xs
xsm
sm
md
lg

เมืองอุตสาหกรรมอุดรยันไม่ใช้น้ำแหล่งน้ำสาธารณะ “หนองนาตาล”

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


อุดรธานี - เมืองอุตสาหกรรมอุดรธานี เปิดประชาพิจารณ์รับฟังความเห็นผู้มีส่วนได้เสีย ยันโครงการไม่ใช้น้ำจากหนองนาตาลแหล่งน้ำสาธารณะ ลงทุนผลิตน้ำประปาใช้ในโครงการเอง

วันนี้ (24 ก.ค.) ที่หอประชุมโรงเรียนโนนสูงพิทยาคาร ตำบลโนนสูง อำเภอเมือง จังหวัดอุดรธานี บริษัท เมืองอุตสาหกรรมอุดรธานี จำกัด จัดรับฟังความคิดเห็นผลการศึกษา ร่างมาตรการด้านสิ่งแวดล้อม และความคืบหน้าของการจัดทำรายงานโครงการนิคมอุตสาหกรรมอุดรธานี โดยมีประชาชนในเขตพื้นที่ตำบลโนนสูง เข้ารับฟังและร่วมเสนอข้อคิดเห็น

นายคมกฤษ ยิ้มเจริญ ผู้ชำนาญการด้านสิ่งแวดล้อม บริษัท กรีนเนอร์ คอนซัลแทนท์ จำกัด ที่ปรึกษาโครงการ ชี้แจงว่า จากเมื่อวันที่ 4 กรกฎาคม 2557 ได้จัดให้เวทีรับฟังความคิดเห็น ครั้งที่ 2 ในการรายงานการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) โครงการนิคมอุตสาหกรรมอุดรธานี และประชาชนมีข้อเสนอให้ทบทวนการนำน้ำจากหนองนาตาลมาใช้ในนิคมอุตสาหกรรม โดยบริษัทที่ปรึกษากลับมาทบทวนวิเคราะห์ผลการศึกษา เพื่อจัดทำร่างมาตรการให้เพื่อดำเนินโครงการ

จากการศึกษาทบทวนระบบผลิตน้ำประปาที่จะใช้ในโครงการใหม่ คาดว่าโครงการจะใช้วันละ 7,731.76 ลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) คือ ใช้ในพื้นที่อุตสาหกรรม 7,034.96 ลบ.ม.ต่อวัน และพื้นที่พาณิชย์ 696.80 ลบ.ม.ต่อวัน โครงการได้จัดให้มีระบบผลิตน้ำประปา 2 จุด แต่ละจุดมีความสามารถผลิตน้ำประปา 5,000 ลบ.ม.ต่อวัน ผลิตน้ำประปาได้สูงสุด 12,000 ลบ.ม.ต่อวัน

โดยใช้น้ำดิบอันดับแรก คือ จากบ่อน้ำรับน้ำฝนในพื้นที่โครงการซึ่งมี 3 บ่อ ความจุประมาณ 885,246 ลบ.ม. และจากการประปาส่วนภูมิภาค ซึ่งมีกำลังผลิต 121,200 ลบ.ม. ส่งจ่ายมาให้ทางโครงการ อย่างไรก็ตาม รายงานสรุปทั้งหมดคาดว่าจะส่งให้ สผ.ได้สิ้นเดือนสิงหาคม นี้และประมาณเดือนพฤศจิกายน 2558 คาดว่าจะรู้ผล

นายจุมพล ศิลาชัย ผู้ใหญ่บ้านอีเลี่ยน ต.หนองนาคำ อ.เมืองอุดรธานี เปิดเผย กล่าวว่า หมู่บ้านของตนมีประมาณ 400 ครัวเรือน และใช้น้ำในห้วยหนองร่วง ใช้ในกาทำน้ำประปาสำหรับหมู่บ้าน จึงรู้สึกเป็นห่วงหากเมื่อนิคมอุตสาหกรรมของบริษัทเกิดขึ้น อย่างไรก็ตามเมื่อมาได้รับฟังการชี้แจงจากบริษัทที่ปรึกษาของโครงการรู้สึกหมดความเป็นห่วง

อย่างไรก็ตาม หากว่านิคมเป็นผลสำเร็จนั้นตนเห็นด้วยเป็นอย่างมาก เพราะลูกหลานจะได้มีงานทำในพื้นที่ ไม่ต้องเดินทางไปหางานทำที่จังหวัดอื่น หรือในส่วนกลางและภาคตะวันออก ะจากการที่สอบถามลูกบ้านก็ความเห็นดีด้วยเช่นกัน

ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า บริษัท เมืองอุตสาหกรรมอุดรธานี จำกัด ดำเนินโครงการ นิคมอุตสาหกรรมอุดรธานี บนพื้นที่ 2,213.78 ไร่ ในเขต ต.โนนสูง ต.หนองไผ่ อ.เมือง ริมถนนมิตรภาพ (อุดรธานี-ขอนแก่น) กม.441-442 แบ่งเป็นพื้นที่อุตสาหกรรม 1,758.74 ไร่ พื้นที่พาณิชย์กรรม 34.84 ไร่ ระบบสาธารณูปโภค 280.33 ไร่ พื้นที่สีเขียวและแนวกันชน 134.19 ไร่ เงินลงทุนราว 3,500 ล้านบาท ทำให้เกิดการลงทุนกว่า 27,000 ล้านบาท โดยจะเป็นอุตสาหกรรมสีเขียว เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เช่น ชิ้นส่วนรถยนต์ และต่อเนื่อง อิเล็กทรอนิกส์ เหล็กขั้นกลางและขั้นปลาย วัสดุก่อสร้าง สนับสนุนการผลิต และผลิตภัณฑ์ยาง

โดยอุตสาหกรรมต้องห้าม ประกอบด้วย ฟอกย้อม ผลิตภัณฑ์กระดาษที่กระบวนการต้ม ผลิต-บรรจุยาฆ่าแมลง มีส่วนผลิตโซดาไฟ หลอมตะกั่วที่ใช้แล้ว ผลิตซ่อมแซมและดัดแปลงวัตถุระเบิด ผลิตถ่ายไฟฉาย-แบตเตอรี่ หลอมตะกั่ว และผลิตหลอดฟลูออเรสเซนต์ โดยเฟสแรกใช้พื้นที่ 990 ไร่


กำลังโหลดความคิดเห็น