xs
xsm
sm
md
lg

เกษตรเขต 6 จัดทำยุทธศาสตร์ผลิตลำไยอย่างยั่งยืนทั้งระบบ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

นายชาตรี บุญนาค ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 6 จังหวัดเชียงใหม่
ศูนย์ข่าวเชียงใหม่ - เผยแผนยุทธศาสตร์ดันผลผลิตลำไยอย่างยั่งยืน แจงยอดส่งออกของภาคเหนือสร้างรายได้ไม่ต่ำกว่า 8,000 ล้านบาท

วันนี้ (25 ส.ค.) ที่ห้องประชุม 4 ชั้น 4 ศาลากลางจังหวัดเชียงใหม่ นายชาตรี บุญนาค ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 6 จังหวัดเชียงใหม่ กล่าวถึงสถานการณ์การผลิตลำไยในภาคเหนือที่ผ่านมาว่า ลำไยเป็นผลไม้เศรษฐกิจที่สำคัญอันดับหนึ่งของภาคเหนือ สร้างรายได้ไม่ต่ำกว่าปีละ 8,000 ล้านบาท นอกจากจำหน่ายในประเทศยังสามารถส่งออกตลาดต่างประเทศได้หลายรูปแบบ เช่น ผลสด, ลำไยอบแห้ง, ลำไยแช่แข็ง และลำไยกระป๋อง พื้นที่ปลูกลำไยใน 8 จังหวัดภาคเหนือปี 2558 มีพื้นที่ปลูกทั้งหมด 853,243 ไร่ และมีพื้นที่ที่ให้ผลผลิต 553,391 ไร่ เฉลี่ย 664 กิโลกรัมต่อไร่

จากสถานการณ์การผลิตลำไยในภาคเหนือที่ผ่านมา จากการวิเคราะห์ข้อมูลพบว่าส่วนใหญ่การผลิตลำไยจะเป็นเกษตรกรรายย่อย มีอายุมาก เป็นสวนเก่า ต้นลำไยแก่ ผลผลิตต่อไร่ยังต่ำ และประสิทธิภาพการผลิตต่ำ

ทางรอดของเกษตรกรผู้ผลิตจะต้องลดต้นทุน, ปรับปรุงผลผลิตให้มีคุณภาพ, เน้นความปลอดภัยของผลผลิต, เพิ่มผลผลิตต่อไร่ให้สูงขึ้น, เลือกช่วงการผลิตให้เหมาะสม และสร้างเครือข่ายการผลิตและการตลาด

ดังนั้น สำนักงานส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 6 จังหวัดเชียงใหม่ จึงได้กำหนดยุทธศาสตร์การบริหารจัดการลำไยภาคเหนือทั้งระบบอย่างยั่งยืน โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อกระจายผลผลิตให้ออกทั้งปี และผลิตลำไยคุณภาพระดับส่งออก รักษาเสถียรภาพราคาผลผลิตลำไย สร้างเครือข่ายและพันธมิตรด้านการค้าของตลาดปลายทางทั้งในประเทศและต่างประเทศ โดยกำหนดกลยุทธ์ใน 3 ด้าน ได้แก่ การยกระดับการผลิต, การให้ความรู้ และด้านราคา

นายชาตรีกล่าวว่า การยกระดับการผลิตจำเป็นต้องเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต ปรับปรุงคุณภาพผลผลิต และสร้างความเข้มแข็งกับกลุ่มผลิตและสถาบันเกษตรกร โดยมีเป้าหมายส่งเสริมการผลิตลำไยนอกฤดูและในฤดู จาก 40 เป็น 60 เปอร์เซ็นต์ และพัฒนาคุณภาพผลผลิตลำไยขนาด AA และ A จาก 45 เป็น 50 เปอร์เซ็นต์ และเพิ่มผลการผลิตต่อไร่โดยจะเพิ่มผลผลิตในฤดูให้ได้ 1,000 กิโลกรัมต่อไร่ และนอกฤดูให้ได้ 2,000 กิโลกรัมต่อไร่ รวมทั้งการส่งเสริมการผลิตลำไยระบบ GAP และระบบอินทรีย์ ร้อยละ 3-5 ของพื้นที่ให้ผลผลิต และลดพื้นที่ปลูกในพื้นที่ไม่เหมาะสม ร้อยละ 5 ของพื้นที่ปลูก

