ศูนย์ข่าวเชียงใหม่ - จากภาวะการส่งออกที่ติดลบส่งผลให้โรงงานในนิคมอุตสาหกรรมภาคเหนือลำพูน ที่เน้นการส่งออกประสบปัญหาไม่มีคำสั่งซื้อ ออเดอร์หดหาย 4 โรงงานต้องนำมาตรา 75 มาใช้ บางแห่งให้พนักงานออกส่งผลกระทบเป็นลูกโซ่หอพักว่างมีประกาศขายไม่ต่ำกว่า 20 แห่ง ร้านค้าที่ให้เครดิตถูกเบี้ยวหนี้จำนวนมาก
รายงานข่าวจากจังหวัดลำพูนแจ้งว่า หลังจากโรงงานในนิคมอุตสาหกรรมภาคเหนือลำพูน 4 แห่งนำมาตรการลดจำนวนพนักงาน ลดวันทำงาน รวมถึงใช้มาตรา 75 ที่ให้จ่ายเงินเดือนพนักงานเพียง 75% และให้หยุดทำงานเป็นระยะเวลา 3 เดือนบ้าง 2 เดือนบ้าง บางแห่งลดวันทำงานจากเดิม 6 วันเหลือ 3 วัน บางแห่งให้พนักงานสมัครใจลาออกเอง บางแห่งเตรียมย้ายฐานการผลิตไปประเทศเพื่อนบ้าน
บริษัท โฮย่า กลาสดิสต์ (ประเทศไทย) ซึ่งผลิตแผ่นแก้วคุณภาพสูง และฮาร์ดดิสก์ของกลุ่มทุนจากประเทศญี่ปุ่น มีพนักงานรวม 4,400 คน เริ่มใช้มาตรา 75 ตั้งแต่วันที่ 25 พ.ค.-31 ก.ค. 58 ให้พนักงานฝ่ายผลิตหยุดงาน 400 คน โดยจ่ายค่าจ้าง 75%, บริษัท ทีเอสพีที, บริษัท เคอีซี และบริษัทลำพูนซิงเดนเก้นท์ เป็นต้น ส่วนโรงงานอื่นๆ ยังคงปกติ
สาเหตุเนื่องจากภาวะเศรษฐกิจโดยเฉพาะไม่มีคำสั่งซื้อจากต่างประเทศ รวมถึงโรงงานบางแห่งต้องยุบโรงงานในสายการผลิตเพราะไม่มียอดสั่งซื้อเลยอย่างโรงงานผลิตเลนส์กล้องถ่ายรูปได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงจากการมีโทรศัพท์แบบสมาร์ทโฟน
“ASTV ผู้จัดการออนไลน์” ได้ลงพื้นที่สอบถามพ่อค้าแม่ค้าถึงผลกระทบที่เกิดขึ้นพร้อมกับสำรวจบรรดาหอพักต่างๆ ที่อยู่รายล้อมนิคมอุตสาหกรรมฯ ซึ่งมีอยู่เป็นจำนวนมาก และส่วนใหญ่จะติดป้ายมีห้องว่างให้เช่า รวมทั้งบางแห่งถึงกับติดป้ายประกาศขายกันบ้างแล้ว
นางสุภาวดี สุวรรณวงศ์ เจ้าของร้านข้าวมันไก่คุณศุ ร้านตั้งอยู่บริเวณทางเข้า-ออกนิคมอุตสาหกรรมฯ เล่าว่า หนึ่งเดือนที่ผ่านมาหลังจากที่มีข่าวการลดจำนวนพนักงานของบริษัทต่างๆ ที่อยู่ภายในนิคมฯ ก็ทำให้พนักงานเริ่มหายหน้ากันไปหลายคน ลูกค้าขาประจำส่วนใหญ่ที่เป็นกลุ่มของคนโรงงานก็หายไปเยอะ
นางสุภาวดีเล่าต่อว่า เมื่อก่อนจะหุงข้าวโดยใช้หม้อขนาด 10 ลิตร 2 หม้อต่อวัน แต่ตอนนี้ต้องใช้หม้อหุงข้าวขนาดเล็กลง และเคยขายได้วันละ 2,500-3,000 บาท แต่เดี๋ยวนี้ขายได้วันละ 1,000 บาทก็ถือว่าเยอะแล้ว ในช่วงเวลาพักเที่ยงจากที่เคยมีคนมาต่อแถวรอกินข้าวจนไม่มีโต๊ะนั่ง แต่ตอนนี้ไม่มีภาพแบบนั้นอีกเลย
“ลูกค้าขาประจำที่เคยมากินตลอดหายไปหมดเลย เปิดร้านมา 10 ปีก็ไม่เคยพบเคยเจอเหตุการณ์แบบนี้มาก่อน”
ด้าน น.ส.ดวงเดือน ทานะแจ่ม เจ้าของร้านข้าวซอยและก๋วยเตี๋ยวใกล้เคียงกัน เล่าว่า ตอนนี้ยอดขายลดลงอย่างมากจากเคยขายได้วันละ 2,000 บาท ก็เหลือแค่วันละ 1,000 บาทเท่านั้น
เท่าที่มีการพูดคุยกันระหว่างพ่อค้าแม่ค้าด้วยกันต่างก็เจอสภาพแบบเดียวกัน โดยเฉพาะลูกค้าขาประจำที่เคยลงบัญชีไว้จะชำระให้ทุกสิ้นเดือน ตอนนี้พากันเบี้ยวหนี้ไปตามที่หอพักก็ย้ายออกกันไปหมดแล้ว ซึ่งแต่ละรายมีลูกหนี้ 3 คน บางรายเป็น 10 คนก็มี และแต่ละคนเป็นหนี้ที่ร้านรายละไม่ต่ำกว่า 1,000-2,000 บาท
