กาญจนบุรี - ชาวอำเภอท่าม่วง กาญจนบุรี เตรียมจัดงานถนนสายวัฒนธรรม “ท่าม่วงบ้านฉันดีและงาม” ครั้งที่ 4 ระหว่าง 4-6 ก.ย.58 ที่ชุมชนริมน้ำท่าม่วง (ตลาดเก่าท่าม่วง) เทศบาลตำบลท่าม่วง เพื่ออนุรักษ์ประเพณี และวัฒธรรมอันทรงคุณค่า รวมถึงปลุกจิตสำนึกเยาวชนผู้สืบทอดรุ่นที่ 4 ที่จะช่วยกันรักษา และหวงแหนถิ่นเกิดซึ่งเปรียบเสมือนสมบัติอันมีค่าให้คงอยู่ต่อไป
เมื่อเวลา 09.30 น.วันนี้ (19 ส.ค.) ที่ศูนย์การศึกษาชุมชน บ้านปอเชียง ถ.ศรีท่าม่วง อ.ท่าม่วง จ.กาญจนบุรี นายจำรัส กังน้อย นายอำเภอท่าม่วง เป็นประธานแถลงข่าวงานถนนสายวัฒนธรรม “ท่าม่วงบ้านฉันดีและงาม” ครั้งที่ 4 ระหว่าง 4-6 ก.ย.58 ที่ชุมชนริมน้ำท่าม่วง (ตลาดเก่าท่าม่วง) เทศบาลตำบลท่าม่วง อ.ท่าม่วง จ.กาญจนบุรี โดยมี นายพิศิษฐ์ กาญจนภิญพงศ์ นายกเทศมนตรีเทศบาลตำบลท่าม่วง พล.ต.ต.กมลสันติ กลั่นบุศย์ ผบก.ภ.จว.กาญจนบุรี พ.ต.อ.อนันต์สิทธิ์ พร้อมสันติชน ผกก.สภ.ท่าม่วง นายปริญญา ชูแก้ว อาจารย์ประจำสาขาวิชาสถาปัตยกรรมและการวางแผน คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ภญ.นวรัตน์ สิโรตมรัตน์ ประธานชมรมคนรัก (ษ์) ตลาดเก่าท่าม่วง และชาวอำเภอท่าม่วง เข้าร่วม
นายพิศิษฐ์ กาญจนภิญพงศ์ นายกเทศมนตรีเทศบาลตำบลท่าม่วง กล่าวว่า ย่านการค้าเก่าในเขตเทศบาลตำบลท่าม่วง ตั้งอยู่ระหว่างแม่น้ำแม่กลอง และถนนแสงชูโต เป็นย่านการค้า และชุมชนที่อาศัยอยู่ดั้งเดิมที่มีประวัติความเป็นมาถึง 117 ปี โดยมีชื่อที่นิยมเรียกขานว่า “ตลาดนางลอย” หลังจากเกิดอัคคีภัยครั้งใหญ่เมื่อปี พ.ศ.2478 ได้มีการบูรณะฟื้นฟูบ้านเรือนขึ้นมาใหม่บริเวณตลาดนางลอยเดิม จึงถูกเรียกชื่อใหม่ว่า “ท่าม่วง” ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา โดยที่มาของชื่อไม่มีการบันทึกที่แน่ชัด
แต่มีการบอกเล่าต่อกันมาของผู้อยู่อาศัยในพื้นที่ว่า อาจเป็นเพราะพื้นที่มีการปลูกต้นมะม่วงเป็นจำนวนมาก และผลผลิตหลักอย่างหนึ่งของชุมชนคือ “ผลมะม่วง” คาดว่าชื่อเดิมที่ถูกเรียกคือ “ท่ามะม่วง” และภายหลังอาจมีการเรียกเพี้ยนไปคงเหลือเพียง “ท่าม่วง” กลุ่มคนที่ย้ายถิ่นฐานมาตั้งบ้านเรือนอยู่บริเวณนี้ในระยะแรก คือ ชาวจีนแต้จิ๋ว และชาวจีนแคะ ที่อพยพเข้ามาทำมาหากินในประเทศไทย
“ในระยะแรกของการตั้งถิ่นฐานนั้นบ้านเรือนเกือบทั้งหมดตั้งอยู่ริมแม่น้ำแม่กลอง การเดินทางค้าขายของผู้คนในอดีตจึงใช้เรือเป็นพาหนะหลัก โดยมีท่าเรือรับส่งสินค้า จำนวน 3 ท่าคือ ท่าบน ท่ากลาง และท่าล่าง ที่ใช้ในการรับส่งผู้โดยสาร และขนส่งซื้อขายสินค้าที่มาจากเมืองต่างๆ เช่น จากกรุงเทพฯ สมุทรสงคราม ฉะเชิงเทรา โดยใช้ลำน้ำแม่กลองในการใช้เส้นทางเดินเรือล่องผ่านอำเภอบ้านโป่ง จังหวัดราชบุรี”
