่ประจำ ซึ่งก็เป็นไปตามปกติของการจ้างงานในพื้นที่ รวมทั้งชิ้นส่วนยานยนต์ ที่เมื่อถึงจุดหนึ่งเมื่อมีการเร่งกำลังการผลิตก็ต้องเพิ่มจำนวนคน แต่เมื่อถึงช่วงลดการผลิตก็ต้องลดจำนวนคน”

ขณะที่ค่าจ้างแรงงานภาคอุตสาหกรรมในนิคมยังคงเกินค่าแรงขั้นต่ำที่กฎหมายกำหนด จึงไม่น่าเป็นห่วง แม้ขณะนี้พนักงานในบางโรงงานอาจมีจำนวนโอทีลดลงก็ตาม ส่วนเรื่องการประท้วงเพื่อเรียกร้องสิทธิประโยชน์ก็เข้าไปอธิบายให้พนักงานเข้าใจ ซึ่งคาดว่าในปีนี้ไม่น่าจะมีการประท้วงเพื่อเรียกร้องสิทธิประโยชน์เพิ่มเติมแต่อย่างใด

นายชนินทร์ ขาวจันทร์ ผู้อำนวยการศูนย์เศรษฐกิจการลงทุนภาคที่ 4 (บีโอไอแหลมฉบัง) ที่ได้ให้ข้อมูลการลงทุนในช่วง 7 เดือนที่ผ่านมา (1 มกราคม-31กรกฎาคม) ของภาคตะวันออกว่า มีโครงการได้รับอนุมัติการส่งเสริม 547 โครงการ มูลค่าการลงทุน 204,905 ล้านบาท จ้างงาน 44,804 คน โดยจังหวัดที่มีโครงการได้รับอนุมัติมากเป็นอันดับ 1 คือ ระยอง รองลงมา คือ ชลบุรี

“ช่วงไตรมาส 2 เรามีโครงการที่ได้รับอนุมัติส่งเสริมการลงทุนในระดับที่ดีพอสมควร แม้จะลดลงจากไตรมาสแรกในแง่ของจำนวนโครงการ แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าการลงทุนจะตกลง แต่เป็นเพียงตัวเลขที่ตกค้างจากปีที่แล้วเท่านั้น ส่วนแนวโน้มการปิดตัวของโรงงาน และการเลิกจ้างก็คงมีบ้าง แต่ในความเป็นจริง คือ ประเทศไทยยังมีปัญหาแรงงานที่ไม่เพียงพอ ดังนั้น เมื่อมีการปิดโรงงานที่โคราช เราจึงได้เห็นว่ามีโรงงานอื่นมาตั้งโต๊ะรับสมัครแทน และเราก็ไม่ควรมองประเทศไทยในแง่ลบ เพราะความจริงของภาคอุตสาหกรรมก็เป็นเช่นนี้”

หากย้อนไปเมื่อสมัย 10-20 ปีก่อน ประเทศไทยมีโรงงานผลิตรองเท้าทุกยี่ห้อ มีโรงงานผลิตเสื้อผ้าสำเร็จรูปมากมาย แต่ในวันนี้แทบไม่มีให้เห็นก็เพราะโรงงานเหล่านั้นใช้แรงงานจำนวนมาก และต้นทุนส่วนใหญ่อยู่ที่แรงงาน ดังนั้น เมื่อค่าแรงแพง ผู้ผลิตก็ต้องหาพื้นที่การลงทุนที่มีต้นทุนถูกกว่าแทน

อย่างไรก็ดี ทีมข่าวได้สอบถามไปยังผู้ประกอบการในพื้นที่ก็ได้รับข้อมูลในทิศทางเดียวกันว่า การปิดโรงงาน และการปรับลดคนงานขนาดใหญ่ในจังหวัดชลบุรี ระยอง รวมทั้งฉะเชิงเทรา จะยังไม่เกิดขึ้นอย่างแน่นอน เพราะความแข็งแกร่งจากปัจจัยหนุนต่างๆ ทั้งสภาพถนน ท่าเรือ อยู่ไม่ไกลสนามบิน ยังทำให้นักลงทุนต่างชาติเห็นความสำคัญ และความสะดวกในการขนส่ง และการเดินทาง ขณะที่แรงงานฝีมือในพื้นที่ที่ยังขาดแคลน ทำให้เมื่อมีการย้ายออกจากโรงงานหนึ่งก็จะถูกว่าจ้างจากอีกโรงงานหนึ่งในทันที
กำลังโหลดความคิดเห็น