เช่นเดียวกับนางนิชาภา อิ่นใจ เจ้าของร้าน อีสานซีฟู๊ด ที่ขายทั้งอาหารอีสาน, อาหารทะเล และอาหารตามสั่ง บอกว่า ตอนนี้ได้รับผลกระทบเป็นอย่างมาก เพราะตั้งแต่มีการปรับลดพนักงานออกมา ที่เคยมากินข้าวที่ร้านในช่วงพักเที่ยงและช่วงหลังเลิกงานหายกันไปเยอะยอดขายลดลง 30% จากที่เคยขายได้อย่างต่ำวันละ 10,000 บาท ทุกวันนี้กลับมีรายได้เพียงแค่ 6,000-7,000 บาทเท่านั้น
ตัวพนักงานเองก็เริ่มรัดเข็มขัดเรื่องค่าใช้จ่ายมากขึ้น จากเคยมากินข้าวตามร้านอาหารเฉลี่ยมื้อละ 100-200 บาท ก็เปลี่ยนไปซื้อของสดไปทำกินเองก็ช่วยประหยัดเงินไปได้ส่วนหนึ่ง
นางนิชาภาบอกต่อว่า ทางร้านก็ได้มีการปรับตัวเพื่อรับกับปัญหาที่เกิดขึ้นในช่วงที่ลูกค้าลดลง ทางร้านได้รับทำอาหารสำหรับจัดเลี้ยงเพื่อลูกค้าต้องการอาหารไปรับประทานในงานเลี้ยงสังสรรค์ต่างๆ ทางร้านเราก็ยินดีรับทำในราคาที่เป็นกันเอง
“เศรษฐกิจแบบนี้มันก็ต้องช่วยๆ กัน เราจะอยู่เฉยรอลูกค้าเข้ามาหาเพียงอย่างเดียวก็ไม่ได้ เราก็ต้องมีทางเลือกให้ลูกค้าเพิ่มมากขึ้นเพื่อจะหารายได้มาดูแลร้านต่อไป”
นอกจากร้านค้า-ร้านอาหารแล้ว ธุรกิจที่ได้รับผลกระทบไปด้วยอย่างหอพักต่างๆ ที่มีกลุ่มผู้พักส่วนใหญ่เป็นพนักงานตามโรงงานในนิคมฯ ต่างได้รับผลกระทบตามไปด้วย
นางซิม เกตุตเวศ ผู้ดูแลหอพักจันทร์ส่องโครงการ 1 ตั้งอยู่ในพื้นที่ ต.บ้านกลาง ซึ่งอยู่ใกล้กับนิคมอุตสาหกรรม เล่าว่า หอพักนี้มีจำนวนห้องพักทั้งหมด 78 ห้อง ราคาห้องพักอยู่ที่ 1,200 บาทต่อห้อง ค่าน้ำประปาคิดเป็นหัว หัวละ 20 บาท และค่าไฟฟ้าหน่วยละ 6 บาท
ลูกค้าส่วนใหญ่ก็จะเป็นกลุ่มทำงานโรงงานในนิคมฯ ทั้งหมด เท่าที่ผ่านมาก็มีย้ายออกไปบ้างแล้ว 5-6 ห้อง และสิ้นเดือนสิงหาคมนี้ก็จะมีย้ายออกอีก 10 ห้อง เท่าที่สอบถามคนที่ย้ายออกไป บางส่วนก็จะกลับไปอยู่ที่บ้านกลับไปทำไร่ทำสวน และบางส่วนก็ไปสมัครงานที่อื่น
“แต่ก็ยังมีลูกค้าบางคนที่แอบหนีออกไปตอนกลางดึก เพราะไม่มีเงินพอที่จะจ่ายค่าเช่าห้อง ซึ่งเราก็ไม่รู้จะตามไปเอาเรื่องยังไงก็เลยต้องปล่อยไป”
เช่นเดียวกับผู้ดูแลหอพักพิกุลเล่าว่า หอพิกุลมีห้องพักทั้งหมด 30 ห้อง ราคาค่าเช่าห้องอยู่ที่ 1,100 บาท ค่าน้ำคิดเป็นราคาเหมา เฉลี่ยคนละ 50 บาท ค่าไฟฟ้าคิดหน่วยละ 6 บาท คนที่มาเช่าส่วนใหญ่ก็จะเป็นกลุ่มหนุ่มสาวที่ทำงานอยู่ในนิคมฯ ทั้งหมด แต่ก็มีบางส่วนที่ทำอย่างรับจ้างทั่วไป และในช่วง 1 เดือนที่ผ่านมามีลูกค้าขอย้ายออกแล้วไม่ต่ำกว่า 10 ห้อง เนื่องจากโดนสั่งให้หยุดพักงานบ้าง และบางส่วนก็จะกลับไปอยู่บ้าน และสิ้นเดือนสิงหาคมนี้ก็จะย้ายออกอีกประมาณ 3 ห้อง
อนึ่ง หอพักที่ตั้งอยู่ในพื้นที่ ต.สันป่าฝ้าย ต.บ้านกลาง และ ต.มะเขือแจ้ ซึ่งเป็นบริเวณที่อยู่ใกล้กับนิคมอุตสาหกรรม และมีหอพักอยู่เป็นจำนวนมาก ขณะนี้พบว่าหอพักหลายแห่งมีการติดป้าย “ห้องว่างให้เช่า” เป็นจำนวนมาก และบางหอพักติดป้าย “ประกาศขาย” โดยเฉพาะมีการประกาศขายลงในเว็บไซต์ต่างๆ ไม่ต่ำกว่า 20 แห่งแล้ว