นายกเทศมนตรีเทศบาลตำบลท่าม่วง กล่าวต่อว่า ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 พ.ศ.2482-2488 และหลังสงครามยุติ ชุมชนท่าม่วงแม้ว่าจะไม่ได้มีบทบาทในหน้าประวัติศาสตร์ในการเป็นสมรภูมิรบ แต่บริเวณนี้ได้ถูกนำมาใช้เป็นค่ายพักชั่วคราวสำหรับเชลยที่ถูกส่งต่อไปทำงานสร้างทางรถไฟข้ามไปยังประเทศพม่า และเป็นศูนย์ส่งเสบียงให้แก่กองทัพญี่ปุ่น ทำให้เกิดเรื่องราว และความประทับใจมากมายที่แสดงให้เห็นถึงความโอบอ้อมอารีของเจ้าบ้านที่มีต่อผู้มาเยือนทั้ง 2 ฝ่าย
หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ยุติลง วิถีความเป็นอยู่ของผุ้คน และขนาดของชุมชนท่าม่วงได้มีการเปลี่ยนแปลง และเจริญเติบโตอย่างมาก พร้อมกับความเจริญเชิงพาณิชย์ อย่างไรก็ตาม อัคคีภัย พ.ศ.2478 และอุทกภัย พ.ศ.2496 และการสร้างศูนย์กลางทางเศรษฐกิจแห่งใหม่ที่อยู่ใกล่กับทางหลวงหลังจากปี 2500 และการสร้างเขื่อนกลั้นลำน้ำแม่กลองในปี พ.ศ.2507 ได้มีผลกระทบต่อวิถีชีวิตไทยในอดีตที่บ้านเรือนตั้งอยู่ริมน้ำ มีความผูกพัน และอาศัยลำน้ำนั้นในการดำเนินชีวิต ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลง ย่านการค้าในเขตเทศบาลตำบลท่าม่วงเก่า ถือเป็นชุมชนที่มีความเจริญเติบโตด้านเศรษฐกิจ และสังคมให้ห้วงเวลาหนึ่ง
ในขณะที่หลักฐานทางประวัติศาสตร์สำคัญ โดยเฉพาะอาคาร และสิ่งปลูกสร้างที่มีคุณค่ายังคงอยู่เป็นจำนวนมาก ประกอบกับวิถีความเป็นอยู่ที่อยู่ร่วมกันอย่างสงบบนความต่างของเชื้อชาติ ศาสนา และความเชื่อ ได้กลายอัตลักษณ์ที่โดดเด่น และเป็นเสน่ห์ของชุมชนเล็กๆ แห่งนี้ ที่สร้างความประทับใจให้แก่ผู้มาเยือน ทั้งเป็นสถานที่ถ่ายทำภาพยนตร์ และละครหลายเรื่องที่สะท้อนบรรยากาศชุมชนที่อยู่อาศัยแบบดั้งเดิม เช่น คู่กรรม ถ่ายทำเมื่อ พ.ศ.2547 อันธพาล ถ่ายทำเมื่อ พ.ศ.2555 และภาพยนตร์เกาหลี Sunny ถ่ายทำเมื่อ พ.ศ.2547 อีกทั้งเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่ถูกแนะนำทางโทรทัศน์หลายรายการ
“สำหรับโจทย์ที่กำลังท้าทายลูกหลานชาวอำเภอท่าม่วง ณ ขณะนี้คือ การตั้งเป้าหมาย และการเดินหน้าหากลยุทธ์ในการนำต้นทุนที่ทรงคุณค่า จากความรุ่งเรืองในอดีตมาเป็นตัวช่วยให้ชุมชนเก่าแห่งนี้ได้รับการฟื้นฟู และสามารถต่อยอดให้เกิดความมั่นคง และยั่งยืน รวมถึงการปลุกจิตสำนึกของเยาวชนผู้สืบทอดรุ่นที่ 4 ที่จะช่วยกันรักษา และหวงแหนถิ่นเกิดซึ่งเปรียบเสมือนสมบัติอันมีค่าให้คงอยู่ต่อไป” นายกเทศมนตรีเทศบาลตำบลท่าม่วง กล่าว
จากประวัติความเป็นมาข้างต้น เทศบาลตำบลท่าม่วง ชมรมคนรัก (ษ์) ตลาดเก่าท่าม่วง และชาวตำบลท่าม่วง และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จึงร่วมกันจัดงานถนนสายวัฒนธรรม “ท่าม่วงบ้านฉันดีและงาม” ครั้งที่ 4 ขึ้นระหว่างวันที่ 4-6 ก.ย.58 นี้ ที่ชุมชนริมน้ำท่าม่วง (ตลาดเก่าท่าม่วง) เทศบาลตำบลท่าม่วง อ.ท่าม่วง จ.กาญจนบุรี