xs
xsm
sm
md
lg

ลงทุนอุตฯ ตอ.ยังแกร่งผู้ผลิตรายใหญ่ไม่ย้าย-ไม่ปิดแค่ปรับลดโอทีให้สอดคล้อง ศก.

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


ศูนย์ข่าวศรีราชา - ผอ.นิคมอุตสาหกรรมแหลมฉบัง ประสานเสียง ผอ.บีโอไอ แหลมฉบัง ยันการลงทุนภาคอุตสาหกรรมในพื้นที่ภาคตะวันออกยังสดใส ผู้ผลิตรายใหญ่ ยังเชื่อมั่นในปัจจัยหนุนที่แข็งแกร่งหลายประการ แต่ยอมรับมีโรงงานผลิตชิ้นส่วนยานยนต์บางรายเริ่มลดคนงานที่ไม่จำเป็น และลดจำนวน โอที เพื่อปรับค่าใช้จ่ายให้สอดคล้องกับภาวะเศรษฐกิจและยอดขายรถยนต์ที่ลดลง แต่ไม่มีการปิดโรงงาน



ข่าวการประกาศปิดตัวของบริษัท ซัมซุงอิเล็คโทร-แม็คคานิคส์ จำกัด ซึ่งตั้งอยู่ในจังหวัดนครราชสีมา จนทำให้เกิดการเลิกจ้างพนักงานนับพันคน ทำให้หลายฝ่ายจับตามองการลงทุนภาคอุตสาหกรรมในพื้นที่ภาคตะวันออก ซึ่งถือเป็นเขตอุตสาหกรรมใหญ่ของประเทศ และยังเป็นจุดศูนย์รวมการลงทุนภาคอุตสาหกรรมยานยนต์ ที่สามารถสร้างงาน สร้างรายได้ให้กับประเทศปีละมหาศาลว่าจะอยู่ในสถานการณ์เช่นใด วันนี้ (10 สิงหาคม) ทีมข่าว ASTV-ผู้จัดการ ได้ลงพื้นที่เพื่อหาคำตอบ

นายชนินทร์ ขาวจันทร์ ผู้อำนวยการ ศูนย์เศรษฐกิจการลงทุนภาคที่ 4 ( บีโอไอ.แหลมฉบัง) เปิดเผยว่า สาเหตุหลักที่ทำให้บริษัท ซัมซุงอิเล็คโทร-แม็คคานิคส์ จำกัดในจังหวัดนครราชสีมา ย้ายฐานผลิตไปยังประเทศเวียดนาม เป็นเพราะการใช้แรงงานด้านการประกอบซึ่งไม่จำเป็นต้องใช้ทักษะที่สูงมาก

ดังนั้น เมื่อได้แหล่งลงทุนที่มีค่าแรงถูกกว่าย่อมต้องย้ายฐานการผลิตออกไป และปัจจัยที่สำคัญยังน่าจะมาจากการได้รับข้อเสนอด้านการลงทุนที่ดีกว่าประเทศไทย ที่สำคัญจังหวัดชลบุรี มีกลุ่มซัพพรายเออร์จากประเทศเกาหลี ที่เข้ามาตั้งโรงงานผลิตชิ้นส่วนป้อนให้กับซัมซุง และแอลจี ไม่ถึง 10% ของการลงทุนภาคอุตสาหกรรมทั้งหมด และส่วนใหญ่เป็นกลุ่มโรงงานที่ตั้งอยู่นอกนิคมอุตสาหกรรม จึงไม่มีผลกระทบต่อการจ้างงานมากนัก หากโรงงานเหล่านั้นจะย้ายตามไปยังประเทศเวียดนาม

“เท่าที่ทราบคือ ซัมซุงอิเล็คโทร-แม็คคานิคส์ ได้เข้าไปลงทุนใหญ่ทางเหนือของประเทศเวียดนาม เพื่อผลิตตัวจอแอลอีดีขนาดใหญ่ที่คาดว่าน่าจะมีการวางแผนดำเนินการอยู่นาน ซึ่งในส่วนของภาคตะวันออก การย้ายฐานผลิตของซัมซุง กับแอลจี ไม่มีผลกระทบ เพราะยอดการลงทุนของทั้ง 2 ส่วนนี้เมื่อเทียบการลงทุนอื่นๆ ที่หลากหลายถือว่าเป็นเพียงส่วนเล็กๆ ของการลงทุนทั้งหมด แต่สิ่งที่ทำให้ภาคตะวันออกได้รับกระทบมากคือเรื่องของอุตสาหกรรมยานยนต์ที่ได้รับผลกระทบจากยอดคำสั่งซื้อที่มีมากช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา แต่ขณะนี้เมื่อยอดลดลงแต่กำลังผลิตยังเหลืออยู่ จึงทำให้โรงงานหลายแห่งต้องปรับตัวเพื่อความอยู่รอด ด้วยการลดจำนวน โอที เพื่อรักษาคนงาน ทำให้กลุ่มคนงานได้รับผลกระทบด้านรายได้”

