ยุคที่การแข่งขันในตลาดออนไลน์อย่าง “มาร์เก็ตเพลส” ในประเทศไทยทวีความรุนแรงมากขึ้น จากการที่หลายค่ายต่างมุ่งให้ความสำคัญต่อตลาดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ประเทศไทยเป็นหนึ่งในประเทศที่เจ้าของแพลตฟอร์มตลาดออนไลน์ต่างให้ความสำคัญ ไม่ว่าจะเป็น Alibaba Olx หรือ ebay
ดังนั้น จึงเป็นโอกาสของผู้ประกอบการเอสเอ็มอีไทย เพราะการที่มีเจ้าของแพลตฟอร์มตลาดออนไลน์ให้ความสำคัญต่อการเข้ามาใช้บริการกลุ่มเอสเอ็มอี ช่วยให้เอสเอ็มอีไทยขยายฐานลูกค้าในต่างประเทศและทั่วโลกผ่านช่องทางการขายผ่านตลาดออนไลน์ได้รวดเร็วและง่ายขึ้น
ล่าสุด อีเบย์มีเป้าหมายในการช่วยส่งเสริมผู้ประกอบการเอสเอ็มอีด้วยการให้บริการแพลตฟอร์มภาษาไทย ทำมาได้ระยะเวลา 1 ปี และมีบริการสายด่วนที่คอยตอบคำถามภาษาไทย (ช่วยคนที่มีปัญหาในเรื่องของการให้บริการในภาษาอังกฤษ หรือภาษาท้องถิ่นประเทศอื่นๆ) นอกจากนี้ ทางอีเบย์ยังมีบริการเปิดอบรมให้ความรู้สำหรับผู้ขายหน้าใหม่ที่ต้องการเริ่มธุรกิจโดยใช้ช่องทางการขายผ่านตลาดออนไลน์ของอีเบย์
นายเอกชัย รุกขจันทรกุล หัวหน้าฝ่ายการค้าระหว่างประเทศ ประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กล่าวถึงแนวทางของอีเบย์ ประเทศไทยว่า ในครั้งนี้อีเบย์มุ่งเป้าไปที่กลุ่มธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม หรือเอสเอ็มอีในประเทศไทย เนื่องจากประเทศไทยเป็นประเทศที่มีผู้ค้าปลีกส่งออกผ่านอีเบย์เป็นอันดับหนึ่งในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยมีการส่งออกผ่านอีเบย์ไปยังประเทศต่างๆ มากถึง 46 ประเทศ ซึ่งแต่ละรายมียอดการขายต่อรายไม่ต่ำกว่า 10,000 ดอลลาร์สหรัฐต่อปี ถือว่าเป็นจำนวนมากกว่าผู้ค้าปลีกส่งออกจากประเทศสิงคโปร์ และประเทศอื่นๆ ในภูมิภาค
ทั้งนี้ ยังมีกลุ่มผู้ค้าปลีกส่งออกคนไทย ที่ขายผ่านตลาดออนไลน์ของอีเบย์ และมียอดขายจำนวน 1 ล้านดอลลาร์สหรัฐมากถึง 10 ราย ซึ่งสินค้าที่มีการส่งออกผ่านอีเบย์มากที่สุด 3 อันดับ ได้แก่ เพชรพลอยอัญมณี ชิ้นส่วนรถยนต์ เสื้อผ้า รองเท้า และเครื่องประดับ และที่คาดว่าจะเพิ่มมากขึ้นในอนาคตอันใกล้นี้คือ กลุ่มสุขภาพ และความงาม (Health and Beauty) โดยมีสหรัฐอเมริกาเป็นตลาดการค้าอันดับหนึ่งของผู้ค้าปลีกส่งออกจากประเทศไทย ซึ่งเงินดอลลาร์สหรัฐที่แข็งค่าขึ้นคือแรงผลักดันสำคัญของการเติบโตนี้
นายเอกชัยกล่าวว่า แนวโน้มที่น่าสนใจและกำลังมาแรงเป็นอย่างมากสำหรับนักธุรกิจไทยที่กำลังมองหาโอกาสในการเพิ่มรายได้ใหม่ คือความเร็วในการที่ผู้ประกอบการสามารถผันตนเองไปเป็นผู้ค้าปลีกส่งออกผ่านอีเบย์ ซึ่งในปีที่ผ่านมา ตัวเลขระบุว่าร้อยละ 13 ของผู้ค้าปลีกส่งออกรายใหม่จากประเทศไทยสามารถทำยอดขายได้ถึง 10,000 ดอลลาร์สหรัฐบนอีเบย์ในปีที่แล้ว
ปัจจุบันการให้บริการของอีเบย์เป็นลักษณะของ Business to Customer หรือ B to C และ Customer to Customer หรือ C to C แต่ครั้งนี้อีเบย์กำลังหันมาให้ความสำคัญต่อตลาดประเทศไทยในลักษณะของ Business to Customer ให้มากขึ้น เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยผู้ประกอบการเอสเอ็มอีของไทยในการขยายฐานลูกค้าในตลาดส่งออกให้มากขึ้น เพราะอีเบย์มีลูกค้าที่เข้ามาใช้งานถึง 157 ล้านคนทั่งโลก และมีผู้ประกอบการอิสระและรายชื่อร้านค้ากว่า 800 ล้านรายชื่อ ซึ่งช่วยเอสเอ็มอีที่เริ่มต้นธุรกิจผ่านอีเบย์แข่งขันได้เท่าเทียมกับรายอื่นๆ ในอีเบย์ เพราะทุกคนที่ขายในอีเบย์มีโอกาสเท่ากันหมด ไม่ว่าจะทำมานาน หรือเพิ่งเริ่มขาย
ส่วนอัตราค่าบริการ สำหรับ Business to Customer จะเก็บในลักษณะของค่าธรรมเนียมหลังการขายอยู่ที่ร้อยละ 3-9 แล้วแต่ประเภทและจำนวนของสินค้า และแต่ละประเทศที่มีบริการอีเบย์ก็มีการเก็บค่าธรรมเนียมแตกต่างกัน โดยผู้ค้าที่จะใช้บริการในลักษณะของ Business to Customer จะต้องมีสินค้าไม่ต่ำกว่า 200-300 ชิ้น ในการเข้ามาเปิดร้านในอีเบย์ ส่วนการขายแบบ Customer to Customer ไม่ต้องเสียค่าบริการใดๆ
สำหรับ 5 ประเทศที่ผู้ค้าปลีกส่งออกจากประเทศไทยส่งสินค้าออกไปมากที่สุด ได้แก่ สหรัฐอเมริกา ออสเตรเลีย สหราชอาณาจักร แคนาดา และรัสเซีย ซึ่งครั้งนี้อีเบย์จะหันมาให้ความสำคัญต่ออีเบย์ประเทศไทยมากขึ้น โดยเฉพาะในกลุ่มของเอสเอ็มอี และมีกิจกรรมต่างๆ ที่จะทำในครั้งต่อไป เพื่อเป็นการกระตุ้นให้เอสเอ็มอีไทยหันมาใช้บริการของอีเบย์ให้มากขึ้นด้วย
สนใจชมการให้บริการได้ที่ www.ebay.com
* * * คลิก Like เพื่อมาเป็นแฟนเพจของหน้า "SMEsผู้จัดการ" รับข่าวสารในแวดวงธุรกิจเอสเอ็มอีที่สมบูรณ์แบบที่สุด และร่วมสนุกกับกิจกรรมลุ้นรับของรางวัลมากมาย คลิกที่นี่เลย!! * * *