สำหรับการให้ความรู้ จะมีการพัฒนาระบบข้อมูลสารสนเทศ สนับสนุนการวิจัยและพัฒนา โดยมีเป้าหมายจัดทำระบบฐานข้อมูลการผลิตลำไยในระดับหมู่บ้านด้วยระบบ GPS และจัดทำข้อมูลสารสนเทศระบบอัจฉริยะลำไย ควบคู่ไปกับการสนับสนุนองค์ความรู้ด้าน Logistic และผลงานวิจัยเกี่ยวกับลำไยทุกๆ ด้าน โดยจะมีการตรวจและรับรองผลผลิตระบบ GAP และระบบอินทรีย์

ส่วนด้านราคา เราจะสนับสนุนระบบ Logistic เพื่อส่งเสริมตลาดภายในและต่างประเทศ และการแปรรูปผลิตภัณฑ์เพิ่มมูลค่าของผลผลิตและการประชาสัมพันธ์การบริโภคลำไยไทย โดยมีเป้าหมายด้าน Logistic และจัดตั้งตลาดกลางเพื่อรวบรวมผลผลิตทั้งแบบสดและแห้ง เพื่อคัดเกรดและบรรจุผลผลิตในระดับพื้นที่ รวมถึงการจัดตั้งศูนย์กระจายผลผลิตและจุดพักสินค้าในระดับภาค

ด้านการตลาดภายใน จะส่งเสริมการบริโภคลำไยทั้งแบบสดและแบบแห้ง จัดตั้งตลาดรองรับการกระจายผลผลิตทั่วประเทศ และประชาสัมพันธ์คุณประโยชน์และสรรพคุณทางยาของลำไยไทย ด้านตลาดต่างประเทศเราจะสร้างเครือข่ายและพันธมิตร ณ ตลาดปลายทางในประเทศคู่ค้าควบคู่ไปกับการตั้งศูนย์ประสานงานตลาดต่างประเทศ ณ ประเทศคู่ค้า, ตั้งศูนย์กลางระบบข้อมูลและที่ปรึกษาด้านกฎหมาย, สร้างจุดพักและเก็บสต๊อกสินค้า และตั้งศูนย์กลางและสถานที่เจรจาการค้า

สำหรับการเพิ่มมูลค่าลำไยไทย เราจะส่งเสริมให้เกษตรกรผลิตลำไยอบแห้งเนื้อสีทองให้เป็นไปตามระบบคุณภาพ GMP และตรงตามกรรมวิธีฮาลาล และส่งเสริมการแปรรูปโดยนำไปผลิตในระบบอุตสาหกรรม และผลิตอาหารเพื่อสุขภาพ รวมถึงเป็นส่วนประกอบทางยาและเครื่องสำอาง

นายชาตรีกล่าวต่ออีกว่า โดยยุทธศาสตร์การบริหารจัดการลำไยภาคเหนือทั้งระบบอย่างยั่งยืน ได้กำหนดเพื่อดำเนินงานในปี 2558-2561 และจะดำเนินการในทุกระดับพื้นที่ของ 8 จังหวัดภาคเหนือ คาดว่าผลผลิตลำไยที่ออกมาจะมีคุณภาพ มีเสถียรภาพด้านราคา มีกลุ่มผู้ผลิตและกลุ่มเครือข่ายที่เข้มแข็ง มีตลาดรองรับที่แน่นอน ซึ่งจะส่งผลให้เกษตรกรผู้ผลิตได้รับผลตอบแทนที่ดีและยั่งยืน ซึ่งในช่วง 2 ปีที่ผ่านมาทางสำนักงานส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 6 จังหวัดเชียงใหม่ ได้ดำเนินการในพื้นที่นำร่องไปบ้างแล้ว ซึ่งส่งผลให้ราคาลำไยดีขึ้นเพราะเกษตรกรให้ความสำคัญในการทำลำไยคุณภาพทั้งใน และนอกฤดู
กำลังโหลดความคิดเห็น