นายชนินทร์ ยังเผยถึงโครงการที่ได้รับอนุมัติส่งเสริมการลงทุนในพื้นที่ 8 จังหวัดภาคตะวันออก ช่วงครึ่งปีแรก 2558 (ตั้งแต่ 1 ม.ค.-30 มิ.ย.58) ว่ามีจำนวนทั้งสิ้น 493 โครงการมูลค่าการลงทุนรวม 180,923 ล้านบาท และมีการจ้างงานมากถึง 42,144 คน ซึ่งปัจจัยที่ทำให้มูลค่าการลงทุนยังคงเติบโตอย่างต่อเนื่องมาจากความเชื่อมั่นในศักยภาพของพื้นที่และระบบสาธารณูปโภคต่างๆ ทั้งถนนหนทาง และการมีท่าเรือน้ำลึก โดยจังหวัดที่มีภาคอุตสาหกรรม ขยายการลงทุนเพิ่มขึ้นอยู่ในจังหวัดชลบุรี และระยอง โดยเป็นการขยายตัวของอุตสาหกรรมการผลิตยานยนต์ และชิ้นส่วนยานยนต์ ฯลฯ

“ช่วงไตรมาส 2 ที่ผ่านมา เรามีโครงการที่ได้รับอนุมัติส่งเสริมการลงทุนในระดับที่ดีพอสมควร แม้จะลดลงจากไตรมาสแรกในแง่ของจำนวนโครงการ แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าการลงทุนจะตกลง เป็นแต่เพียงตัวเลขที่ตกค้างจากปีที่แล้ว ส่วนแนวโน้มการปิดตัวของโรงงาน และการเลิกจ้างก็คงมีบ้าง แต่ในความเป็นจริงก็คือ ประเทศไทย ยังมีปัญหาเรื่องแรงงานที่ไม่เพียงพอ ดังนั้น เมื่อมีการปิดโรงงานที่โคราช เราจึงได้เห็นว่ามีโรงงานอื่นมาตั้งโต๊ะรับสมัครแทน และเราก็ไม่ควรมองประเทศไทยในแง่ลบ เพราะความจริงของภาคอุตสาหกรรมก็เป็นเช่นนี้”

เพราะหากย้อนไปเมื่อสมัย 10-20 ปีก่อนประเทศไทยมีโรงงานผลิตรองเท้าทุกยี่ห้อ มีโรงงานผลิตเสื้อผ้าสำเร็จรูปมากมาย แต่ในวันนี้แทบไม่มีให้เห็นทั้งนี้เป็นเพราะโรงงานเหล่านั้นต้องใช้แรงงานจำนวนมาก และต้นทุนส่วนใหญ่อยู่ที่แรงงาน ดังนั้นเมื่อค่าแรงแพงขึ้นผู้ผลิตก็ต้องหาพื้นที่การลงทุนใหม่ ที่มีต้นทุนถูกกว่าแทน

เช่นเดียวกับนายปรีชา จรเณร ผู้อำนวยการนิคมอุตสาหกรรมแหลมฉบัง ที่กล่าวยืนยันว่าขณะนี้ยังไม่มีการปิดตัวของโรงงานอุตสาหกรรมที่ตั้งอยู่ในเขตนิคมฯแหลมฉบัง จะมีก็เพียงการลดเวลา โอ.ที ตามการปรับตัวทางธุรกิจของผู้ประกอบการที่ขณะนี้คำสั่งซื้อรถยนต์ทั้งในและต่างประเทศลดน้อยลง โดยในส่วนของนิคมอุตสาหกรรมแหลมฉบัง พบว่าในช่วง 6 เดือนที่ผ่านมายังไม่พบการปิดตัวของโรงงานอุตสาหกรรม แต่มีเพียงการปรับตัวทางธุรกิจตามข้อมูลพื้นฐาน และการปรับกระบวนการผลิตเพื่อสร้างผลตอบแทนในช่วงภาวะเศรษฐกิจที่เป็นอยู่

“จากการได้สัมผัสกับผู้ประกอบการในหลายภาคส่วน รวมทั้งชิ้นส่วนรถยนต์ และยานยนต์ พบว่าครึ่งหลังของปีการประกอบธุรกิจน่าจะมีการปรับตัวค่อนข้างสูง หลายโรงงานน่าจะมีการปรับลดจำนวนพนักงานในบางไลน์การผลิต แต่ก็ไม่ใช่ในส่วนพนักงานประจำ ซึ่งก็เป็นไปตามปกติของการจ้างงานในบริษัทต่างๆ รวมทั้งชิ้นส่วนยานยนต์ที่เมื่อถึงจุดไหนึ่งเมื่อมีการเร่งกำลังการผลิตก็ต้องเพิ่มจำนวนคน"

"แต่เมื่อถึงช่วงต้องลดการผลิตก็ต้องลดจำนวนคน ขณะที่การจ้างงานภาคอตุสาหกรรมในนิคมฯ ยังคงเกินค่าแรงขั้นต่ำที่กฎหมายกำหนด จึงไม่น่าเป็นห่วง ซึ่งขณะนี้พนักงานในบางโรงงานอาจได้รับ โอ.ที.ลดลงตามภาวการผลิต ส่วนเรื่องการประท้วงเพื่อเรียกร้องสิทธิประโยชน์ต่างๆ เราก็เข้าไปอธิบายให้พนักงานเข้าใจ ซึ่งก็คาดว่าในปีนี้ไม่น่าจะมีการประท้วงเพื่อเรียกร้องสิทธิประโยชน์เพิ่มเติมแต่อย่างใด” นายปรีชา กล่าว
นายชนินทร์ ขาวจันทร์ ผอ.บีโอไอ แหลมฉบัง
นายปรีชา จรเณร ผู้อำนวยการนิคมอุตสาหกรรมแหลมฉบัง
กำลังโหลดความคิดเห็น