xs
xsm
sm
md
lg

ฝุ่นควันคลุมเชียงใหม่ทำคนเป็นภูมิแพ้เพิ่ม-เสี่ยงถึงทารกในครรภ์

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


ศูนย์ข่าวเชียงใหม่ - มหาวิทยาลัยเชียงใหม่เปิดโต๊ะเสวนา “รวมพลัง ร่วมพิชิตวิกฤตหมอกควัน” พบฝุ่นละอองทำผู้ป่วยทางเดินหายใจเป็นภูมิแพ้เพิ่ม-เสี่ยงกระทบพันธุกรรมทารกในครรภ์ ด้านตัวแทนคนแม่แจ่มพูดชัดกฎหมายดีแค่ไหนก็ไร้ประโยชน์ บอกพอมีปัญหาเรียกประชุมถี่ยิบ แต่เมื่อฝนมาลืมกันหมด ชี้ห้ามเผา โดยไม่พัฒนาคุณภาพชีวิต “ลำบาก”

วันนี้ (17 มี.ค.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ได้จัดเสวนาเรื่อง “รวมพลัง ร่วมพิชิตวิกฤติหมอกควัน” โดยมีผู้แทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมอย่างคับคั่ง หลังจากเชียงใหม่ต้องประสบปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็กกว่า 10 ไมครอนในอากาศสูงเกินค่ามาตรฐาน 120 ไมโครกรัม/ลบ.ม. ต่อเนื่องกว่า 2 สัปดาห์

นายจงคล้าย วรพงษธร ผู้อำนวยการสำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จังหวัดเชียงใหม่ กล่าวว่า จากสถิติย้อนหลัง 5 ปีจะพบว่าช่วงเดือนมีนาคม-เมษายน จะเป็นเดือนที่ปัญหาหมอกควันหนักสุด

โดยขณะนี้อำเภอที่เกิดจุด Hotspot มากที่สุดคือ แม่แจ่ม, เชียงดาว, อมก๋อย ตามลำดับ ซึ่งเป็นพื้นที่ป่าเต็งรังที่มีการเผาป่าเพื่อทำการเกษตรเป็นจำนวนมาก และปัญหาอีกส่วนหนึ่งมาจากลมที่พัดพาหมอกควันจากประเทศเพื่อนบ้านเข้ามาในพื้นที่

ซึ่งเมื่อวันที่ 16 มีนาคม 2558 ได้มีการผนึกกำลังของเจ้าหน้าที่อุทยานฯ ป่าไม้, เจ้าหน้าที่ทหาร เข้าตรวจสอบและใช้มาตรการทางกฎหมาย สามารถจับกุมดำเนินคดีผู้ที่ก่อเหตุเผาในพื้นที่อำเภอฮอด เชียงดาว แม่ออน และแม่แจ่ม ได้รวม 5 ราย

และขณะนี้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมยังได้สนับสนุนกำลังชุดปฏิบัติการไฟป่าจากภาคอีสาน และภาคใต้ เข้ามาช่วยในการดับไฟป่าอีก 400 ราย โดยจะกระจายลงพื้นที่ 9 จังหวัดภาคเหนือแล้ว
 
ด้านนายชุติเดช มณีจันทร์ นายอำเภออมก๋อย จ.เชียงใหม่ บอกว่า อ.อมก๋อยมีพื้นที่ 1,300,000 ไร่ มีประชากรอยู่ 60,000 คน ที่ผ่านมามีจุด Hotspot อยู่ประมาณ 100 จุด เมื่อเทียบกับพื้นที่อื่นถือว่ามีการเผามาก ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นการเผาเพื่อทำการเกษตร และที่อยู่อาศัย เพราะชาวบ้าน อ.อมก๋อยทำการเกษตรแบบไร่เลื่อนลอย แต่ละรายจะเตรียมพื้นที่ไว้ 5-7 แปลง หมุนเวียนปลูกพืชต่างๆ เช่น พริก, มะเขือ, กะหล่ำปลี, ฟักทอง ฯลฯ

“ที่จริงแล้วถ้าทางราชการส่งเสริมให้ชาวบ้าน และชาวกะเหรี่ยงทำนาขั้นบันไดตามแนวทางเศรษฐกิจพอเพียงก็จะอยู่บนพื้นฐานในการดำรงชีวิตที่ไม่ต้องเบียดเบียนป่าไม้ และไม่ต้องเข้าไปหาพื้นที่ในการเพาะปลูกอีกต่อไปได้”

