xs
xsm
sm
md
lg

ยึดแม่แจ่มนำร่องทำพลังงานชีวมวลแก้ปัญหาหมอกควัน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


ศูนย์ข่าวเชียงใหม่ - พลังงานจังหวัดเชียงใหม่ผลักดันโครงการเชื้อเพลิงชีวมวลจากข้าวโพดนำร่องอำเภอแม่แจ่มเป็นที่แรก ด้านกลุ่มตัวแทนสหกรณ์สนับสนุนให้จัดตั้งโครงการพร้อมขอตั้งราคาจำหน่ายเอง

วันนี้ (13 ส.ค.) ที่โรงแรมเชียงใหม่แกรนด์วิว นายธีรศักดิ์ จรัสศรีวิสิษฐ์ รักษาราชการแทนพลังงานจังหวัดเชียงใหม่ กล่าวถึงโครงการศึกษาความเป็นไปได้ในการลดปัญหาหมอกควันจากการเผาไหม้วัสดุเหลือทิ้งทางการเกษตรในพื้นที่ภาคเหนือด้วยการแปรรูปเป็นพลังงาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเศษวัสดุเหลือทิ้งจากการปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ซึ่งจากข้อมูลการเพาะปลูกของสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร พบว่าพื้นที่ภาคเหนือมีการเพาะปลูกข้าวโพดเพิ่มขึ้นต่อเนื่องทุกปี

นายธีรศักดิ์กล่าวว่า อย่างไรก็ตาม นอกเหนือจากผลผลิตที่ได้ยังมีสิ่งที่เหลือทิ้งจากการปลูกข้าวโพดที่เกิดขึ้น โดยแบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือ 1. ต้น, ตอ และใบ ที่เหลือทิ้งไว้อยู่ในไร่ข้าวโพดและไม่มีการเก็บออกจากไร่ซึ่งกระจายไปตามพื้นที่ปลูกต่างๆ และ 2. ซัง, เปลือก ที่เหลือทิ้งเป็นจุดๆ จากการสีข้าวโพดในบริเวณจุดรวบรวมข้าวโพดในพื้นที่อำเภอแม่แจ่ม จังหวัดเชียงใหม่ โดยสิ่งเหลือทิ้งเหล่านี้ส่วนใหญ่นำมาเผาทำให้เกิดปัญหาหมอกควันตามมา

ผศ.ดร.ชัชวาลย์ ชัยชนะ หัวหน้าศูนย์วิจัยและเทคโนโลยีพลังงานเพื่อสิ่งแวดล้อม คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวว่า ที่เลือกพื้นที่อำเภอแม่แจ่ม เพราะเป็นพื้นที่ปลูกข้าวโพดเป็นจำนวนมาก แต่ไม่ได้หมายความว่าปัญหาหมอกควันที่เกิดขึ้นมาจากการเผาตอซังข้าวโพดจากอำเภอแม่แจ่มแต่อย่างได แต่อยากจะให้มองว่าเศษวัสดุที่เหลือทิ้งจากข้าวโพดเป็นส่วนหนึ่งที่สามารถนำมาใช้ประโยชน์ในการเปลี่ยนเป็นพลังงานชีวมวลได้

จากตัวเลขเมื่อปี 2557 พบว่า ในพื้นที่ตำบลช่างเคิ่ง, ตำบลท่าผา และตำบลกองแขก อำเภอแม่แจ่ม มีวัสดุเหลือทิ้งจากข้าวโพดทั้งหมด 9 หมื่นตัน และยังมีต้นข้าวโพดที่อยู่ในไร่ที่ไม่ได้นำออกมาอีก 140,000 ตัน ซึ่งหากเรานำเศษวัสดุเหลือทิ้งพวกนี้ไปพัฒนาให้เกิดคุณค่าและสร้างรายได้กลับคืนมายังชุมชนหรือกลุ่มเกษตรกรที่ปลูกข้าวโพดก็จะส่งผลให้กลุ่มคนเหล่านั้นมีคุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น

ผศ.ดร.ชัชวาลย์กล่าวอีกว่า การแปรรูปวัสดุเหลือใช้จากการปลูกข้าวโพดที่เหมาะสมนั้น คือการทำเป็นเชื้อเพลิงชีวมวลอัดเม็ดหรือเชื้อเพลิงอัดแท่ง ซึ่งเป็นเชื้อเพลิงที่ทำจากไม้หรือเศษวัสดุที่เหลือใช้ทางการเกษตร โดยจะผ่านกระบวนการหลักๆ เช่น การสับหยาบ, สับละเอียด และอัดขึ้นรูป

“โดยการใช้ประโยชน์หลักๆ จะใช้เป็นเชื้อเพลิงสำหรับหม้อต้มไอน้ำ ในอุตสาหกรรมหรือการเผาไหม้โดยตรงเพื่อเอาก๊าซความร้อนที่ได้ไปใช้ในกระบวนการผลิต เช่น การอบแห้งเมล็ดข้าวโพด, โรงอบลำไย, โรงบ่มใบยาสูบ”

เนื่องจากเชื้อเพลิงอัดแท่งมีรูปร่าง, ขนาดที่เหมาะสม ซึ่งเราสามารถควบคุมปริมาณในการใช้ได้ง่าย และมีขี้เถ้าหลงเหลือจากการเผาไหม้เพียง 3% และยังให้ค่าความร้อน 4,000-5,000 kcal/kg ซึ่งถือว่าให้ความร้อนสูงกว่าเชื้อเพลิงชนิดอื่นๆ

“ในประเทศไทยมีการเผาไหม้เชื้อเพลิงจากชีวมวลอยู่แล้ว เช่น แกลบ, ฟางข้าว และซังข้าวโพด แต่การพัฒนาหรือการเปลี่ยนระบบการเผาไหม้ให้สามารถใช้ชีวมวลอัดเม็ดแทนการใช้น้ำมันเชื้อเพลิงมากขึ้น นอกจากจะช่วยลดค่าใช้จ่ายด้านเชื้อเพลิงแล้วยังเป็นการสนับสนุนการใช้พลังงานทดแทนอีกด้วย” ผศ.ดร.ชัชวาลย์กล่าวทิ้งท้าย

อย่างไรก็ตาม ในส่วนของกลุ่มสหกรณ์ที่เข้าร่วมในการสัมมนาครั้งนี้ได้แสดงความคิดเห็นว่า อยากให้ภาครัฐลงมาทำโครงการนี้ให้เกิดผลอย่างจริงจัง และสนับสนุนให้มีการนำเศษวัสดุต่างๆ มาผลิตเป็นเชื้อเพลิง เพราะเป็นการลดต้นทุนในการผลิตที่ทุกวันนี้เชื้อเพลิงที่ใช้ส่วนมากจะเป็นการใช้ก๊าซ LPG และน้ำมันเตา ซึ่งมีค่าใช้จ่ายสูง หากมีการผลิตชีวมวลอัดแท่งออกมาจำหน่ายก็จะทำให้ลดต้นทุนในส่วนเชื้อเพลิงไปได้มาก และกลุ่มสหกรณ์ขอสนับสนุนโครงการดังกล่าวเพื่อให้เกิดความยั่งยืน แต่ชาวบ้านในพื้นที่จะต้องมีส่วนร่วมในการบริหารการจัดการ โดยเฉพาะการตั้งราคาจำหน่ายที่เหมาะสมเพื่อช่วยเหลือกลุ่มเกษตรกรที่จะนำเชื้อเพลิงดังกล่าวไปใช้




กำลังโหลดความคิดเห็น