xs
xsm
sm
md
lg

ภตช.ชงผู้ตรวจฯ สอบจริยธรรม “ประมนต์” นั่งตำแหน่งสำคัญเอื้อประโยชน์ทับซ้อน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


ภาคีเครือข่ายต้านทจุริต ยื่นผู้ตรวจฯ สอบตั้ง ปธ.องค์การต้านคอร์รัปชัน ชี้นั่งตำแหน่งสำคัญเพียบ ชำแหละ เป็นประธาน กก.บริหารโตโยต้า แต่ลักไก่เลี่ยงภาษีนำเข้ารถทั้งคันอ้างเป็นชิ้นส่วน ทำรัฐเสียหายหมื่นล้าน หวั่นใช้อิทธิพลช่วยคดี แถม ประพฤติมิชอบส่ง 2 คนที่เสนอราคาโครงการรถเมล์ NGV เป็นผู้สังเกตการณ์ ชี้เป็นบุคคลที่มีบทบาทสำคัญ แต่ส่อบกพร่องจริยธรรม มีประโยชน์ทับซ้อน จี้เร่งคดีแบบ “ธัมมชโย”


วันนี้ (21 ก.ค.) ภาคีเครือข่ายต่อต้านการทจุริตคอร์รัปชันของชาติ (ภตช.) นำโดย พล.อ.สำเริง พินกลาง ประธาน และนายมงคลกิตติ์ สุขสินธารานนท์ เลขาธิการเข้ายื่นเรื่องร้องเรียนต่อผู้ตรวจการแผ่นดินผ่านนายรักษเกชา แฉ่ฉาย เลขาธิการสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดินขอให้ตรวจสอบจริยธรรมและการมีผลประโยชน์ทับซ้อน หรือเป็นผู้มีส่วนได้เสียของนายประมนต์ สุธีวงศ์ ประธานองค์การต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ ในกรณีเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองและเป็นคู่กรณีกับรัฐ โดยนายมงคลกิตติ์กล่าวว่า ปัจจุบันนายประมนต์ดำรงตำแหน่งสำคัญหลายตำแหน่ง ทั้งคณะกรรมการคดีพิเศษ กรมสอบสวนคดีพิเศษ รวมทั้งเป็นประธานกรรมการบริหารบริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด มาตั้งแต่ปี 2543 ซึ่งมีข้อมูลว่าบริษัท โตโยต้า ได้รับหนังสือแจ้งจากสำนักงานศุลกากรท่าเรือแหลมฉบังเมื่อวันที่ 29 มิ.ย. 2555 ว่ามีการนำเข้าชิ้นส่วนรถยนต์โตโยต้าพริอุสไม่ถูกต้อง โดยแจ้งนำเข้าเป็นชิ้นส่วน แต่ข้อเท็จจริงกลับมีการนำเข้าเป็นตัวรถยนต์ทั้งคัน ทำให้ไม่สามารถใช้สิทธิลดหรือยกเว้นภาษีอากรตามความตกลงความเป็นหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจไทย-ญี่ปุ่น (JTEPA) และประกาศกระทรวงการคลังมาตรา 12 ได้

โดยล่าสุด อธิบดีกรมศุลกากรเปิดเผยว่า บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ฯ มีความผิดยังไม่ชำระภาษีอากรให้ถูกต้อง ฐานสำแดงเท็จจากการนำเข้าชิ้นส่วนรถยนต์ดังกล่าว ช่วงปี 53-55 ตามมาตรา 99 แห่ง พ.ร.บ.ศุลกากร 2469 และเรียกให้ชำระคืนภาษีรวม 11,667 ล้านบาท ดังนั้น นายประมนต์ซึ่งเป็นประธานกรรมการบริหารบริษัท โตโยต้า จึงถือเป็นผู้ที่ทำให้รัฐเสียประโยชน์ และเป็นผู้มีส่วนได้เสีย แม้ว่าปัจจุบันคดีนี้จะมีการฟ้องร้องกันอยู่ในศาลแพ่ง แต่การดำรงตำแหน่งสำคัญหลายตำแหน่งนายประมนต์ ถ้าเทียบตามกฎหมายคดีพิเศษต้องถือว่าเป็นผู้มีอิทธิพล อาจใช้อำนาจที่มีเบียดบังคดีดังกล่าวได้

นอกจากนี้ยังพบข้อมูลว่า นายประมนต์ซึ่งก็ดำรงตำแหน่งเป็นคณะกรรมการความร่วมมือป้องกันการทุจริตที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ตั้งขึ้น และมีการตั้งคณะกรรมการข้อตกลงคุณธรรมขึ้น เพื่อจัดทำข้อตกลงคุณธรรมระหว่างรัฐกับเอกชนในการจัดซื้อจัดจ้างโครงการต่างๆ ปรากฏในโครงการจัดซื้อรถโดยสารเอ็นจีวีของ ขสมก. และโครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน ที่ตามข้อตกลงคุณธรรมให้มีการส่งผู้สังเกตการณ์เข้าพิจารณาเสนอราคาการจัดซื้อจัดจ้างก็พบว่า องค์การต่อต้านการคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) ที่นายประมนต์ก็เป็นประธานอยู่ได้ส่งผู้แทนเข้าร่วมสังเกตการณ์จำนวน 2 ราย แต่สำนักงานตรวจเงินแผ่นดินได้มีหนังสือแจ้งว่าขาดคุณสมบัติ เพราะทั้งสองรายเป็นผู้ที่เข้าเสนอราคาแข่งขันกับโครงการจัดซื้อรถโดยสารเอ็นจีวีด้วย ซึ่งต้องถือว่าคณะกรรมการความร่วมมือป้องกันการทุจริต กระทำผิดกฎข้อตกลงคุณธรรม และกฎหมาย ป.ป.ช. ส่อทุจริตประพฤติมิชอบหรือไม่

“นายประมนต์ถือเป็นุบคคลที่มีบทบาทสำคัญในด้านสังคม เศรษฐกิจ การเมือง หากมีพฤติดังกล่าวจริงก็เข้าข่ายบกพร่องทางจริยธรรม และมีประโยชน์ทับซ้อน จึงอยากให้ผู้ตรวจการแผ่นดินเร่งตรวจสอบให้เหมือนกับคดีพระธัมมชโย ที่ทำเสร็จภายใน 2-3 เดือน และคดีพระธัมมชโยผู้ตรวจก็บอกว่าเป็นความผิดตั้งแต่เริ่มต้น กรณีนำเข้าชิ้นส่วนรถยนต์ก็เช่นกัน ถือเป็นการกระทำผิดตั้งแต่ต้น ถ้าผู้ตรวจฯ สอบแล้วว่าผิดจริงมีผลประโยชน์ทับซ้อนก็ให้ส่ง ป.ป.ช.ดำเนินการตามกฎหมายป.ป.ช.ในเรื่องเกี่ยวกับผลประโยชน์ทับซ้อน และให้เรียกคืนสิทธิประโยชน์ต่างที่นายประมนต์ได้รับได้ตั้งแต่ต้นจนถึงปัจจุบัน เพื่อนำเงินดังกล่าวกลับมาเป็นของแผ่นดิน” นายมงคลกิตติ์กล่าว



กำลังโหลดความคิดเห็น