ขณะที่นายสันติชาติ ยิ่งสิ้นสุวัฒน์ นายกองค์การบริหารส่วนตำบลแม่ศึก อ.แม่แจ่ม บอกว่า ปัญหาส่วนใหญ่ในพื้นที่คือ เมื่อมีการเกิดไฟป่าหน่วยงานต่างๆ ก็เรียกกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน และหน่วยงานในพื้นที่มาประชุม มาเร่งรัดและตรวจสอบ แต่พอถึงฤดูฝนก็ลืมเรื่องนี้กันไปเลย ไม่มีการแก้ปัญหากันอย่างต่อเนื่อง

นายสันติชาติบอกว่า การแก้ปัญหานั้นต้องทำโครงการพิเศษที่เข้ามาช่วยลดหมอกควันโดยเฉพาะ เพราะเป็นเรื่องการพัฒนาคุณภาพชีวิต หากอาชีพไม่เหมาะสมก็ไร้ประโยชน์ การประชาสัมพันธ์ในเรื่องของการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ ดิน น้ำ ป่า ต้องมีการเผยแพร่ทำเป็นกระบวนการที่ชัดเจน โดยมีการร่วมมือทั้งนักวิชาการ และชาวบ้านในพื้นที่

“ไม่ว่าคุณจะใช้กฎหมายดีแค่ไหน แต่ถ้าไม่มีจิตสำนึกก็ไม่มีผล อีกทั้งพอมีการเผาไร่จริง ก็ไม่มีหน่วยงานไหนมาให้ความรู้แก่ชาวบ้านเรื่องการดูแลทรัพยากรธรรมชาติ หรือผลกระทบเมื่อเผาป่า”

นายสันติชาติบอกว่า การแก้ไขปัญหาหมอกควันต้องทำกันเป็นทีม เหมือนกับการเล่นฟุตบอล มีกองหน้าในการเข้าพื้นที่ในการดับไฟ กองกลางส่งกำลังบำรุงให้กองหน้าที่เข้าไปยังจุดเกิดเหตุไฟป่า กองหลังคือหน่วยงานทางราชการที่เกี่ยวข้องกับงบประมาณที่จะต้องมีอุปกรณ์ในการดับไฟ ทุกตำแหน่งทุกคนต้องทำหน้าที่และต้องทำงานกันเป็นทีมถึงจะประสบความสำเร็จ ซึ่งในสถานที่จริงไม่ได้ง่ายเหมือนที่นักวิชาการเข้าใจ พื้นที่เป็นป่าเขา ยากลำบากในการเข้าถึงจุดที่เกิดเหตุเพลิงไหม้

ขณะที่ รศ.นพ.ชายชาญ โพธิรัตน์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้กล่าวเพิ่มเติมว่า ขณะนี้คนเชียงใหม่ได้สูดดมมลพิษเกินค่ามาตรฐาน ซึ่งหากเด็กทารก หรือผู้สูงอายุสูดดมเข้าไปอาจจะเกิดปัญหาทางเดินหายใจ หรืออาจมีผลเรื่องปอด และอวัยวะภายในมากยิ่งขึ้น

สำหรับผู้หญิงที่ตั้งท้องอาจจะเสี่ยงส่งผลกระทบต่อพันธุกรรมของเด็กในครรภ์ได้ และระบบในอวัยวะปอด เส้นเลือด หัวใจ อาจจะทำงานได้ไม่เต็มที่ ผลกระทบเฉียบพลันนั้นจะมีมากยิ่งขึ้น ค่าของมลพิษที่เพิ่มขึ้นในแต่ละวันอาจจะทำให้มีผลต่อการติดเชื้อในทางเดินหายใจ หรือไซนัสอักเสบด้วย

ล่าสุดขณะนี้พบว่าผู้ป่วยด้วยโรคทางเดินหายใจที่เข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลสวนดอกในปีนี้เป็นโรคภูมิแพ้เพิ่มขึ้นเป็น 42% แล้ว จากเดิมอยู่ในระดับ 38% นอกจากนี้ยังมีผู้ป่วยโรคหลอดเลือดหัวใจตีบ โรคมะเร็ง ความดันสูง ซึ่งโรคทั้งหมดนี้เกิดจากการสะสมฝุ่นละอองที่เข้าไปอยู่ในร่างกายมากเกินไป จึงอยากจะฝากบอกถึงคนเชียงใหม่ที่อยู่ภายนอกอาคารให้ระมัดระวังในการสูดดมอากาศโดยตรง และหาเครื่องป้องกันเพื่อลดการสูดดมมลพิษเข้าสู่ร่างกาย

รศ.นพ.ชายชาญ โพธิรัตน์ คณะแพทย์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่


กำลังโหลดความคิดเห็น