xs
xsm
sm
md
lg

ภาคประชาคมเชียงใหม่-สมาคมผู้ผลิตอาหารสัตว์ไทยร่วมระดมสมองวางแผนแก้หมอกควัน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


ศูนย์ข่าวเชียงใหม่ - ผู้ว่าฯ เชียงใหม่นำประชุมร่วมภาคประชาคมเชียงใหม่-สมาคมผู้ผลิตอาหารสัตว์ไทย ระดมสมองกำหนดมาตรการและแนวทางป้องกันแก้ไขปัญหาหมอกควันล่วงหน้าข้ามปี ย้ำชัดต้องปฏิบัติได้อย่างจริงจังต่อเนื่องจนเห็นผล ด้านนายกสมาคมผู้ผลิตอาหารสัตว์ไทยระบุพร้อมร่วมมือเต็มที่ เสนอให้กรมวิชาการเกษตรกำหนดลงในมาตรฐาน GAP บังคับห้ามมีการเผาในกระบวนการผลิต หากฝ่าฝืนจะถูกปฏิเสธรับซื้อผลผลิต เชื่อเห็นผลชัดเจนภายใน 3-5 ปี

วันนี้ (18 พ.ค. 58) ที่ห้องประชุมฝ้ายคำ สำนักบริการวิชาการ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ นายสุริยะ ประสาทบัณฑิตย์ ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ เป็นประธานเปิดการประชุมร่วมภาคประชาคมเชียงใหม่ สมาคมผู้ผลิตอาหารสัตว์ไทย โดยมีตัวแทนหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และสถาบันการศึกษาในจังหวัดเชียงใหม่ เช่น สำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดเชียงใหม่, หอการค้าจังหวัดเชียงใหม่, สมาคมธุรกิจท่องเที่ยวเชียงใหม่, นักวิชาการมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และภาคประชาชน เป็นต้น ประชุมหารือแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับตัวแทนจากสมาคมผู้ผลิตอาหารสัตว์ไทย เพื่อระดมความคิดเห็นและกำหนดเป็นแนวทางในการป้องกันแก้ไขปัญหาหมอกควันในอนาคต เนื่องจากที่ผ่านมามีการระบุว่าการเผาเศษวัสดุการเกษตรหลังการเก็บเกี่ยว โดยเฉพาะตอซังข้าวโพด เป็นสาเหตุสำคัญของปัญหา

ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่กล่าวว่า การประชุมครั้งนี้จะเป็นจุดเริ่มต้นในการระดมทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องเข้ามาพูดคุยหารือกันและแลกเปลี่ยนข้อมูลในทุกด้านจากทุกฝ่าย ทั้งข้อมูลด้านวิชาการจากงานวิจัย รวมทั้งประเด็นปัญหาอุปสรรคและสภาพปัญหาที่เกิดขึ้นจริง เพื่อสรุปรวบรวมแล้ววางมาตรการแนวทางในการดำเนินการป้องกันแก้ไขปัญหาที่ชัดเจนในการปฏิบัติ ทั้งการสั่งการมอบหมายงานให้มีการปฏิบัติจริงในพื้นที่และมีการติดตามประเมินผลอย่างต่อเนื่องจริงจังให้เห็นผลชัดเจน โดยที่จะมีการจัดหางบประมาณสนับสนุนด้วย ซึ่งหลังจากนี้จะมีการจัดประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อกำหนดแผนงานและเริ่มดำเนินการโดยเร็วที่สุด

สำหรับกรณีอำเภอแม่แจ่ม จังหวัดเชียงใหม่ ที่ถูกระบุว่าเป็นพื้นที่ปลูกข้าวโพดแหล่งใหญ่และมีการเผาซังข้าวโพดจำนวนมหาศาล ซึ่งเป็นต้นเหตุสำคัญของปัญหาหมอกควันนั้น เบื้องต้นกำหนดแนวทางว่าทุกฝ่ายจะมีการหาทางออกร่วมกันด้วยการปลูกข้าวโพดโดยที่ไม่มีการเผา แต่จะนำเศษวัสดุเหลือใช้ไปเป็นวัตถุดิบในการผลิตภาชนะจากเศษวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรซึ่งมีผู้ผลิตอยู่แล้ว

รวมทั้งจะมีการนำไปใช้ผลิตปุ๋ยอินทรีย์ ซึ่งจะมีการสนับสนุนองค์ความรู้ เครื่องมืออุปกรณ์ และงบประมาณ ให้อย่างเต็มที่ นอกจากนี้จะมีการวางแผนในเรื่องการชิงเผาด้วยการกำหนดโซนนิ่งและช่วงเวลาด้วย โดยอาศัยบทเรียนจากปีที่ผ่านๆ มา ซึ่งยอมรับว่าในช่วงแรกอาจจะไม่เห็นผลมากเท่าใด แต่เชื่อว่าจะดีขึ้นเรื่อยๆ

ขณะที่นายพรศิลป์ พัชรินทร์ตนะกุล นายกสมาคมผู้ผลิตอาหารสัตว์ไทย กล่าวว่า ในฐานะที่ต้องตกเป็นจำเลยในเรื่องนี้ พร้อมที่จะให้ความร่วมมืออย่างเต็มที่ทุกด้านเพื่อไม่ให้มีการเผาเกิดขึ้นในกระบวนการปลูกข้าวโพดของ 9 จังหวัดภาคเหนือตอนบน เพื่อส่งต่อนำไปผลิตอาหารสัตว์ อย่างไรก็ตาม ต้องยอมรับว่าการปลูกข้าวโพดไม่ได้เป็นต้นเหตุของปัญหาแต่เพียงอย่างเดียว แต่ยังมีสาเหตุอื่นๆ ที่สำคัญและมิติอื่นอีกด้วยที่จะต้องทำควบคู่กันไป

ทั้งนี้ เสนอว่าควรจะมีการกำหนดเป็นข้อบังคับของกรมวิชาการเกษตรไปเลยในเรื่องของมาตรฐาน GAP หรือการผลิตพืชตามระบบเกษตรดีที่เหมาะสมว่า ห้ามมีการเผาในกระบวนการผลิต ซึ่งจะเป็นการบังคับเกษตรกรไม่ให้เผาทันที หากต้องการที่จะขายผลผลิตให้ได้ โดยจะเป็นมาตรการที่มีผลต่อทั้งเกษตรกรในประเทศและประเทศเพื่อนบ้านด้วยหากต้องการจะขายผลผลิตให้สมาคมฯ ซึ่งเชื่อว่าหากมีการบังคับใช้จริงจะเห็นผลภายใน 3-5 ปี



กำลังโหลดความคิดเห็น